3.3.4 พัฒนาจุดแข็งของลูกน้องให้เก่งขึ้น

คนส่วนใหญ่สนใจแต่พัฒนาจุดอ่อน 

แต่ว่า หัวหน้าที่เก่ง จะมุ่งพัฒนาจุดแข็งของลูกน้อง

จากดี ไปสู่ยอดเยี่ยม

เขาทำอย่างไร

เขาใช้คำถามชุดนี้

1. “ความเก่ง” ที่อยากพัฒนาให้เก่งขึ้นไปอีก คืออะไร

2. ใครคือคนต้นแบบเรื่อง “ความเก่ง” นี้

3. คิดว่าปัจจุบัน “ความเก่ง” ของคุณอยู่ในระดับไหนของคนต้นแบบ (1-10)

4. หากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ คิดว่าต้องใช้เวลาเท่าไร จึงจะถึงระดับ 10 ของคนต้นแบบ 

5. หากมีการวางแผนฝึกแบบเข้มข้น คิดว่าต้องใช้เวลาเท่าไร จึงจะถึงระดับ 10 ของคนต้นแบบ 

6. คิดว่าจะต้องฝึกแบบเข้มข้นอย่างไรบ้าง

ตัวอย่าง 

สมมติว่า ผมมีลูกทีมที่โน้มน้าวเก่งคนหนึ่ง ผมจึงนำคำถามชุดนี้ไปถามเขา

เราลองมาดูกันนะครับว่า “แนวทางการใช้คำถามชุดนี้จะเป็นอย่างไร

1. “ความเก่ง” ที่อยากพัฒนาให้เก่งขึ้นไปอีก คืออะไร

– การโน้มน้าว

2. ใครคือคนต้นแบบเรื่อง “การโน้มน้าว” นี้

– ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

3. คิดว่าปัจจุบัน “การโน้มน้าว” ของคุณอยู่ในระดับไหนของคนต้นแบบ (1-10)

– 5/10

4. หากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ คิดว่าต้องใช้เวลาเท่าไร จึงจะถึงระดับ 10 ของคนต้นแบบ 

– 10 ปี

5. หากมีการวางแผนฝึกแบบเข้มข้น คิดว่าต้องใช้เวลาเท่าไร จึงจะถึงระดับ 10 ของคนต้นแบบ 

– 7 ปี

6. คิดว่าจะต้องฝึกแบบเข้มข้นอย่างไรบ้าง

– ใช้แนวทาง “คำถามพัฒนาจุดแข็ง”

แนวทาง “คำถามพัฒนาจุดแข็ง” คืออะไร

คือชุดคำถามชุดหนึ่ง ซึ่งผมพัฒนาต่อยอดมาจากหนังสือ  Go – put your strengths to work by Marcus Buckingham โดยคำตอบที่เราคิดได้ จะเป็นแนวทางสำหรับการวางแผนพัฒนาจุดแข็ง

a. คุณจะทำอะไรบ้างเพื่อพัฒนาทักษะ…. 

b. คุณควรจะอ่านหนังสือเล่มใดบ้าง  

c. คุณควรจะไปเข้าอบรมวิชาไหนบ้าง  

d. มีงานวิจัยอะไรที่ควรจะทำบ้าง

e. ใครที่คุณควรสังเกตการณ์การทำงานเขาซักระยะหนึ่ง

f. Mentors คนไหนที่ควรไปคุยด้วยเพื่อพัฒนาทักษะนี้

g. เราจะไปสอนใครได้บ้าง

เรามาดูการประยุกต์ใช้ แนวคำถามพัฒนาจุดแข็งนี้กับ “การโน้มน้าว” จากกรณีตัวอย่างเดียวกันนี้ดูครับ

a. คุณจะทำอะไรบ้างเพื่อพัฒนาทักษะ “การโน้มน้าว”

– ฝึกโน้มน้าวเพื่อนให้ไปกินข้าวร้านที่เราอยากไป

– ฝึกโน้มน้าวเพื่อนร่วมงานเมื่อเกิดความคิดเห็นแตกต่างกัน

– ฝึกโน้มน้าวลูกค้าให้ใช้บริการพิ่ม

b. คุณควรจะอ่านหนังสือเล่มใดบ้าง  

– วิธีชนะมิตรและจูงใจคน / Influence Without Authority 

c. คุณควรจะไปเข้าอบรมวิชาไหนบ้าง  

– ยังไม่มีแผนในช่วงนี้

d. มีงานวิจัยอะไรที่ควรจะทำบ้าง

– ทำบันทึกรายวันเป็นเวลาสามเดือน โดยสังเกตในแต่ละวันว่ามีใครที่เราเห็นเขาโน้มน้าวได้ดีในวันนี้ 

ด้วยการถามตัวเองว่า “เขาทำอย่างไร” แล้วบันทึกไว้เป็นแบบอย่าง

e. ใครที่คุณควรสังเกตการณ์การทำงานเขาซักระยะหนึ่ง

– ขอออกตลาดกับพนักงานขายที่โน้มน้าวแบบมืออาชีพมากที่สุด เป็นเวลา 1 สัปดาห์ 

f. Mentors คนไหนที่ควรไปคุยด้วยเพื่อพัฒนาทักษะนี้

– ขอให้รุ่นพี่ที่เคยเรียนมหาวิทยาลัยด้วยกัน ที่เป็นประธานชมรม “ฝึกพูด” เป็น Mentor ให้

g. เราจะไปสอนใครได้บ้าง

– ขอเวลาฝึกหนึ่งปี แล้วจะมาทำ Facebook Live เป็นวิทยาทาน