หลังจากการคุยเรื่อง Career Plan แล้วจึงค่อยจัดทำแผนพัฒนาส่วนบุคคล (IDP)

Individual Development Plan (IDP)

IDP คือเรื่องของแผนงานสำหรับตัวเราในอนาคต

สำหรับ Knowledge Workers มีเส้นทางสำหรับอนาคตระยะสั้นอยู่สี่เส้นทางคือ 

1. พัฒนาบทบาทเดิมไปสู่ระดับยอดเยี่ยม

2. ขยายบทบาทเดิมเพื่อเพิ่มค่างาน

3. โยกย้ายในระดับเดิมเพื่อขยายศักยภาพ

4. เติบโตขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้น

สำหรับอนาคตระยะยาวก็มีหลายทางเลือกเช่น

ก. ผู้เชี่ยวชาญเชิงลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ข. ผู้บริหารระดับสูง

ค. ออกไปเป็นผู้ประกอบการ

ง. ออกไปเป็น Freelance/ที่ปรึกษา ฯลฯ ในงานที่ตนเองถนัด

เราต้องเพิ่มคุณค่าในตัวเรา เพื่อให้ค่างานสูงขึ้น เพื่อบริษัทจะได้เพิ่มผลตอบแทนและสวัสดิการให้สูงขึ้น

หากใครคิดว่าจะขอทำในสิ่งที่ตนเองทำไปจนเกษียณ ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงว่า…

ก. วันหนึ่งบริษัทอาจหาคนที่ค่าตอบแทนต่ำกว่าเรามากมาแทนเรา

ข. วันหนึ่งอาจจะมีเทคโนโลยีมาทดแทนเรา

ค. วันหนึ่งอาจมีการ Outsource งานเราออกไป

ง. วันหนึ่งอาจมีกระบวนการใหม่ทำให้ไม่ต้องการตำแหน่งเรา

และเมื่อถึงวันนั้น หากเราจะมาเร่งพัฒนาตัวเองก็จะไม่ทัน

การทำงานในโลกกปัจจุบัน การสร้างคุณค่าเพิ่มให้ตัวเรา

จึงเป็นความจำเป็นมิใช่ทางเลือกอีกต่อไป

มันเป็นการลงทุนระยะยาว

กับสินทรัพย์ที่มีค่าสูงสุดของเรา คือ ตัวเรา/สมองเรา 

วิธีการง่าย ๆ ในการจัดทำ IDP แบบระยะ 3 ปี คือ

1. ระบุตำแหน่งของเป้าหมายในอนาคต 

แนวทางคำถาม “คุณคิดว่าใน 3 ปีข้างหน้าอยากเห็นตัวเองเป็นอย่างไร”  โดยทั่วไปมี 4 ทางเลือกคือ

a. ทำงานในตำแหน่งเดิมให้เก่งขึ้น จากดีไปสู่ยอดเยี่ยม

b. ขอโอนย้ายไปตำแหน่งอื่นที่อยู่ในระดับเดียวกัน

c. ได้รับการโปรโมทให้เติบโตขึ้นไปในสายงานตรง

d. ได้รับโปรโมทให้เติบโตไปในสายงานอื่น

2. ระบุคุณสมบัติของตำแหน่งนั้น

แนวทางคำถาม “คุณคิดว่าในตำแหน่งดังกล่าว  ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญหลัก ๆ อะไรบ้าง”

3. ระบุช่องว่างของศักยภาพ

แนวทางคำถาม “คุณคิดว่าในคุณสมบัติคุณสมบัติที่สำคัญหลัก ๆ แต่ละข้อ  คุณมีศักยภาพเพียงใด”

ลองใช้เกณฑ์ 1-10 ประเมินตนเองดู

4. วางแผนพัฒนา

4.1 แนวทางคำถาม “ในแง่ลำดับความสำคัญแล้ว  คุณสมบัติข้อไหนที่จะต้องพัฒนาก่อน-หลัง”

4.2 “แผนการพัฒนาในแต่ละคุณสมบัติต้องทำอย่างไรบ้าง”

จากแนวคิด 70/20/10 ของ Morgan McCall, Michael Lombardo and Robert  Eichinger  เราเรียนรู้ 10% จากชั้นเรียน 20% จากโค้ชและพี่เลี้ยง  และ 70% จากประสบการณ์

4.2.1 “คุณคิดว่าคุณต้องไปอบรมอะไรบ้าง”

4.2.2 “คุณคิดว่าใครจะเป็น โค้ช/พี่เลี้ยงให้คุณในเรื่องนี้ได้บ้าง”

4.2.3 “คุณคิดว่าคุณต้องหาประสบการณ์อะไรบ้างเพื่อพัฒนาในเรื่องนี้”

5. ลงมือพัฒนา

แนวทางคำถาม  “คุณจะลงมือทำในแต่ละกิจกรรมเมื่อไร”

IDP กับกัลยาณมิตร

ในการทำ IDP จะให้ดีควรมีการหารือกับหัวหน้าโดยตรง และควรทำสม่ำเสมอ ปีละไม่ต่ำกว่าสองครั้ง

หากการหารือกับหัวหน้าคุณทำไม่ได้ ควรหา Mentor ภายในองค์กร

หากไม่มี Mentor ในองค์กร ควรมองหานอกองค์กร

หรือหากหาไม่ได้ การมี Coach ก็เป็นทางเลือกที่ควรทำเช่นกันครับ