3.5.1 การให้ Feedback เรื่องผลงาน

หลังจากมอบหมายงานแล้ว หัวหน้าจะติดตามผลงาน

เมื่อติดตามผลงานแล้วเห็นผลออกมาเป็นอย่างไร

หัวหน้าก็จะต้องให้ Feedback

Feedback คือการให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับผลงาน

Feedback ให้ได้ทั้งแง่บวกคือทำได้ตามความคาดหวัง หรือแง่ลบคือต่ำกว่าความคาดหวัง

Feedback มีประโยชน์คือ ทำให้คนทำงานต่ำกว่าความคาดหวังปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้น 

และคนที่ทำได้ตามความคาดหวังรักษาระดับผลงานตัวเอง

ไม่มีวิธีการให้ Feedback ที่ดีที่สุด มีแต่การให้ Feedback ที่เหมาะสมที่สุด

ที่ว่า “เหมาะสม” นี่คือ เหมาะสมกับปัจจัยเหล่านี้

ก. บริบทของงาน

ข. วัฒนธรรมองค์กร

ค. จริตของคนรับ

ง. ความถนัดของคนให้

จ. เวลา/สถานที่ ที่ให้

วิธีการ

ใช้ 3 คำถาม

1. สิ่งที่ทำได้ดีคืออะไร

2. สิ่งที่ควรเพิ่ม (หรือลด) คืออะไร

3. สิ่งที่ควรเริ่มทำคืออะไร

Example:

ผอ.ฝ่ายแผนขอให้คุณแทนนักวิเคราะห์มือใหม่ ลองวิเคราะห์ “ประมาณการเศรษฐกิจปี 2566” มาให้โดยทำในรูปแบบ Executive Summary เพียง 1 หน้ากระดาษขนาด A-4

แทนมาส่งผอ. เช้า เมื่อผอ.อ่านแล้ว ผอ. จึงให้ Feedback คุณแทนตามหลักการดังนี้ 

1. สิ่งที่ทำได้ดีคืออะไร

“แทนใช้ข้อมูลอ้างอิงจาก 3 สถาบันที่น่าเชื่อถือ ทำให้เห็นแบบแผนที่ชัดเจน โดยที่ทุกแห่งบอกไปในทิศทางเดียวกันว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยประมาณการว่า GDP 2566 อยู่ระหว่าง 2.7-3.0%  

2. สิ่งที่ควรเพิ่มหรือลดคืออะไร

“สิ่งที่แทนควรเพิ่มคือ ความเห็นว่าสถาบันไหนน่าจะประเมินใกล้เคียงสุด เพราะอะไร โดยไม่ต้องกลัวผิดหรือถูก เพราะผอ.จะได้เห็นศักยภาพในการคิดของแทน และจะได้แลกเปลี่ยนมุมมองกันด้วยว่าคิดเหมือนหรือต่างกันอย่างไร แทนจะได้พัฒนาดุลพินิจดีขึ้นจากการฝึกคิดและแลกเปลี่ยนความคิดกันกับผอ.ไงครับ”

3. สิ่งที่ควรเริ่มทำคืออะไร 

“ครั้งหน้า แทนอาจจะลองเปรียบเทียบข้อมูลของ 3 สถาบันนี้ย้อนหลังไป 3 ปี เพื่อดูว่า Track Record ของแต่ละแห่งเป็นอย่างไรครับ”