เรื่องที่ยังไม่เคยมีใครบอกเกี่ยวกับโค้ชผู้บริหาร

โค้ชผู้บริหารสี่ท่านร่วมกันเขียนหนังสือเล่มใหม่ ชื่อ “Untold Stories of Executive Coaching in Thailand”

หนังสือเล่มนี้ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับ – ทำไมการโค้ชผู้บริหารถึงได้รับการโหวตจากผู้บริหารฝ่ายบุคคลที่มากด้วยประสบการณ์ในประเทศไทย ให้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดการดึงศักยภาพของบุคลากรอย่างสูงสุด  การโค้ชผู้บริหารนั้นทำอย่างไรและจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ขององค์กรคุณได้อย่างไร  ไลฟ์โค้ชมีความเกี่ยวข้องกับการโค้ชผู้บริหารอย่างไร  เกิดอะไรขึ้นกับสมองของคุณเมื่อโค้ชตั้งคำถามกับคุณ  อะไรคือกับดักของการโค้ชผู้บริหารและอะไรคือส่วนประกอบที่ทำให้การโค้ชผู้บริหารประสบความสำเร็จ  และการเลือกโค้ชที่เหมาะสม

ก่อนที่ทั้งสี่ท่านจะเริ่มเขียนหนังสือร่วมกัน ได้ร่วมกันจัดตั้ง Thailand Coaching Society (TCS) ในปี 2553 โดยทำแบบสำรวจความคิดเห็นออนไลน์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของการโค้ชผู้บริหารในประเทศไทยกับผู้บริหารกว่า 140 ท่านจากหลากหลายองค์กร ไฮไลต์ของผลการสำรวจมีดังนี้ครับ

  1. 39% ของกลุ่มตัวอย่าง ใช้การโค้ชเพื่อพัฒนาคนเก่งผู้มีศักยภาพ โดยไม่เจาะจงไปในเรื่องผลการปฏิบัติงาน หรือเพื่อการแก้ไขพฤติกรรมใดๆ ซึ่งกรณีเหล่านี้ส่วนใหญ่องค์กรเป็นฝ่ายลงทุนในการจ้างโค้ช ส่วนหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่าง (33%) ใช้การโค้ชเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และอีก 28% เพื่อการพัฒนาผลการปฏิบัติงาน  การโค้ชในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่เคยมุ่งใช้การโค้ชสำหรับการแก้ปัญหา ในเรื่องพฤติกรรมของผู้บริหาร มาเป็นการมุ่งไปสู่การพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มคุณค่า ในตัวของผู้บริหาร
  2. ผู้ตอบแบบสอบถาม 82.6% ระบุว่าวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเพิ่มผลงานของ ผู้บริหาร คือ การฝึกงานโดยการปฏิบัติจริง และ 82.1% ให้ความเห็นว่า การโค้ชตัวต่อตัว สำหรับการฝึกอบรมและเข้าเรียนแบบเดิมนั้นได้ 55%
  3. 93% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เคยได้รับการโค้ชมาก่อน และผู้ที่ยังไม่เคยได้รับการโค้ชแต่มีคนรู้จักที่เคยได้รับการโค้ชระบุว่าจะใช้บริการการโค้ชแบบตัวต่อตัวอีกเมื่อมีโอกาส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความก้าวหน้าในธุรกิจการโค้ชนั้นเป็นที่ยอมรับอย่างสูงจากทั้งตัวผู้บริหารเองและบุคคลใกล้ชิดผู้บริหาร
  4. อุปสรรคที่สำคัญ 3 ประการเกี่ยวกับการโค้ช: ความกลัวการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารที่ได้รับการโค้ช  การที่โค้ชไม่มีประสบการณ์ ขาดการรับรองหรือแหล่งอ้างอิง และการขาดการสนับสนุนจากบุคคลใกล้ตัวในที่ทำงาน

เรามาเรียนรู้จากเรื่องราวของโค้ชแต่ละท่านกันนะครับ

โค้ชจิมมี่ คุณพจนารถ ซีบังเกิด พูดเกี่ยวกับ Life Coaching หรือการโค้ชเรื่องเกี่ยวกับชีวิตนั้น เป็นวิธีการและกระบวนการทำงานที่โค้ชช่วยให้ลูกค้าหรือผู้ได้รับการโค้ชสามารถระบุเป้าหมายด้านต่างๆ ในชีวิตได้ชัดเจน และเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างสำเร็จในเวลาที่รวดเร็วกว่าเดิม และด้วยประสบการณ์ที่เติมเต็มในความเป็นมนุษย์ ด้วยวิธีการและเทคนิคที่หลากหลายซึ่งโค้ชจะใช้ในการพาลูกค้าไปสู่จุดหมายที่ต้องการ ในบางครั้งเส้นทางเดินของผู้ได้รับการโค้ชอาจไม่ราบเรียบด้วยอุปสรรคต่างๆ ทางความคิด ความเชื่อ มุมมอง หรืออารมณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต โค้ชก็จะช่วยให้ผู้ได้รับการโค้ชสามารถก้าวผ่านไปได้ด้วยการตระหนักรู้ และเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งต่างๆ ด้วยตัวของตัวผู้ได้รับการโค้ชเองในทุกประเด็น มันเป็นเรื่องยากที่จะแยกการโค้ชผู้บริหารออกจากการโค้ชเรื่องเกี่ยวกับชีวิต โค้ชจิมมี่แชร์ให้ทราบว่าทัศนะคติที่โค้ชควรต้องมีคือ-

  1. เชื่อว่าทุกๆคนมีศักยภาพ
  2. เชื่อว่าทุกๆคนสามารถปลดปล่อยศักยภาพนั้นออกมาได้
  3. เชื่อว่าการโค้ชเป็นกระบวนการที่ช่วยให้โค้ชชี่ปลดปล่อยศักยภาพออกมาได้

โค้ชอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา พูดให้ฟังเกี่ยวกับเรื่อง การโค้ชตามสถานการณ์ สรุปสั้นๆก็คือ โค้ชที่ดีทราบว่าโค้ชชี่แต่ละท่านและแต่ละสถานการณ์นั้นต้องการสไตล์การโค้ชที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ โดยแบ่งโค้ชชี่ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. มีความพร้อมในระดับที่ 1 ไม่รู้ว่าตนเองควรต้องพัฒนา/ปรับเปลี่ยนในเรื่องอะไร รวมทั้งไม่มีแรงจูงใจหรือไม่มีความสนใจที่จะพัฒนาและปรับเปลี่ยนตนเอง
  2. มีความพร้อมในระดับที่ 2 มีแรงจูงใจและมีความตั้งใจที่จะได้รับการพัฒนา แต่อาจจะยังไม่ชัดเจนนักว่าต้องพัฒนาเรื่องอะไรหรือจะต้องพัฒนาเรื่องนั้นๆ อย่างไร
  3. มีความพร้อมในระดับที่ 3 รู้ดีว่าตนเองต้องพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนในเรื่องใด แต่ไม่มีแรงจูงใจหรือไม่คิดว่าตนเองจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนในเรื่องนั้นๆ
  4. มีความพร้อมในระดับที่ 4 ทราบว่าตนเองมีปัญหาเรื่องอะไรและทราบดีว่าต้องเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างไร รวมทั้งมีความตั้งใจ มุ่งมั่นอยากจะปรับปรุงตนเองด้วย

แนวทางการโค้ชคือ

  1. โค้ชเป็นผู้ให้ข้อมูล ให้แนวทาง ให้คำแนะนำ
  2. ร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหา
  3. ใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้ได้รับการโค้ชคิดหรือค้นหาคำตอบด้วยตนเอง
  4. โค้ชเท่าที่จำเป็น ตามที่ถูกร้องขอ หลังจากนั้นก็จะทำหน้าที่เฝ้าดูอยู่ห่างๆ และคอยให้ข้อมูลป้อนกลับที่เป็นประโยชน์

ถ้าโค้ชชี่มีความพร้อมในระดับที่ 1 โค้ชควรใช้แนวทางที่ โค้ชเป็นผู้ให้ข้อมูล ให้แนวทาง ให้คำแนะนำ

ถ้าโค้ชชี่มีความพร้อมในระดับที่ 2 โค้ชควรใช้แนวทางร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหา

ถ้าโค้ชชี่มีความพร้อมในระดับที่ 3 โค้ชควรใช้แนวทางการใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้ได้รับการโค้ชคิดหรือค้นหาคำตอบด้วยตนเอง

ถ้าโค้ชชี่มีความพร้อมในระดับที่ 4 โค้ชควรใช้แนวทางการโค้ชเท่าที่จำเป็นและเฝ้าดูอยู่ห่างๆ

โค้ชเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย มีจุดแข็งด้านการโค้ชโดยการใช้คำถาม โค้ชแชร์เรื่องราวจากหนังสือ Quiet Leadership ของเดวิด ร๊อค  ในปี ค.ศ.  2005  เดวิดได้ทุนสนับสนุนเพื่อศึกษาเกี่ยวกับสมองกับการโค้ช  ทำงานร่วมกับนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ โดยทำการทดลองให้คนเข้าไปนอนในเครื่องสแกนสมอง  MRI  แล้วให้ได้รับการโค้ช  เพื่อที่จะวัดปฏิกิริยาของสมองในช่วงก่อน  ระหว่าง  และหลังการโค้ช

การศึกษาพบว่าเมื่อโค้ชตั้งคำถาม สมองของผู้ที่กำลังได้รับการโค้ชจะต้องหยุดคิดเรื่องอื่นๆ  และเริ่มมองหาคำตอบ  ในช่วงที่เขาคิดคำตอบออกมาได้นั้น  สมองจะสร้างคลื่นแกมม่าออกมาอย่างเข้มข้น  เจ้าคลื่นแกมม่านี้ก็คือปฏิกิริยาเดียวกันกับที่อาร์คีมีดิส  นักวิทยาศาสตร์สมัยกรีกโบราณ  เกิดอาการยูเรก้าขึ้นเมื่อเขาค้นพบคำตอบเกี่ยวกับความถ่วงจำเพาะในขณะอาบน้ำ  จนวิ่งล่อนจ้อนไปกลางท้องถนนพร้อมกับตะโกนว่า  “ยูเรก้า” (Eureka!)  หรือ  “เราพบแล้ว”  นั่นเอง

คลื่นแกมม่านี้มีผลต่อการสร้างแผนที่ใหม่ในสมองของเรา เมื่อเรา “ปิ๊ง” หรือเกิดความคิด หรือปัญญาขึ้นมาในสมองของเรา เราได้สร้างแผนที่ขนาดใหญ่แผ่นใหม่  ซึ่งเชื่อมต่อแผนที่เดิมหลายๆแผ่นในสมองของเรา  ซึ่งมันได้สร้างพลังงานอย่างมากมายในสมอง  พลังงานนี้แหละที่ช่วยกระตุ้น  ทำให้กระตือรือร้น  และมีความสุขในการทำงาน

โค้ชชอง ฟรองซัว คูซ่า แชร์ประสบการณ์การต่างๆเกี่ยวกับโค้ชชิ่งใว้ว่า

อุปสรรคและยาดำที่ขัดขวางความสำเร็จในการโค้ช

  1. ผู้บริหารถูกกดดันให้ได้รับการโค้ช เสมือนหนึ่งถูกลงโทษ
  2. การขาดศรัทธาในการโค้ช เนื่องจากกฎกติกาของการโค้ชถูกละเมิดหรือละเลย
  3. ขาดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการโค้ช
  4. ขาดความเข้าใจและสนับสนุนจากผู้บริหารเบื้องบน
  5. โค้ชเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วนเท่านั้น
  6. โค้ชไม่สามารถเข้าถึงประเด็นที่แท้จริงในระดับลึกของผู้ได้รับการโค้ช

ลองมาดูอีก 6 ปัจจัยซึ่งถือได้ว่าเป็นสูตรแห่งความสำเร็จกันบ้าง

  1. ผู้ที่เกี่ยวข้องในการโค้ชต้องมีความเชื่อหลักที่เป็นพื้นฐาน 3 ประการ
  2. สูตรไตรภาคี
  3. กำหนดเส้นทางเดินให้ชัดเจนและอย่าลืมบอกทุกคนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ตกลงกันล่วงหน้าว่าจะวัดความคืบหน้ากันอย่างไร
  4. การเผชิญกับความเป็นจริงจากผลสำรวจความคิดเห็น
  5. ต้องให้เห็นผลโดยเร็ว
  6. เลือกโค้ชที่มีประสบการณ์และมีประวัติการทำงานที่น่าเชื่อถือ