CEO จะบริหารตนเองให้เก่งขึ้นอย่างไร

“โค้ชเกรียงศักดิ์  ผมอยากหารือเรื่องการบริหารตนเองให้เก่งขึ้นครับ”

“คุณสาธิต  เล่าให้ผมฟังหน่อยครับว่าการทำงานร่วมกับทีมงานของคุณมีลักษณะอย่างไร”

“ผมมีประชุมรายสัปดาห์กับทีมงานที่รายงานตรงผม 10 คน  มีประชุมรายสัปดาห์อีกสามคณะกรรมการย่อย  นอกจากนี้  ผมยังมีประชุมรายบุคคล 3-4 คนจาก 10 คนที่ขึ้นตรงกับผมครับ”

“คุณสาธิต  ประเมินตนเองว่าสื่อสารได้ดีเพียงใดครับ  ในสามทักษะต่อไปนี้คือ  พูด  ฟัง  และถาม  ถ้าจะให้คะแนนตนเองจากเกณฑ์ 1-10 ในแต่ละตัวครับ”

“โค้ช  ผมคิดว่าพูดทำได้ 8/10 ฟัง 6/10 ถาม 6/10”

“เรื่องไหนที่อยากหารือกันในวันนี้ครับ”

“โค้ช  เรื่องการฟังครับ  ผมอยากขยับไปให้ถึงที่คะแนน 8 ครับ”

“คุณสาธิต  คิดว่าหากได้ 8 จะมองเห็นตัวเองเป็นอย่างไรครับ”

“โค้ชครับ  ผมปรารถนาจะเห็นตัวเองว่า ตั้งใจฟังคนในระหว่างที่เขาสนทนา  พยักหน้าแสดงการรับรู้เป็นระยะ ๆ เมื่อคู่สนทนาพูดจบห้วงความคิดแต่ละครั้ง  ไม่พูดสอดแทรกเลย

ทำให้คู่สนทนาพูดอย่างสบายใจ  ไม่มีอาการตื่นเต้น  เป็นตัวของตัวเอง  และสามารถที่จะถ่ายทอดความคิดออกมาได้เต็มที่  เขาสามารถเล่าเรื่องที่ทำผิดได้โดยไม่กลัวว่าผมจะตัดสินเขาหรือโกรธเขาที่ทำพลาด”

“ดีครับคุณสาธิต  ตอนนี้มีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นแล้ว  อะไรเป็นอุปสรรคทำให้คุณไปไม่ถึงเป้าหมายนี้ครับ”

“โค้ชครับ  ผมมีงานเยอะเหลือเกินที่จะต้องทำ  ผมไม่มีเวลาที่จะรับฟังคนของผมหรอก  มีปญหามากมายที่ต้องรอให้ผมจัดการครับ”

“ทำไมจึงมีปัญหามากมายรอให้คุณจัดการละครับ”

“เพราะว่าผมเป็น CEO นะซีครับ”

“คุณสาธิต  เราหยุดตรงนี้ก่อนครับ”

“ทำไมหรือครับ”

“คุณเชื่อใจผมไหมครับ”

“แน่นอนครับ  ทำไมโค้ชถามคำถามนี้ครับ”

“เพราะว่าที่ผมจะถามคุณต่อไปนั้นอาจจะเป็นการท้าทายคุณ  ดังนั้นผมจึงอยากให้คุณอยู่กับปัจจุบัน  และพยายามตั้งพักการตัดสินเท่าที่จะทำได้  ไหวไหมครับ”

“ได้เลยครับ”  เขาสูดหายใจลึก ๆ เพื่อตั้งสติ

“คุณสาธิต  อะไรคือบทบาทของ CEO ครับ”

“CEO ต้องมีวิสัยทัศน์สำหรับอนาคต  แปลงวิสัยทัศน์เป็นแผนงาน  ขับเคลื่อนแผนงานเป็นกิจกรรม  และบริหารการเปลี่ยนแปลง…”

เขาเงียบไปเหมือนฉุกคิดอะไรขึ้นมาได้  

“อ้า  ที่ผมยุ่งอยู่กับงานมากมายนั้นผมใช้เวลาไปกับการแก้ปัญหาของลูกน้องแทนที่จะทำหน้าที่ CEO ที่แท้จริง”

“คุณสาธิต  คุณอยากจะทำตัวให้แตกต่างไปจากเดิมอย่างไรครับ”

“ผมอยากลดเวลาในการแก้ปัญหาของลูกน้องลงครับ”

“ทำอย่างไรครับ”

“ที่จริงแล้ว  ผมมีผู้บริหารเก่ง ๆ มากมายช่วยผม  แทนที่ผมจะ สนุกกับการแก้ปัญหาของเขา  ผมควรจะมอบหมายงานการแก้ปัญหาให้คนของผมไปทำ”

เขาเงียบไปอีก  ดูเหมือนเขาจะเกิดอาการยูเรก้าอีกครั้ง

“คุณสาธิตครับ  ดูเหมือนจะเกิดการจุดประกายอะไรขึ้นมาหรือครับ”

“โค้ช  ผมเองเสพติดกับการแก้ไขปัญหาครับ  ผมสนุกกับการแก้ปัญหา มากเกินไปแล้ว”

“เพราะอะไรครับ”

“เพราะว่าการแก้ปัญหามันช่วยให้ผมประสบความสำเร็จใน 20 ปีที่ผ่านมา  การแก้ปัญหาคือจุดแข็งของผมเลย  แต่ว่าตอนนี้ผมเป็น CEO แล้ว  ผมควรจะใช้เวลาในการนำ  มากกว่าแก้ปัญหาไปทุก ๆ เรื่อง”

“ดีครับ  แล้วไงต่อครับ”

“โค้ชครับ  ตอนแรกผมคิดว่าผมมีปัญหาเรื่องการฟัง  ที่จริงแล้วการบริหารของผมไม่ดีต่างหาก”

“คุณสาธิตครับ  จะทำอย่างไรต่อดีครับ”

“โค้ชครับ  ผมต้องเตรียมตัวเองใหม่แล้วละ  ผมต้องทำหน้าที่ CEO จริง ๆ เสียที  สิ่งที่จะทำคือ

1. ระบุออกมาให้ชัดเลยว่าผมต้องทำอะไรบ้าง

2. ระบุสิ่งที่ต้องหยุดทำด้วยตนเองออกมา

3. ระบุว่าใครควรทำสิ่งที่เราต้องหยุดทำ

4. สื่อสารถึงคนที่เราจะมอบหมาย ให้แน่ใจว่าเขาตระหนักว่าทำไมผมจึงเปลี่ยนแปลง

5. สื่อสารถึงคนอื่น ๆ เพื่อให้เขาเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร  และต้องการการสนับสนุนอะไร

6. หารือความคืบหน้ากับโค้ชเป็นระยะ”

“เป็นแผนงานที่ดีครับ  คิดว่าอาจเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างครับ”

“ผมกลัวว่าอาจจะกลับไปเป็นแบบเดิมครับ  ดังนั้นผมต้องเตือนตนเองทุก ๆ เช้า  และผมจะคอยส่ง SMS บอกโค้ชด้วย”

“ดีครับ  เรามาติดตามผลกันในครั้งหน้านะครับ”