ซีอีโอสร้างผู้นำในช่วงวิกฤต

“โค้ชเกรียงศักดิ์คะ  ดิฉันอยากสร้างผู้นำให้มากขึ้นในช่วงวิกฤตนี้ค่ะ”

“คุณสุจิตรากำลังคิดอะไรอยู่ครับ”

“วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้อาจจะทำให้บางบริษัทชะลอการขยายตัว  แต่ว่าเรากลับมองเป็นโอกาสที่จะขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน  แต่เราต้องการผู้นำเก่ง ๆ จำนวนมากรองรับการขยายตัว

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของดิฉันคือในสามปีนี้  ดิฉันต้องสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่เก่ง ๆ ให้มากที่สุดค่ะ”

“เป็นเป้าหมายที่น่าชื่นชมครับ  มีอะไรกังวลใจบ้างครับ”

“จะทำอย่างนั้นได้อย่างมีประสิทธิผล  ดิฉันต้องเป็นทั้ง ผู้จัดการ ครู และโค้ช  ค่ะ  ดิฉันคิดว่าตัวเองเป็นผู้บริหารที่ดีกับทีมงาน  แต่อยากจะเป็นครูและโค้ชที่ดีกว่านี้ค่ะ  โดยเฉพาะภายใต้บริบทของ VUCA คือ ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน  และความคลุมเครือ ในภาวะปัจจุบันที่กำลังเผชิญอยู่”

“โอเคครับ  เราลองมาคุยกันทีละประเด็นละกันครับ  ระหว่างเรื่องครูและโค้ช  อยากหารือเรื่องไหนก่อนดีครับ”

“ครูค่ะ  ซีอีโอจะเป็นครูที่ยอดเยี่ยมกับทีมงานได้อย่างไรคะ”

“ดีครับ  ก่อนอื่นเลย  ใครคือนักเรียนของคุณละครับ”

“โค้ชคะ  ดิฉันวางแผนที่จะจัดตั้งทีมงานเพื่อจัดการกับการพลิกฟื้นธุรกิจค่ะ  ทีมงานนี้มีสิบคนมาจากสิบฝ่ายงาน  มีส่วนผสมของคนทุกเจนเนเรชั่น  มีทั้งฝ่ายบริหารระดับต้นจนถึงสูง  และมีทุกเพศ  หลากเชื้อชาติ  เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายมาก

ดิฉันวางแผนว่าจะใช้เวลากับพวกเขาหนึ่งสัปดาห์เพื่อวางแผนการพลิกฟื้นธุรกิจโครงการหนึ่งเป็นโครงการนำร่อง  ดิฉันจะสอนพวกเขาจากประสบการณ์ที่ดิฉันเคยทำมา

ดิฉันจะสอนการเป็นผู้นำ  การจัดการ  การลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลง”

“ฟังดูเป็นแผนงานที่ดีครับ  แล้วกังวลใจอะไรกับบทบาทของครูในงานนี้ละครับ”

“โค้ชคะ  ดิฉันเข้าใจในเนื้อหาที่จะสอนเขา  แต่ว่าดิฉันอาจจะเรียบเรียงความคิดไม่ดีพอที่จะถ่ายทอดอย่างเหมาะสมให้พวกเขาค่ะ  ปกติโค้ชทำอย่างไรเวลาออกแบบการสอนคะ”

“คุณสุจิตรา  ตอนที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจที่เคปเนอร์ ทรีโก  เมื่อหลายปีก่อน  ผมได้เรียนรู้กระบวนการออกแบบการเรียนรู้จากที่นั่นซึ่งดีมาก  แนวคิดก็ง่าย ๆ ครับ  หากเราต้องการสอนคนในเรื่องที่ซับซ้อน  ให้แยกเรื่องออกเป็นเรื่องย่อย ๆ  หลังจากนั้นให้สอนไปทีละเรื่องตามลำดับที่ควรสอน

โดยการสอนให้มีขั้นตอนคือ

1. What นิยาม  เรื่องที่กำลังจะสอนคือเรื่องเกี่ยวกับอะไร

2. Why ประโยชน์ หรือเหตุผลที่เรียน คืออะไร (เรียนไปทำไม) 

3. How มีขั้นตอนตามลำดับอย่างไรบ้าง  

4. Example เราจะแสดงตัวอย่างให้เห็นภาพได้อย่างไร 

5. Test for Understanding เราควรตรวจสอบความเข้าใจด้วยวิธีไหน   

กระบวนการนี้ผมว่าเขามีความสวยงามอยู่ตรงที่การตรวจสอบความเข้าใจ  โดยเขาแนะนำให้ถามขั้นตอนให้คนเรียนตอบกลับ หรือให้ทำกรณีศึกษา  หรือให้ลองแสดงให้ดู  เพื่อให้คนสอนแน่ใจว่าคนเรียนเข้าใจถูกต้องจริง ๆ”

“ขอบคุณค่ะโค้ช  ตอนนี้ค่อยสบายใจกับการเป็นครูสร้างผู้นำใหม่มากขึ้นค่ะ  ดิฉันก็อยากจะโค้ชคนให้เก่งขึ้นด้วยคะ”

“คุณสุจิตรา ครับ One Step at a time. ไปทีละเรื่องละกันครับ ลองเป็นครูให้ดีก่อน หลังจากนั้นค่อยมาฝึกเป็นโค้ชละกันครับ”