โน้มน้าวเจ้านาย ทำอย่างไร

บทความโดย: โค้ชเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย
ภาพ: iStock

“คุณเกรียงศักดิ์ องค์กรของผมเพิ่งเปลี่ยนโครงสร้างได้ไม่นาน โครงสร้างใหม่แบบเมตริกทำให้ผมมีเจ้านายเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคน ผมทำงานร่วมกับเธอไม่ราบรื่นเลย ช่วยโค้ชผมให้ทราบวิธีการบริหารเจ้านายหน่อยครับ”

“คุณต้น ผมช่วยคุณไม่ได้หรอกครับ”

“เพราะอะไรครับ”

“เพราะเจ้านายต่างหากที่เป็นผู้บริหารคุณ ไม่ใช่ในทางกลับกันครับ”

“แล้วผมควรทำอย่างไรดี”

“คุณเคยบอกผมว่าคุณเข้ากันได้ดีกับนายคนก่อนๆ คุณทำอย่างไรครับ”

“ผมโน้มน้าวใจพวกเขา”

“แล้วทำไมคุณไม่โน้มน้าวใจเจ้านายใหม่ของคุณล่ะ”

“ผมยังไม่รู้จักเธอดีพอ  ผมจะเรียนรู้เกี่ยวกับเธอให้มากขึ้นได้อย่างไรครับ”

“จากหนังสือ Influence Without Authority โดย Allan R. Cohen และ David L. Bradford การโน้มน้าวเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน คุณนำสิ่งที่มีไปแลกกับผู้อื่น

ผู้เขียนแนะนำว่า ในการแลกเปลี่ยนนั้น คุณต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้อื่นสนใจ ใส่ใจอยากได้ และสิ่งของใดที่คุณมีใว้เพื่อแลกเปลี่ยน เขาเรียกสิ่งนี้ว่า “สกุลเงิน” สำหรับในที่ทำงานมีอย่างน้อย 5 สกุลเงินที่มีความสำคัญ คือ เกี่ยวกับแรงบันดาลใจ เกี่ยวกับเนื้องาน เกี่ยวกับตำแหน่ง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ และเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว

คุณควรอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อเรียนรู้ให้มากขึ้นเกี่ยวกับแนวความคิดเรื่อง สกุลเงิน

ผู้เขียนเองได้ให้ทิปส์ที่คุณสามารถนำไปใช้กับเจ้านายเอาใว้ด้วย

  1. ทำงานให้ได้ประสิทธิภาพสูงกว่าที่คาดหวัง เป็นวิธีดั้งเดิมที่ใช้ในการสร้างเครดิตให้แก่ตนเอง เป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐาน และมีความจำเป็น
  2. ทำให้เจ้านายไม่ต้องกังวลใจกับงานในส่วนที่เรารับผิดชอบ ให้ทราบแน่ชัดว่าเราจะส่งมอบงานตามแผน
  3. ทำให้เจ้านายทราบว่าเราตระหนักถึงเรื่องการเมืองต่างๆ ในที่ทำงาน
  4. เชื่อใจให้เราเป็นกระจกสะท้อนความคิด เป็นแหล่งรับข้อมูลจากส่วนงานอื่นๆ และเสียงจากลูกน้องในทีมด้วย
  5. คอยอัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ให้มีเรื่องใดที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน คนจำนวนมากบิดเบือนข้อมูลเพราะคิดว่าเจ้านายต้องการทราบเฉพาะเรื่องดีๆ เท่านั้น ทั้งที่ ในฐานะผู้จัดการ เจ้านายต้องการข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่ามีอะไรที่กำลังเกิดขึ้นภายในองค์กร ดังนั้นลูกน้องที่เป็นแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ รู้จักมองข้ามช็อตแล้วคาดการณ์ว่าอะไรที่อาจจะเกิดขึ้น แล้วบอกเตือนเจ้านายได้ก่อนนั้นจะเรียกได้ว่าเป็นลูกน้องที่มีคุณค่าและน่าใว้วางใจ
  6. เป็นตัวแทนของเจ้านายให้แก่ส่วนงานอื่นๆในองค์กรได้ ทำให้เจ้านายสามารถใช้เวลากับงานที่มีความสำคัญมากกว่าได้
  7. เป็นแหล่งความคิดสร้างสรรค์ และไอเดียต่างๆ
  8. ปกป้องและให้การสนับสนุนการตัดสินใจของเจ้านาย (และองค์กร) ต่อลูกน้องในทีมของเรา เพราะลูกน้องอาจตำหนิเจ้านาย หรือผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องยากๆ ทำให้ผู้จัดการรู้สึกขอบคุณถ้าลูกน้องโดยตรงจะช่วยขายแนวคิดนั้นให้กับทีมงาน แทนที่จะบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้านายโดยการทำเสมือนว่าการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ นั้นถูกสั่งการมาจากเบื้องบนเท่านั้น
  9. ให้การสนับสนุนและแรงบันดาลใจ ทำตัวเป็นทีมเดียวกันกับเจ้านาย ไม่ใช่เฉพาะการเป็นเจ้านายนั้นยิ่งสูงยิ่งหนาวเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายว่าทำไมพวกเขาจึงตัดสินใจในแต่ละเรื่องลงไป และการใช้อำนาจที่มีนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้อื่นได้  ดังนั้นผู้จัดการจึงเห็นคุณค่าความจงรักภักดี กำลังใจ และไม่คลางแคลงสงสัยของลูกน้อง แม้แต่เจ้านายที่ห้าวหาญ แข้มแข็งก็ยังต้องการมีผู้อื่นคอยยืนอยู่ข้างๆ ไม่ว่าจะมีเรื่องดีหรือร้ายเกิดขึ้น ถ้าคุณชื่นชมเจ้านายอย่างจริงใจการทำแบบนี้ก็เป็นเรื่องง่ายและทรงพลังอย่างมาก
  10. ริเริ่มความคิดสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ  ป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดขึ้น  ในยุคสมัยที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เจ้านายต้องการลูกน้องที่สามารถคิดริเริ่มมากว่ารอคำสั่งที่อาจมาช้าเกินไป  ความตั้งใจที่จะกระโดดเข้าไปแก้ปัญหานั้นมีค่าและมักได้รับการยอมรับ ชื่นชมอย่างเปิดเผย”

“ทิปส์เหล่านี้ดีมากๆเลยครับโค้ช แต่ผมไม่ชอบเจ้านายใหม่ ผมควรทำอย่างไรดี”

“คุณต้น  ทุกวันนี้คุณทำงานไปเพื่ออะไร”

“เพื่อทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้นครับ เป็นเป้าหมายในชีวิตของผมครับ”

“แล้วการที่คุณ ชอบ หรือ ไม่ชอบ เจ้านายของคุณเกี่ยวข้องกับเป้าหมายของคุณหรือไม่”

“ไม่เกี่ยวครับ  แต่โค้ช  ผมไปบ่นเรื่องเจ้านายใหม่ใว้กับทีมงาน ผมควรจะทำอย่างไรดีครับ”

“คุณคิดว่าอย่างไรครับ”

“ผมต้องกลับไปอธิบายกับพวกเขาว่าผมผิดเอง และผมต้องการที่จะทำงานร่วมกับเจ้านายคนใหม่”

“คุณเป็นคนกล้าหาญ และการทำตัวเป็นตัวอย่างก็เป็นเรื่องที่ดี  ไม่แปลกอะไรที่เราจะทำผิดพลาด ขอเพียงว่าเราเรียนรู้จากมันและไม่ทำผิดซ้ำอีก กล่าวขอโทษ แก้ไข และก้าวต่อไป”