อุตสาหกรรมการโค้ชผู้บริหาร

การเติบโตก้าวกระโดด

Coaching industry_greyscaled_gradiented
‘ก้าวกระโดด’
ภาพรวมอุตสาหกรรม
การโค้ชผู้บริหาร
การโค้ชผู้บริหารเป็นเครื่องมือใหม่ในการพัฒนาภาวะผู้นำ  ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย

ผมเริ่มทำงานโค้ชผู้บริหาร หรือ Executive Coach เป็นครั้งแรกในปี 2546 จนถึงตอนนี้ เรื่องนี้ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทย องค์กรชั้นนำหลายแห่งเริ่มใช้บริการนี้มากขึ้น ส่วนใหญ่ยังเป็นองค์กรขนาดใหญ่ของไทย และองค์กรข้ามชาติ

ทำไมการโค้ชจึงมีความสำคัญในตอนนี้

การโค้ชผู้บริหารในปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น  แต่ก็ยังเป็นเรื่องใหม่มากโดยเฉพาะในประเทศไทย  สำหรับในอเมริกาหรือยุโรปนั้น  มีการใช้บริการการโค้ชผู้บริหารมาเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา  และเพิ่งจะได้รับความนิยมใน 10-15 ปีนี่เอง

สาเหตุที่เพิ่งจะเริ่มมีการนำการโค้ชมาใช้ในองค์กรเมื่อไม่นานมานี้  เพราะกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก  หากเรามองย้อนอดีตไปในยุคเกษตรกรรม การโค้ชมีความจำเป็นน้อยเพราะรูปแบบของการทำงานนั้นเรียบง่ายและไม่ซับซ้อน  แต่เมื่อมาถึงยุคอุตสาหกรรมการทำงานก็มีรูปแบบที่เน้นขั้นตอนมากขึ้น  อุตสาหกรรมในยุคแรกๆ เป็นเรื่องของการผลิตจำนวนมากโดยใช้แรงงาน  การโค้ช มีเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ซับซ้อนมากนัก ยังคงเป็นลักษณะ ชี้แนะ บอก หรือที่เรียกว่า Directive มากกว่า

จนกระทั่งมาถึงยุคสารสนเทศ  คราวนี้คนทำงานก็กลายเป็น  Knowledge Worker หรือบุคลากรที่ใช้ความรู้ในการทำงานมากขึ้น   จากหนังสือ Quiet Leadership โดย David Rock ประมาณการว่า ใน พ.ศ. 2548  องค์กรโดยทั่วไปมีคนงานที่ใช้ความรู้ (Knowledge Worker)  อยู่ถึง 40% และหากเป็นผู้บริหารระดับกลางขึ้นไปแล้วก็ต้อง 100% กันเลยทีเดียว Knowledge Worker นี้ยังรวมถึงคนที่มีความรู้สูงขึ้น  เราสังเกตง่ายๆ ว่าความรู้สำคัญเพียงใด ได้จากระดับการศึกษาของคน  ในปัจจุบันนี้การจบการศึกษาระดับปริญญาโทแทบจะกลายเป็นความจำเป็นไปแล้ว

นอกจากนี้สังคมที่มีคนรุ่นใหม่ๆ เช่นคนใน Generation Y และ Generation Z มีอยู่ในองค์กรเป็นจำนวนมากและเป็นคนส่วนใหญ่ จึงทำให้การบริหารจัดการ Knowledge worker มีความจำเป็นต้องใช้การสร้างความสัมพันธ์และการโน้มน้าวมากยิ่งขึ้น  ปัจจัยเหล่านี้เองจึงเป็นที่มาของความสำคัญของการโค้ช ซึ่งมีมากขึ้นตามลำดับ

ประกอบกับการขยายตัวของธุรกิจในประเทศไทย  ทำให้ความต้องการผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ในขณะที่บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารนั้นกลับมีน้อย  ทำให้องค์กรจำนวนมากต้องแต่งตั้งผู้บริหารรุ่นใหม่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญ  ผู้บริหารรุ่นใหม่เหล่านี้มีความมุ่งมั่น  เฉลียวฉลาด  แต่ขาดประสบการณ์ในการบริหารงาน บริหารองค์กร  และที่สำคัญคือการบริหารคน  ดังนั้นการที่มีใครสักคนมาทำหน้าที่โค้ช เพื่อให้เขามีโอกาสประสบความสำเร็จในบทบาทของเขา ก็น่าจะเป็นการดี

รากศัพท์ของคำว่า coach  แปลว่ารถม้าขนาดใหญ่  มาจากภาษาฮังการี Kocs (ออกเสียงว่าโค้ช)  ในช่วงกลางศตวรรษที่สิบห้า  คำนี้ใช้กันแพร่หลายในยุโรป  ซึ่งแปลความหมายได้ว่าเป็นการเคลื่อนย้ายจากจุดเอไปจุดบี  ด้วยความไวที่สุดเท่าที่จะทำได้  ด้วยวิธีที่ดีที่สุด  ซึ่งสมเหตุสมผลในตอนนั้น  เนื่องจากถนนหนทางของยุโรปสมัยเมื่อห้าร้อยปีก่อนยังไม่สะดวกสบายอย่างในปัจจุบัน

ครั้นมาถึงกลางศตวรรษที่สิบเก้า  คำว่า Coach ในมหาวิทยาลัยออกฟอร์ดกลายเป็นคำแสลงที่มีความหมายว่า ติวเตอร์ หรือผู้ที่ช่วยให้นักศึกษาสอบผ่าน

ภาพรวมอุตสาหกรรมการโค้ช

ในปีค.ศ. 2009 มีการสำรวจในระดับโลกที่ชื่อ Executive Coaching World โดย William Pennington ในรายงานประเมินว่าทั่วโลกมีผู้ทำงานด้านการโค้ชผู้บริหาร หรือ Executive Coach อยู่ราว 29,000 คน โดยมีรายได้รวมกันประมาณ 2,000 ล้านเหรียญอเมริกัน

คุณอภิวุธ พิมลแสงสุริยา  ได้ให้สัมภาษณ์ในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับ 26 ธันวาคม 2555 ว่า

“การโค้ชในประเทศไทยเติบโตขึ้นมากโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเมื่อ 4-5 ที่แล้ว ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี หรือแม้แต่มาเลเซีย อัตราการเติบโตของการโค้ชผู้บริหารมีมากกว่า 30% ต่อปี สำหรับประเทศไทยธุรกิจการโค้ชเติบโตขึ้นหลายเท่าเมื่อเทียบกับ 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะตลาดยังเล็กอยู่

จากผลการสำรวจของ International Coach Federation อัตราส่วนของโค้ชในอเมริกามีประมาณ 40 โค้ช/ประชากร 1 ล้านคน ในยุโรปมีประมาณ 44 โค้ช/ประชากร 1 ล้านคน ส่วนในเอเซียมีเพียงแค่ 1 โค้ช/ประชากร 1 ล้านคน เราไม่มีตัวเลขของคนไทย แต่ถ้าให้ประมาณดูคร่าวๆ ผมคิดว่าในประเทศไทยมีคนที่ทำหน้าที่โค้ชอยู่ไม่เกิน 100 คนต่อประชากรประมาณเกือบ 70 ล้านคน

หากเทียบเป็นสัดส่วนก็ต้องถือว่าน้อยมากๆ นี่จึงเป็นคำตอบว่าเหตุใดอาชีพโค้ชจึงเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดปัจจุบัน

สำหรับเรื่องค่าตัวของโค้ชในประเทศไทย ค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของโค้ช ระดับของผู้บริหารที่ได้รับการโค้ชและประเด็นที่จะโค้ช ปกติค่าตัวโค้ชคิดเป็นชั่วโมง มีตั้งแต่ชั่วโมงละ 2-3 พันบาทไปจนถึงชั่วโมงและ 2-30,000 บาท”