แปลงวิกฤตเป็นโอกาสในการประสานพลัง

“โค้ชเกรียงศักดิ์  ผมอยากหารือเรื่องคุณภาพของดุลพินิจของผมครับ”

“บ๊อบ  มีอะไรในใจหรือครับ”

“โค้ช  ปีนี้ผมลองประเมินคุณภาพในการใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจของผมดู  ผมว่าคุณภาพมันตกลงไปครับ  ผมตัดสินใจพลาดไปราว 50% มันทำให้ผมเริ่มไม่มั่นใจในตัวเองแล้ว”

“แล้วก่อนหน้านั้นละครับ”

“โค้ชครับ  ปีที่แล้ว  ผมตัดสินใจถูก 2/3 ครับ”

“บ๊อบ  คุณพูดถึงผลลัพธ์ที่เกิดมาแล้ว  ช่วยบอกสิ่งที่คุณปรารถนาจะเห็นตัวเองในอนาคตหลังจากการคุยกันในวันนี้คืออะไรครับ”

“โค้ช  ผมอยากจะตัดสินใจให้ได้มีคุณภาพเท่าเดิมคือถูก 2/3 ครับ”

“เอาละ  เรามาเจาะลึกในรายละเอียดกัน  อะไรคือความแตกต่างระหว่างปีนี้และปีที่แล้วครับ”

“โค้ชครับ  ปีนี้ผมล้วงลึกในการทำงานมากขึ้น  ดังนั้น  แทนที่ผมจะรอคนของผมตัดสินใจ  ผมก็กระโดดลงไปตัดสินใจแทนพวกเขามากขึ้นเยอะเลย”

“อะไรทำให้คุณต้องกระโดดเข้าไปละครับ”

“เพราะว่าธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วครับ  อะไรต่ออะไรมันเร็วไปหมด  ในขณะที่กระบวนการภายในและข้อมูลมันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วแบบนี้  หากผมรอให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางคงไม่ทันกิน  ดังนั้นผมจึงตัดสินใจที่จะกระโดดเข้าไปช่วยทันทีที่ผมทราบ”

“มันก็ฟังดูดีนะ  แล้วเกิดพลาดอะไรขึ้นมาละ”

“ผมไม่ได้จับงานปฎิบัติการมานานแล้ว  กระบวนการและขั้นตอนการทำงานมันเปลี่ยนไปมากทีเดียว  ลูกค้าและคู่แข่งก็เปลี่ยน  ที่สำคัญภูมิทัศน์ทางธุรกิจในระดับปฎิบัติการก็เปลี่ยนแปลงไปมาก  เมื่อผมพยายามใช้ดุลพินิจในการทำงานในระดับจุลภาค  ผมจึงใช้กรอบความคิดเมื่อสิบปีที่แล้ว  ดังนั้นการตัดสินใจของผมจึงไม่ค่อยถูกต้องนัก  กว่าครึ่งมันผิด  ทำให้เราต้องแก้ไขงานมากขึ้นไปอีก”

“มีทางเลือกอะไรอีกครับ”

“โค้ช  ทีมงานผมอยู่ใกล้กับปัญหามากกว่าผมเยอะ  พวกเขาก็มีดุลพินิจที่ดีในการตัดสินใจในระดับปฎิบัติการ  ปัญหาที่พวกเขามีคือ

1. พวกเขามีแนวโน้มที่จะรอให้มีข้อมูลเพียงพอก่อนจึงจะกล้าตัดสินใจ

2. พวกเขามีแนวโน้มที่จะทำงานข้ามสายงานกันได้ไม่ดี

หากว่าผมฝึกให้พวกเขาสามารถทำสองสิ่งนี้ให้ดีกว่าเดิม  ผมเองจะได้ไม่ต้องกระโดดเข้าไปช่วย”

“บ๊อบ  คุณวางแผนไว้อย่างไรบ้างละครับ”

“สำหรับประเด็นแรก  ผมคงต้องให้ความรู้กับพวกเขาครับว่าในโลกของ VUCA การตัดสินใจที่ดีคือการตัดสินใจภายใต้ข้อจำกัดของข้อมูลและเวลาเท่าที่จะทำได้  จากหนังสือ  Work smarts: What CEOs say you need to know to get ahead ของ Betty Liu  ผู้เขียนอ้างถึง Martin Sorrell – CEO ของ WPP plc ว่า  “การตัดสินใจที่แย่ในวันจันทร์ดีกว่าการตัดสินใจที่ดีในวันศุกร์”  การที่เราตัดสินใจโดยข้อมูลไม่เพียงพอหมายความว่าเราได้มีการประเมินความเสี่ยงไว้แล้วว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง  และเราพอยอมรับมันได้ในระดับใด  ดังนั้นคุณจึงกล้าที่จะตัดสินใจโดยวางแผนล่วงหน้าว่าหากเกิดอะไรพลาดเราจะจัดการอย่างไร

จะมีทัศนคติแบบนี้ได้เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความผิดพลาดได้  เราต้องตระหนักถึงแนวคิดที่ว่า “ล้ม-ไปข้างหน้า”  เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับเรื่องความผิดพลาดและเรียนรู้ที่จะปล่อยวางอัตตาของเราและอยู่กับเรื่องความผิดพลาดได้

สำหรับเรื่องการร่วมมือทำงานข้ามฝ่ายงานผมยังนึกไม่ออกเลย”

“บ๊อบ  คุณคิดว่าเพราะอะไรคนจึงทำงานข้ามสายงานกันได้ยากละครับ”

“ผมว่า  พวกเขา  เกรงใจ  และให้เกียรติ  กันมากเกินไปครับ”

“หมายความว่าอะไรครับ”

“พวกเขามองว่าแต่ละฝ่ายงานมีอาณาเขตของตนเองอย่างชัดเจน  ภายใต้อาณาจักรของแต่ละคน  คนอื่นห้ามแตะ  พวกเขาต้องเคารพและให้เกียรติเจ้าของพื้นที่”

“คุณคิดว่าอย่างไรกับมุมมองแบบนี้ครับ”

“ผมว่ามันล้าสมัยไปแล้ว  ทุกอย่างมันจะดูคลุมเครือมากขึ้น  หากเรามัวแต่ยึดติดกับความชัดเจนและมีอัตตาผูกติดกับบทบาทและหัวโขนมากเกินไป  เราจะมีปัญหาในการทำงานร่วมมือกันข้ามสายงานเป็นอย่างมาก

โค้ช  ผมคงต้องให้ความรู้กับพวกเขาเกี่ยวกับมุมมองเหล่านี้ครับ”

“บ๊อบ  ฟังดูเป็นแผนงานที่ดีครับ  อาจจะมีความเสี่ยงอะไรบ้างครับ”

“โค้ชครับ  เหตุผลทั้งสองประการที่ผมยกขึ้นมานั้นมันต้องเริ่มจากการมีทัศนคติที่ถูกต้องเสียก่อนครับ”

“มันคืออะไรบ๊อบ”

“โค้ชครับ  ในขณะนี้บริษัทเรากำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมาก  เราไม่มีความหรูหราพอที่จะมารบรากันเองภายในบริษัทอีกต่อไปแล้ว  เรามีศึกนอกบ้านมากมาย  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็ยิ่งเรียกร้องจากเรามากขึ้นเรื่อย ๆ  เราต้องมองวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาส  เราต้องทำงานร่วมกันให้ดีกว่าเดิม  เราต้องประสานพลังร่วม  แทนที่จะคิดแบบว่า 1+1=2 เราต้องคิดว่า 1+1=11  ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้เราต้องปล่อยวางแนวคิดในอดีต  ทัศนคติแบบเดิม ๆ  และที่สำคัญเลยเราต้องละอัตตาของเราแต่ละคนออกไป”

“บ๊อบ  ฟังดูดีครับ  เรามาติดตามผผลกันในครั้งหน้าละกันครับ”