เพิ่มความผูกพันพนักงานในช่วงวิกฤต

“โค้ชเกรียงศักดิ์  ผมอยากหารือเรื่องการเพิ่มความผูกพันให้พนักงาน (Employees Engagement) มากขึ้นในยามวิกฤตเช่นนี้ครับ”

“คุณวาริท  คิดอะไรไว้ในใจบ้างละครับ”

“โค้ชครับ  วันก่อนผมเดินไปเยี่ยมพนักงานรอบ ๆ บริษัทในฝ่ายต่าง ๆ  โดยไม่ได้นัดหมาย  ผมจึงได้มีโอกาสสังเกตเห็นพนักงานเรา  ซึ่งสามารถจะจำแนกได้แบบคร่าว ๆ เป็นสามกลุ่มคือ  กลุ่มแรกไฟแรงกระตือรือร้น  กลุ่มสองกลาง ๆ  และกลุ่มสามเครียดหน่อย  ผมอยากช่วยให้กลุ่มสองมีไฟและกระตือรือร้นแบบกลุ่มแรกบ้าง”

“คุณวาริท  ทำไมกลุ่มสองและสามไม่กระตือรือร้นเท่ากลุ่มแรกครับ”

“ยากที่จะบอกครับ  เพราะว่ามันมีกระจายไปทุก ๆ ฝ่ายงาน”

“คุณวาริทอยู่ที่นี่มาพอสมควรแล้ว  อะไรที่น่าจะเป็นสาเหตุทำให้คนกลุ่มสองและสามมีพฤติกรรมแบบนั้นครับ”

“โค้ชครับ  กลุ่มที่สองอาจจะมองว่าวิกฤตนี้ไม่ใช่ปัญหาของเขา  เขาทำงานตามที่รับผิดชอบ  และทำงานแบบปกติที่เคยทำมา

สำหรับกลุ่มที่สาม  บางคนอาจจะคิดว่าเขาไม่สามารถจะทำตาม KPIs ที่ได้รับมาในปีนี้  และบางคนอาจจะวิตกว่าอาจจะถูกปลดออกจากกงานได้ในเร็ว ๆ นี้”

“คุณวาริท  กลุ่มไหนที่อยากจะโฟกัสในวันนี้ครับ”

“โค้ช  กลุ่มแรกเขาทำได้ดีอยู่แล้วอย่าเพิ่งไปยุ่ง  กลุ่มสามให้มีความวิตกจริตบ้างอย่างที่กำลังเป็นน่าจะได้ผลงานดีขึ้น  กลุ่มสองนี่ซิครับ  ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของเรา  หากเราทำให้เขาตื่นตัวและสนุกกับงานได้มากขึ้น  น่าจะสร้างผลกระทบวงกว้างในบริษัทเราเลยครับ”

“คุณวาริท  เรามาระดมความคิดกันก่อนดีกว่าครับ  โดยเรามาช่วยกันคิดว่า  จะทำอย่างไรทำให้คนกลุ่มที่สองนี้สนุกกับงานและตื่นตัวได้มากขึ้นบ้าง”

“โค้ช  ผมขอใช้กลยุทธ์ 3-Fs ละกันครับ”

“คืออะไรครับ”

“Fun, Fear and Friend ความสนุก ความกลัว  และเพื่อน ครับ

Fun คือหาวิธีการทำงานให้สนุกเช่น  ฉายคลิปขำ ๆ ให้พนักงานดูตอนพักเบรค หรือ พักกลางวัน

Fear โดยการบอกว่าอาจจะเกิดความเสี่ยงอะไรขึ้นบ้างหากผลประกอบการไม่ดีจริง ๆ

Friend โดยอาจจะขอให้พนักงานเราไปถามเพื่อน ๆ เขาที่ทำงานที่บริษัทอื่น ๆ ว่าเขามีวิธีการดี ๆ อย่างไรในการทำให้พนักงานเกิดความผูกพันในงานและสนุกกับงานมากขึ้น  แล้วนำมาประบุกต์ใช้กับบริษัทเราบ้าง

โค้ชคิดว่าที่ผมบอกมาทั้งหมด  มันฟังแล้วเป็นความคิดที่โง่ ๆ ไปหน่อยไหมครับ”

“ไม่เลยครับ  ดีออก  เรากำลังระดมความคิดกันอยู่  มีอะไรอีกครับ”

“โค้ชครับ  เราอาจจะให้มีการสลับหมุนเวียนหน้าที่ในงานกันในคนกลุ่มสองนี้  ทำให้แต่ละคนต้องออกจาก Comfort Zone ของตนเองบ้าง

ผมคิดว่าสำหรับคนที่มีประสบการณ์และศักยภาพสูงน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะแชร์ประสบการณ์เขาให้คนอื่น  ผมคิดว่าจะมอบหมายให้เขาเป็นพี่เลี้ยงสำหรับพนักงานที่อ่อนประสบการณ์กว่า”

“ดีครับ  เราได้หลายไอเดียแล้ว  เราลองมาคัดกรองให้เหลือแนวคิดที่น่าจะนำไปใช้งานได้เลย  เรื่องไหนบ้างครับ  ที่คุณวาริทคิดว่าสามารถจะนำไปใช้งานได้เลยและมีผลสูงด้วย”

“Fun อาจจะไม่เหมาะกับสถานการณ์ตอนนี้  Fear ก็ไม่ถูกจริตกับวัฒนธรรมองค์กรบริษัทเรา  ที่น่าจะเวิร์คคือ

– เสาะหาวิธีที่บริษัทอื่นทำได้ดีจากเพื่อน ๆ พนักงาน

– การหมุนเวียนงาน

– การเป็นพี่เลี้ยง หรือ Mentoring Program”

“วางแผนจะนำไปปฎิบัติอย่างไรดีครับ”

“ผมจะให้ VP HR รับผิดชอบเรื่องการหมุนเวียน  และจะให้ VP PR รับผิดชอบเรื่องให้พนักงานหาวิธีดี ๆ จากบริษัทเพื่อน ๆ  ผมเองจะดูเรื่องโครงการพี่เลี้ยงครับ”

“คิดว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้างครับ”

“แต่ละเรื่องมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันครับ  โครงการเสาะหาความเป็นเลิศต้องใช้เวลาศึกษา  จะทำให้เวิร์คเร็วต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน  กระบวนการที่ดี  และมีแผนงานที่ทำได้จริง  จะทำให้เกิดได้ดี  ผมจะให้ VP Sales ไปช่วยในโครงการนี้ด้วย

สำหรับโครงการหมุนเวียนงาน  จะเกี่ยวข้องคนจำนวนมาก  ผมจะให้ VP Operation ซึ่งดูแลประชากรกลุ่มใหญ่ในบริษัทมาช่วยทีมนี้ครับ

และในเรื่องระบบพี่เลี้ยง  มีงานรายละเอียดเยอะในเรื่องานบริหารจัดการและฝึกอบรม  ผมจะขอให้ผู้จัดการฝึกอบรม  และเลขาฯ ผมมาช่วยงานนี้”

“คุณวาริท  ฟังดูก็เป็นแผนงานที่ดีครับ  มีประเด็นอะไรที่กังวลใจอีกไหมครับ”

“โค้ช  ผมทราบว่าคุณมีประสบการณ์เรื่อง Mentoring หรือระบบพี่เลี้ยงมาเยอะ  มีอะไรที่จะแชร์ให้มือใหม่อย่างผมควรทราบบ้างครับ”

“คุณวาริทครับ  คำแนะนำคือ

1. Chemistry หรือศรศิลป์ สำคัญครับ อย่าคลุมถุงชน จับคู่กันดี ๆ ครับ

2. เป็นระบบที่สมัครใจทั้งคู่ อย่าไปบังคับกะเกณฑ์ให้ทุกคนต้องมี ต้องทำ

3.ให้สองฝ่ายทำแบบสอบถามทางจิตวิทยาเพื่อที่จะได้เข้าใจจริตของกันและกัน

4. เตรียมหัวข้อให้เขาเริ่มต้นคุยกันก่อน  อย่าให้ไปคิดกันเองในตอนแรก  เดี๋ยวจะก้าวไม่ออกทั้งคู่  เช่นอาจจะเป็นเรื่อง ภาวะผู้นำ การนำเสนอ การปรับตัวเข้าสู่ New Normal, EQ, หรือความก้าวหน้าในอาชีพ

5. เตรียมทักษะการโค้ชให้พี่เลี้ยง

6. เตรียมคนที่จะได้รับการเป็นพี่เลี้ยงให้คิดเชิงรุกในการนัดหมาย  อย่าเกรงใจรอให้พี่เลี้ยงนัดฝ่ายเดียว

7. ให้มี Clinic เพื่อให้พี่เลี้ยงกลับมาหารือเป็นระยะ ๆ หากเขาติดขัด”

“เยี่ยมเลยโค้ช  เรามาติดตามผลกันในครั้งหน้าละกันครับ”