ทำอย่างไรจึงจะเป็นคนทำงานใช้ความรู้ที่มีประสิทธิภาพได้

หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 มกราคม 2555 เสนอข่าวว่า รศ ดร สมพงษ์ จิตระดับ จากคณะวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยการวิจัยเรื่อง “เตรียมบุคลากรให้พร้อมสำหรับ AEC 2015” การศึกษากล่าวถึงความต้องการเรียนภาษาไทยที่เพิ่มมากขึ้นของชาวลาว พม่า และกัมพูชา

นัยก็คือการแข่งขันที่จะสูงขึ้นในตลาดแรงงานไทย ซึ่งเป็นสิ่งคุกคามต่อแรงงานชาวไทยเพราะแรงงานประเทศเพื่อนบ้านนั้นอาจจะพร้อมที่จะทำงานหนักกว่าเพื่อค่าตอบแทนที่น้อยกว่า

อีกกรณีหนึ่งคือ AEC 2015 จะทำให้คนทำงานที่ใช้ความรู้จากประเทศเพื่อนบ้านนั้นหลั่งใหลเข้ามาในประเทศพร้อมกับความได้เปรียบในการใช้ภาษาอังกฤษ

แล้วชาวไทยต้องปรับตัวอย่างไร

  1. “แรงงานไทย” ต้องพัฒนาฝีมือหรือผลักดันตนเองให้กลายเป็น “คนทำงานที่ใช้ความรู้”
  2. “คนทำงานที่ใช้ความรู้” ต้องพัฒนาตนเองให้เป็น “คนทำงานใช้ความรู้ที่มีประสิทธิภาพ”

นี่เป็นสิ่งที่ตรงกับในหนังสือ Management Challenges for the 21st Century โดย Peter Drucker กล่าวใว้ว่า “สินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดขององค์กรในศตวรรษที่ 20 คือ เครื่องมือการผลิต สินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดขององค์กรและสถาบันต่างๆในศตวรรษที่ 21 คือ คนทำงานใช้ความรู้และประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขา”

แล้วคนทำงานใช้ความรู้ที่มีประสิทธิภาพมีคุณลักษณะอย่างไร

Drucker ระบุ 6 ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของคนทำงานใช้ความรู้ คือ

  • คนทำงานใช้ความรู้ที่มีประสิทธิภาพจะพึงถามว่า “งานที่ต้องทำคืออะไร”
  • สามารถกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบต่อประสิทธิภาพการทำงานของตนเองได้ ต้องบริหารตนเอง และควบคุมตนเองได้
  • พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง
  • คนทำงานใช้ความรู้ต้องหาความรู้ใหม่ตลอดเวลา และถ่ายทอดความรู้นั้นต่อให้ผู้อื่นด้วย
  • ผลงานที่ได้จากคนทำงานใช้ความรู้นั้นเน้นให้เป็นงานที่มีคุณภาพ มากกว่าปริมาณ
  • คนทำงานใช้ความรู้นั้นได้รับการปฏิบัติด้วยในฐานะ “สินทรัพย์” มากกว่าที่จะเป็น “ต้นทุน” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนทำงานใช้ความรู้ต้องมีความผูกพันในการทำงานกับองค์กร  (Engagement) มาก

จากหกปัจจัยนี้ ผมเสนอแนะว่าคนทำงานใช้ความรู้ที่มีประสิทธิภาพนั้นควรจะต้องมีคุณสมบัติ คือ

  • ใช้วิจารณญาณและดุลยพินิจที่ดีในการดำเนินธุรกิจ
  • มีความรับผิดชอบในหน้าที่
  • มีความคิดสร้างสรรค์
  • ขวนขวายเรียนรู้
  • โค้ชผู้อื่นได้
  • สร้างผลงานที่มีคุณภาพสูง
  • มองเห็นและเข้าใจคุณค่าและความหมายของการทำงาน

การขวนขวายเรียนรู้ เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีหยิบยกมาหารือกัน เรามาวิเคราะห์เรื่องนี้กันใน 3 แง่มุมนะครับ

  1. อะไรคือหลักของการขวนขวายเรียนรู้
  2. เราจะวางแผนเพื่อเรียนรู้อย่างไร
  3. จะนำแผนนั้นมาดำเนินการได้อย่างไร

อะไรคือหลักของการขวนขวายเรียนรู้

คนทำงานใช้ความรู้ต้องทำความเข้าใจว่าการเรียนรู้นั้นเป็นหน้าที่ของตนเองไม่ใช่หน้าที่ขององค์กร เนื่องจากคนทำงานใช้ความรู้นั้นคือบุคคลที่รู้ดีที่สุดว่าตนเองทำงานอะไร มีความจำเป็นต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมเพื่อทำให้งานมีคุณภาพดีขึ้น วัตถุดิบที่คนทำงานใช้ความรู้ใช้คือตัวเลขหรือข้อมูลเป็นหลัก และประมวลผลโดยการใช้สมองคิด เพื่อให้ได้ผลออกมาเป็น  หลักการ  แนวคิด หรือแผนงาน กระบวนการที่เขาใช้  เป็นกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นในสมองของเขา ทำให้ผู้บังคับบัญชาอาจไม่สามารถเห็นเนื้องานที่ยังอยู่ในการบวนการได้มากนัก

กรณีศึกษา: ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดต้องคิดหาแคมเปญทางการตลาดใหม่ๆทุกปี สำหรับปีนี้เข้ารับรู้ถึงแนวโน้มของเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ตว่ามีกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่และน่าสนใจมาก แต่ว่าตัวเขาเองยังไม่เคยใช้เฟสบุ๊คเพื่อทำการตลาดมาก่อน ในกรณีนี้เขาจึงเป็นบุคคลที่สามารถระบุได้ว่าสิ่งที่เขาต้องการเรียนรู้นั้นคืออะไร ไม่ใช่ซีอีโอ หรือผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลที่จะสามารถกำหนดให้ได้

เราจะวางแผนเพื่อเรียนรู้อย่างไร

จากกรณีศึกษา เมื่อผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดตระหนักแล้วว่าการขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมนั้นเป็นความรับผิดชอบของตัวเขาเอง เขาจึงต้องริเริ่มด้วยตนเอง

การเรียนรู้ด้วยตนเองนั้นมีหลายทางเลือกด้วยกัน แต่ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจ โมเดล 70/20/10 ก่อน

70/20/10 เป็นแบบแผนการเรียนรู้และพัฒนาที่ได้รับการวิจัยโดย Michael M. Lombardo และ Robert W. Eichinger สำหรับ Center for Creative Leadership แบบแผนนี้อธิบายว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างไร

70% เกิดจากประสบการณ์จากการทำงาน และการคิดแก้ปัญหา

20% เกิดจากการได้รับข้อมูลย้อนกลับจากพี่เลี้ยง หรือโค้ช

10% ได้มาจากการเข้าฝึกอบรม หรือการอ่าน

ดังนั้นแผนการพัฒนาของเขาอาจจะมีลักษณะเช่นนี้  อ่าน เข้าสัมนา จ้างโค้ช และนำสิ่งที่ได้เรีนรู้ไปใช้จริง

จะนำแผนนั้นมาดำเนินการได้อย่างไร

เมื่อเขาได้วางแผนการเรียนรู้แล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการลงมือปฏิบัติ เขาถามจากคนรอบตัวที่รู้จักสมาคมการตลาดว่ามีหนังสือและการสัมนาใดบ้างที่เป็นประโยชน์เพื่ออ่านและเข้าร่วม เขาให้ลูกสาวช่วยเป็นโค้ชสอนเขาใช้เฟสบุ๊ก จากนั้นก็นำความรู้ทั้งหมดมาลองทำเป็นโปรเจคเล็กๆกับกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่แล้ว

บทสรุปก็คือ  คนงานฐานความรู้ต้องวางแผนและลงมือเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก

ถ้าคุณเป็นคนทำงานใช้ความรู้ อย่านั่งรอรับการฝึกอบรม หาแนวทางการพัฒนาเป็นของตนเอง อย่างที่ Ronald Gross กล่าวใว้ในหนังสือ Peak Learning ว่า “ยิ่งเรียนรู้มาก ก็ยิ่งมีรายรับมาก”