จากควบคุมและสั่งการ เป็น มีส่วนร่วมและสร้างแรงบันดาลใจ

“คุณชาญครับ  วันนี้เราจะคุยกันเรื่องอะไรดีครับ”

“โค้ชเกรียงศักดิ์  ผมต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีบริหารจากควบคุมและสั่งการเป็นการมีส่วนร่วมและสร้างแรงบันดาลใจครับ”

“อะไรมาจุดประกายคุณชาญละครับ”

“ปีนี้เป็นปีที่สองที่ผมเข้ามารับตำแหน่งครับ  ในปีแรกผมต้องเข้ามาจัดการวิกฤต  ผมเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ในองค์กรเรา  ดังนั้นการบริหารแบบสั่งการและควบคุมมันเหมาะสมกับสถานการณ์ในตอนนั้นครับ

อย่างไรก็ตาม  ตอนนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว  องค์กรเราเริ่มนิ่งขึ้นแล้ว  ดังนั้นมันถึงเวลาที่ผมจะต้องปรับเปลี่ยนสไตล์การบริหารให้เหมาะสมขึ้น”

“ดีครับ  คุณชาญมีความกังวลใจอะไรบ้างครับ”

“มีสองปัจจัยครับ  ผมจะเปลี่ยนอย่างไร  และผมจะทำให้ทีมงานปรับเปลี่ยนอย่างไรดีครับ”

“คุณชาญ  เรื่องไหนอยากคุยก่อนครับ”

“โค้ชครับ  ผมจะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรดีครับ”

“ขยายความหน่อยครับ”

“เพราะว่าผมใช้วิธีนี้มากว่ายี่สิบปีแล้ว  มันเป็นวิธีที่ผมคุ้นเคย  มันคงยากมากสำหรับผมที่จะเปลี่ยนแปลงครับ”

“คุณชาญ  อะไรคือประโยชน์สำหรับคุณครับ”

“โค้ชครับ  เพราะว่าผมมีเวลาอีกสามปีในตำแหน่ง  ผมต้องการสร้างตำนานเมื่อผมลุกจากตำแหน่งนี้  ผมต้องการสร้างองค์กรที่ประสบความสำเร็จ  ผมตระหนักว่าผมทำไม่ได้โดยลำพัง

หากจะทำก็ต้องมาจากการที่คนรอบตัวใช้ปัญญาอย่างเต็มที่  พวกเขาเก่งครับ  เพียงแต่ว่าสับสนไปหน่อยในช่วงวิกฤต  หากเขาเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น  น่าจะสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้แน่นอนครับ”

“เอาละครับ  คุณตระหนักรู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง  แล้วปัญหามันคืออะไรครับ”

“โค้ชครับ  เมื่อไรก็ตามที่ผมได้ยินลูกน้องขอความเห็น  ถามความเห็น  หรือขอให้ผมตัดสินใจ  มันยากมากสำหรับผมที่จะสร้างการมีส่วนร่วมโดยการถามความคิดเห็นจากพวกเขาเพื่อให้เขาคิดหาคำตอบให้ได้ด้วยตนเอง  สำหรับผมแล้วมันเสมือนอัตโนมัตเลยครับที่ผมจะต้องให้คำตอบ  ตัดสินใจให้  หรือให้คำสั่ง”

“อะไรทำให้คุณเป็นอย่างนั้นละครับ”

“ผมเป็นนายทหารมาก่อน  ในการอบรมในโรงเรียนนายทหาร  ในฐานะผู้นำเราได้รับการปลูกฝังมาว่าเราต้องเป็นคนสั่งการเมื่อลูกน้องเขามาขอความช่วยเหลือ  เพราะว่ามันคือเรื่องของความเป็นความตาย”

“คุณชาญครับ  แต่ว่าตอนนี้คุณทำงานเอกชนแล้วครับ  คุณเป็นผู้นำคนที่ใช้ความรู้ในการทำงานนะครับ”

เขาผงกศรีษะยอมรับ

“คุณชาญครับ  คุณจะสอนตัวเองอย่างไรให้หยุดควบคุมและสั่งการ”

“โค้ชครับ  ผมต้องคิดใหม่ว่า  การตั้งคำถามให้เขาคิดเป็นการช่วยเหลือพวกเขาอีกรูปแบบหนึ่งครับ

ต่อจากนั้น  ผมต้องตั้งสติ  และคอยเตือนตนเองถึงความเชื่อใหม่ก่อนที่จะสนทนากับลูกน้อง  และผมจะต้องคอยประคองสติตลอดเวลา  โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาถามหาความเห็น  ผมต้องหยุดรอจังหวะไม่ต้องตอบทันที  แล้วผมก็จะถามกลับว่า  คุณมีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร

ซึ่งมันก็โยงไปประเด็นที่ผมกังวลใจเรื่องที่สองคือผมจะทำให้ทีมงานปรับเปลี่ยนอย่างไรดี”

“มันเกี่ยวกันอย่างไรครับ”

“โค้ช  ผมคิดว่าผมต้องสื่อสารกับคนที่รายงานตรงกับผมก่อนจะเปลี่ยนว่าผมกำลังจะเปลี่ยน  และผมต้องการความร่วมมือจากพวกเขาด้วย

เบื้องต้น  ผมอยากใช้การควบคุมและสั่งการ 50%  และการมีส่วนร่วมและการสร้างแรงบันดาลใจอีก 50%

“ฟังดูเป็นแผนงานที่ดีครับ  คิดว่าอาจะเกิดปัญหาอะไรบ้างครับ”

“โค้ชครับ  เท่าที่คิดคือ

1. คนอาจจะคิดไม่ทันเมื่อผมถามให้เขาคิด

2. มันอาจจะใช้เวลามากขึ้นเพราะต้องโต้ตอบกันไป ๆ มา ๆ”

“คิดว่าจะวางแผนจัดการอย่างไรดีครับ”

“ผมคิดว่าต้องให้เวลาครับ  แทนที่จะเปลี่ยนแปลงทันทีเลย  ผมจะสื่อสารให้พวกเขาทราบก่อนล่วงหน้า  แล้วผมจะขอให้คุณช่วยโค้ชทีมงานให้ฝึกคิดกันก่อน  เมื่อถูกผมถามเขาจะได้กล้าที่จะถ่ายทอดสิ่งที่เขาคิดออกมา  และผมจะคอยเตือนพวกเขาว่าให้เตรียมตัวที่จะคิดหาคำตอบมาด้วยก่อนจะเข้ามาหารือกัน

สำหรับเรื่องการใช้เวลามากขึ้นนั้น  ผมต้องให้ความรู้กับพวกเขาว่า  มันอาจจะใช้เวลามากขึ้นในตอนคุยกัน  แต่มันจะใช้เวลาน้อยลงในการแก้ไขปัญหา  เราทุกคนต่างก็เคยมีประสบการณ์กันมาก่อนทั้งนั้นที่ว่า ‘เราไม่มีเวลาที่จะหารือกันให้ถูกต้องในตอนเริ่มต้น  แต่เรามีเวลาเสมอเมื่อปัญหามันเกิดขึ้น’  และส่วนใหญ่ในกรณีหลังเรามักจะใช้เวลาไปมากกว่ากันเยอะเลยครับ”

“ดีครับ  คุณชาญ  และถ้าคนของคุณเขาเกิดคิดว่า  ในเมื่อมีปัญหาแล้วต้องคิดหาทางแก้มาก่อน  ทำไมต้องเข้ามาหารือกับคุณด้วยละ”

“โค้ช  เพราะว่าผมมีส่วนที่จะเพิ่มคุณค่าให้กับพวกเขาดังนี้ครับ

1. ผมตั้งคำถามได้ดีกว่า

2. ผมมีข้อมูลมากกว่าที่จะแชร์ให้พวกเขา

3. ผมมีดุลพินิจที่ดีกว่า  จะช่วยพวกเขาให้เขาคิดได้ดียิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับการที่เขาคิดเองโดยลำพัง

โดยพื้นฐานก็คือ  เรากำลังจะเป็นองค์กรที่ใช้ความคิดแทนที่จะเป็นผมคิดคนเดียวครับ”

“ดีครับ  วันนี้แค่นี้ก่อนละกัน  แล้วมาติดตามผลกันครั้งหน้าครับ”