อัตตาทำให้ดื้อเงียบ สะกัดความก้าวหน้า

บทความโดย: โค้ชเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย
ภาพ: Ketut Subiyanto


ดื้อเงียบคืออะไร

คือการที่เราฟังความคิดเห็นของหัวหน้า แล้วเราไม่เห็นด้วย แต่เราไม่ได้แสดงความคิดเห็นของเราออกมาเพื่อที่จะร่วมกันหารือถึงความคิดที่เป็นไปได้ที่สุด

ดังนั้น เราอาจจะตกปากรับคำว่า “จะทำตามความคิดของหัวหน้า” โดยที่ในใจเราอาจจะคิดว่า

ก. รับปากไปก่อนว่าจะทำตามความคิดของหัวหน้าที่เราอาจจะไม่เห็นด้วยมากนัก โดยเราคงไปทำแบบขอไปที ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา ซึ่งหากเป็นงานที่ยากและซับซ้อน โอกาสที่เราจะทำ แบบมุ่งมั่นก็จะมีน้อย ดังนั้นผลสำเร็จของงานคงออกมาไม่ดีเท่าที่หัวหน้าคาดไว้

ข. รับปากไปก่อน แล้วไปทำตามแบบที่เราคิดว่าดีกว่า ซึ่งหากผลออกมาดีและหัวหน้าไม่รู้ว่าวิธีอะไรก็เสมอตัว แต่ว่าหากผลออกมาไม่ดีและหัวหน้าเจาะลึกลงไปจนทราบว่า “เราไปทำอีกแบบต่างจากที่หัวหน้าแนะนำไว้” เรา อาจจะถูกมองว่า “ไม่รับผิดชอบ เพราะสัญญาไว้แล้วไม่ทำตามสัญญา”

ดื้อเงียบเป็นเพราะอะไร

ก. หัวหน้ามีอัตตาสูง มักไม่รับฟังความคิดของลูกน้อง
ข. เรามีอัตตาต่ำ ไม่กล้าแสดงความคิดเพราะคิดว่า “กลัวหัวหน้าไม่ชอบ”
ค. ขาดทักษะ แม้ว่าหัวหน้าจะเป็นคนที่รับฟังเสมอ และเราก็อยากจะแสดงความคิด แต่เวลาพูดออกไปแล้ว สับสน คนมักจะจับประเด็นไม่ได้ว่าเรามีความคิดที่ดีอย่างไร เมื่อลองทำหลาย ๆ ครั้งแล้วไม่เวิร์คก็อาจจะเลือกที่ จะเงียบแทน

เราควรจัดการตัวเองอย่างไร

ก. หากหัวหน้าอัตตาสูงไม่รับฟังความคิดของลูกน้อง เราอาจจะต้องรอจังหวะที่จะขอเข้าไปหารือ ซึ่งอาจจะ เป็นการหารือนอกรอบการประชุมแบบเป็นทางการ ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะการคุยกันแบบตัวต่อตัว หรืออาจจะ ต้องหารือกับคนที่หัวหน้าไว้ใจแล้วขายความคิดเราให้เขาไปขายความคิดต่อ

ข. หาทางจัดการความคิดของตัวเอง อาจจะต้องปรึกษา Mentor / Coach / กัลยาณมิตร ในเรื่องระดับอัตตาที่ เหมาะสม

3. ฝึกฝนและพัฒนาทักษะ เรียบเรียงความคิดให้ชัดเจน พูดให้ชัดเจน ให้เข้าใจง่าย ในเวลาอันสั้น และหมั่น ซ้อมก่อนพูดเรื่องสำคัญ