4-รู้ของคนดีและเก่ง

จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสพบผู้บริหารไทยที่ดีและเก่ง

พวกเขามีแบบแผนอะไรที่คล้ายกันบ้าง

จากที่เห็น ผมสังเกตว่าแต่ละคนจะมีบุคลิกลักษณะแตกต่างกัน…

– บางคนเรียนเก่งตอนเด็ก บางคนเรียนปานกลาง บางคนโดดเรียนเก่ง

– บางคนชอบพบปะผู้คน บางคนชอบอยู่เงียบ ๆ คนเดียว

– บางคนมองโลกสวยทุกเรื่อง บางคนมองแง่ร้ายกว่าคนอื่น

– บางคนตื่นเช้า บางคนตื่นสาย 

– บางคนดื่มจัด บางคนไม่ทานเนื้อสัตว์

สมัยทำงานใหม่ ๆ ผมคิดว่าน่าจะมีพิมพ์เขียวแล้วเราก็ทำตาม

ก็หาพิมพ์เขียวไม่เจอ…

พอทำงานไปสักพัก ได้อ่านหนังสือ How To ต่าง ๆ หลายตำรา

ก็เริ่มสับสน เพราะมีหลายรูปแบบเหลือเกิน ลองทำตามได้ไม่หมด…

จนกระทั่งได้พบปะตัวจริง ของคนดีและเก่ง จำนวนมากพอสมควร  

จากประสบการณ์ที่ผมเห็น พอจะประมวลได้ก็คือ 

พวกเขามี “4-รู้” คือ…

1. รู้เรา: คือรู้ว่าเรามี จุดแข็ง จุดอ่อน ความเชื่อ และเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อะไร

2. รู้เขา: คือรู้ว่าเส้นทางสู่เป้าหมาย ใครคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เขาคาดหวังอะไร และจะส่งมอบอย่างไร

3. รู้งาน: คือรู้บริบทของ องค์กร วัฒนธรรม อุตสาหกรรม คืออะไร

4. รู้ชวน: คือรู้ว่าจะโน้มน้าว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในแต่ละบริบท ได้อย่างไร

ลองมาขยายความกันหน่อยครับ 

1. รู้เรา: คือรู้ว่าตัวเองมี จุดแข็ง จุดอ่อน ความเชื่อ และเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อะไร

เขาจะพยายามใช้จุดแข็งของตนสร้างคุณค่า และไม่พยายามใช้พลังเยอะไปในการแก้จุดอ่อน 

แต่หาวิธีจัดการจุดอ่อน เช่นหาคู่หูคนที่มีสิ่งที่เขาขาดไปมาเสริม

2. รู้เขา: คือรู้ว่าเส้นทางสู่เป้าหมาย ใครคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบ้าง เขาคาดหวังอะไร จะส่งมอบอย่างไร

และหากคนสำคัญที่เราส่งมอบให้ไม่สมหวังเราจะสื่อสารอย่างไรให้พอผ่านไปได้ 

ข้อนี้เป็นเรื่องที่คนมักมองข้าม ไม่ประเมินว่ามีใครบ้างที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ

และเขาแต่ละคนคาดหวังอะไร และเราส่งมอบให้เขาได้ดีเพียงใด

โดยเฉพาะคนสำคัญที่บางครั้งเราอาจส่งมอบได้ไม่ดีมากนัก แต่ต้องสื่อสารให้เขาเข้าใจให้ได้

3. รู้งาน: คือรู้บริบทของ องค์กร วัฒนธรรม อุตสาหกรรม คืออะไร

องค์กร เริ่มต้น ขาขึ้น ขาลง หรือคงตัว 

วัฒนธรรม ทันสมัย อนุรักษ์นิยม เสรีนิยม ไร้รูปแบบ (ด่วนตลอด)

ต้องเรียนรู้เร็วเพื่อให้เข้าใจปัจจัยความสำเร็จในอุตสาหกรรมที่เขาอยู่

และต้องเรียนรู้ว่า อุตสาหกรรมนั้นอาจไม่ Fit กับเรา และรีบเดินออกมา

4. รู้ชวน: คือรู้ว่าจะโน้มน้าว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในแต่ละบริบท ได้อย่างไร

รู้ว่า แต่ละผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในแต่ละบริบท ต้องใช้กลยุทธ์ในการโน้มน้าวต่างกัน

เรียนรู้ว่าคนแต่ละคนแตกต่างกัน

และเรียนรู้ที่จะใช้วิธีสื่อสารโน้มน้าวที่หลากหลายมากกว่าวิธีเดียว

ทั้งหมดนี้ Simple but not easy. 

ฟังดูพื้น ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ไม่ง่าย 

ลองประยุกต์ใช้ดูครับ

หากจะให้เร็ว หา Mentor / Coach มาช่วยให้เราไปได้เร็วขึ้นครับ