เรียนรู้เร็วเพื่ออยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนแปลง

เร็ว ๆ นี้ผมไปงานเลี้ยงรุ่น และพบสุวัฒน์เพื่อนรุ่นเดียวกัน เขาทำงานบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง  ได้บ่นให้ฟังว่ากำลังเครียดกับการเปลี่ยนแปลงในงาน  ผมจึงแนะนำหนังสือ “Becoming agile leader” โดย Victoria V. Swisher ให้เขาอ่าน

เรานัดคุยกันสองสัปดาห์ต่อมา

“โค้ช  ขอบใจมากที่แนะนำเล่มนี้  ผมชอบมากเลย”

“สุวัฒน์  นายได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้างละ”

“โค้ช  หนังสือเล่มนี้สอนให้เราเข้าใจเรื่อง Learning Agility ซึ่งนิยามก็คือ  ความพยายามและความสามารถในการเรียนรู้จากประสบการณ์  ซึ่งสามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับงานและสถานการณ์ใหม่ ๆ จนทำให้ประสบความสำเร็จได้

หนังสือระบุว่ามีปัจจัยในเรื่องความสามารถในการเรียนรู้อย่างรวดเร็วอยู่ 5 ลักษณะคือ

1. การเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างรวดเร็ว  คือการตระหนักรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำได้ดี อะไรคือสิ่งที่ทำได้ไม่ดี  และสามารถตระหนักรู้ได้เสมอในสิ่งที่ทำได้ไม่ดี

2. การเรียนรู้เกี่ยวกับความซับซ้อนอย่างรวดเร็ว  พวกเขาเป็นคนที่มีการคิดเชิงวิจรณญาณที่สามารถขบคิดปัญหาที่ซับซ้อน ประเมินสถานการณ์ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง  และสามารถที่จะเชื่อมโยงเรื่องราวใหม่ ๆ ให้คนอื่น ๆ เข้าใจได้อย่างง่ายดาย

3. การเรียนรู้เกี่ยวกับคนอย่างรวดเร็ว  พวกเขาเข้าใจคุณค่าของความสำคัญในการทำงานผ่านคนอื่น ๆ  และเป็นนักสื่อสารที่ยอดเยี่ยมที่มองเห็นความแตกต่างเป็นโอกาสแทนที่จะมองว่าเป็นความแตกแยก

4. การเรียนรู้อย่างรวดเร็วกับการเปลี่ยนแปลง  พวกเขาชอบการทดลองสิ่งใหม่ ๆ  และสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว  พวกเขาชื่นชอบความคิดสร้างสรรค์  และสนใจที่จะพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

5. การเรียนรู้อย่างรวดเร็วในการสร้างความสำเร็จ  พวกเขาสามารถจะสร้างผลสัมฤทธิ์ในงานในเรื่องใหม่ ๆ ได้เสมอ  โดยการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มี  และเก่งในการจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ ได้อยู่เสมอ”

“แล้วนายได้อะไรที่จับต้องได้จากหนังสือเล่มนี้อีก”

“โค้ช  แต่ละปัจจัยในการเรียนรู้อย่างรวดเร็วมีแนวทางปฎิบัติให้ด้วย  ผมลองยกตัวอย่างบางส่วนในแต่ละปัจจัยให้ฟัง

การเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างรวดเร็ว:  เขาแนะนำให้ทุกครั้งที่ต้องติดต่อกับคนให้ประเมินตนเองตลอดเวลา  ว่าเราทำได้ดีเพียงใด  เราจะทำให้แตกต่างไปจากเดิมได้อย่างไร  โดยเฉพาะในทักษะที่เรากำลังให้ความสนใจจะพัฒนามันให้ดีขึ้น  หรือทักษะสำคัญที่มีผลต่อผลงานของเรา  ลองขอข้อมูลย้อนกลับจากคนอื่นทันทีหลังการปฎิสัมพันธ์  ทำให้เป็นนิสัย  การมองหาข้อมูลย้อนกลับอย่างสม่ำเสมอเพิ่มโอกาสที่จะเข้าใจตนเองอย่างชัดเจนมากขึ้น  และเปิดโอกาสให้คนอื่นได้ประเมินประสิทธิภาพในการสื่อสารของเราได้อย่างทันกาลด้วย

การเรียนรู้เกี่ยวกับความซับซ้อนอย่างรวดเร็ว:  ให้หมั่นออกจาก Comfort Zone ที่เราคุ้นเคยสบาย ๆ  คนที่ยุ่งมาก ๆ มักจะพึ่งวิธีที่เคยสำเร็จในอดีต  เขายึดติดวิธีที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว  ด้วยการมีแต่มุมมองเดิม ๆ  พวกเขารีบด่วนสรุปเมื่อเกิดปัญหาที่คล้ายคลึงกับปัญหาในอดีต  ซึ่งอาจจะผิดพลาดได้  ระวังความคิดที่ว่า “ฉันมักจะใช้วิธีแบบนี้…”  หรือ  “ปกติฉันก็ใช้วิธีนี้…”  หมั่นหยุดสังเกตตัวเองเป็นระยะ  แสวงหาทางเลือกอื่น ๆ  และถามตนเองว่า  “เราอาจจะด่วนสรุปว่าปัญหานี้เหมือนกับปัญหาในอดีต  ที่เราเคยเผชิญมาหรือไม่”  หรืออาจจะถามตัวเองว่า  “ที่จริงแล้วปัญหานี้ต่างจากปัญหาในอดีตอย่างไรบ้าง”

การเรียนรู้เกี่ยวกับคนอย่างรวดเร็ว:  ให้ความสำคัญกับสามนาทีแรกเมื่อปฎิสัมพันธ์กับคนอื่น  โทนเสียงเราควรจะเป็นอย่างไร  ความประทับใจครั้งแรกที่เกิดเป็นอย่างไร  พยายามทำตัวให้เป็นคนเปิดเผยและเข้าถึงได้ง่าย  ฟังเพื่อเข้าใจให้มากในช่วงเริ่มต้นการสนทนา  ทำให้คนอื่นไม่อึดอัดเพื่อเขาจะได้เล่าเรื่องได้อย่างสบายใจ  การสร้างบรรยากาศแบบกันเองในตอนต้น  การฟัง  การแบ่งปันความคิด  การแสดงความเข้าใจ  หรือการปลอบใจ  คนที่เข้าหาได้ง่ายจะมีโอกาสได้รับข้อมูลมากกว่า  รู้อะไรก่อน  และทำให้คนอยากทำงานให้มากกว่า  ยิ่งคุณทำให้คนสบายใจมากเท่าไรในตอนต้นของการสนทนา  คุณยิ่งเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น  และคุณก็จะสามารถปรับแต่งการสื่อสารให้เหมาะกับแต่ละคนได้ดียิ่งขึ้น

การเรียนรู้อย่างรวดเร็วกับการเปลี่ยนแปลง:  เตรียมตัวให้พร้อมเนิ่น ๆ  การเป็นผู้นำมาพร้อมกับความเสี่ยง  คุณต้องยืนยันในหลักการของคุณ  ต้องจูงใจตัวเองให้เชื่อในสิ่งที่คิดก่อน  เตรียมพร้อมที่จะอธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีก  จนกระทั่งคนที่ต่อต้านยอมรับ  โดยเฉพาะคนที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง  หรือคนที่พร้อมจะยกแม่น้ำทั้งห้ามาถกเถียง  เขาจะอ้างว่าวิธีอื่นดีกว่า เร็วกว่า หรือถูกกว่า  เพื่อให้เตรียมให้พร้อมสำหรับความเป็นไปได้ต่าง ๆ  ให้คิดถึงสิบข้อโต้แย้งที่อาจจะเกิดขึ้น  และซักซ้อมวิธีการโน้มน้าว  ฟังด้วยความใจเย็นในสิ่งที่คนกังวลใจ  แสดงความรับรู้ออกมาให้เขาตระหนัก  และพยายามอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลดีอย่างไรบ้าง

การเรียนรู้อย่างรวดเร็วในการสร้างความสำเร็จ:  กล้าที่จะเสี่ยงมากขึ้น  จากการวิจัยพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จทำผิดมากกว่าคนทั่วไป  คุณจะไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เลย  หากคุณไม่กล้าลองอะไรใหม่ ๆ  เริ่มจากเล็งที่ชัยชนะเล็ก ๆ  เพื่อที่จะลุกขึ้นมาใหม่ได้หากเกิดล้มเหลว  ที่สำคัญก็คือเรียนรู้จากผลลัพธ์  เริ่มจากงานที่ท้าทายไม่มากนักแล้วขยับความยากขึ้นไปเรื่อย ๆ  เช่นเดียวกับการรับมอบหมายงานยาก  คนส่วนใหญ่ปฎิเสธโอกาสที่ได้รับมอบหมายโดยคำนึงถึงความสบาย  แล้วก็มาเสียใจภายหลังเมื่อโอกาสผ่านพ้นไปเสียแล้ว  ให้พิจารณางานใหม่ที่ขาดทรัพยากรหรือดูไม่น่าสนใจเอาเลย  แต่ให้มองเป็นโอกาสที่จะได้เสริมทักษะใหม่ ๆ  และเพิ่มความหลากหลายประสบการณ์ในประวัติการทำงานของเรา”

“น่าสนใจสุวัฒน์  คิดว่าเกิดปัญญาที่ยิ่งใหญ่อะไรจากหนังสือเล่มนี้ละ”

“โค้ช  ผมเครียดเพราะว่าอัตตามันหน่วงผมให้อยู่ใน Comfort Zone  ผมอยากทำงานแบบเดิม ๆ  ในสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ  เมื่อผมเริ่มเรียนรู้ได้ว่าผมต้องปล่อยวางอัตตามันก็มีทางออก”

“สุวัฒน์  เรามาติดตามผลกันในสามเดือนข้างหน้านะ”