3.3.17 หัวหน้ารุ่นใหญ่อาจจะต้องปรับวิธีสอนคนรุ่นใหม่

มิฉะนั้น เจตนาที่ดี อาจถูกมองออกมาไม่ดีได้ (Intent vs Impact)

ปัญหาในการสื่อสารระหว่างคนที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ คือ
เจตนาที่ดีกลับถูกมองว่าไม่ดี หรือ Intent (เจตนา) ไม่ตรงกับ Impact (ผลที่เกิดขึ้น)

หัวหน้าอาจจะมีเจตนาที่ดีในการสอน แต่ว่าในสายตาของลูกน้องอาจจะมองตรงข้ามกันไปเลยก็ได้

ตารางนี้ ทำให้เราเห็นความแตกต่างของ Intent vs Impact หรือเจตนาเทียบกับผลลัพธ์ได้ดีขึ้นครับ

ทางแก้หัวหน้าควรจะทำอย่างไร

หากเรามีคนรุ่นใหม่เป็นลูกน้อง เราต้องเข้าใจและตระหนักในค่านิยมและแรงจูงใจของพวกเขา
แทนที่จะเอาค่านิยมและแรงจูงใจของเราไปยัดเยียดพวกเขา
โดยคิดว่า “เรากำลังสอนเขา” ให้ใช้วิธี “ชี้แนะ” ดังนี้ครับ

อย่าสอนว่า “เป็นคนทำงานที่
ว่านอนสอนง่าย”ให้แนะนำว่า “ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเลิศก่อน แล้วจึงเสนอแนะความคิดสร้างสรรค์”
เพราะคนอื่นจะฟังเราได้ง่ายกว่าจากการที่เขา Trust เราด้วยผลงานที่ทำได้ภายในกรอบที่มีมาก่อน

อย่าสอนว่า “เป็นคนรอบคอบ ใจเย็น”
ให้แนะนำว่า “งานที่ถนัดทำให้ดีและเร็ว
งานไม่ถนัดอาจจะต้องทบทวนหลักการและขั้นตอนให้แน่ใจก่อนส่งงาน”

อย่าสอนว่า “เคารพอาวุโส”
ให้แนะนำว่า “ให้เกียรติเพื่อนร่วมงานแบบมืออาชีพ
สำหรับคนไทยการให้เกียรติคนที่อายุมากกว่า จะได้รับความร่วมมือมากขึ้น”
(ทั้งนี้ให้ดูตามวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละที่ด้วย)

อย่าสอนว่า “ทำงานหนักทุ่มเทสุด ๆ”
ให้แนะนำว่า “ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เต็มที่
เมื่อผลงานออกมาดีและเสร็จก่อน เราจึงนำเวลาที่เหลือไปทำงาน/โครงการที่ตนเองสนใจได้

อย่าสอนว่า “เติบโตไปตามอาวุโส”
ให้แนะนำว่า “หากสนใจก้าวหน้าในองค์กรเราก็ยินดีจะชี้แนะให้
หากสนใจอยากทำในสิ่งที่คนรุ่นใหม่ทำในอนาคตให้ใช้ที่นี่ฝึกทักษะสำคัญต่าง ๆ
เช่น ทักษะเรื่องคน ยุทธศาสตร์ การสื่อสาร การบริหารเวลา
การบริหารการเปลี่ยนแปลง การโน้มน้าว การจูงใจ ฯลฯ
เมื่อถึงเวลาที่โอกาสมา คนอื่นก็จะมอบโอกาสนั้นให้เรา

คำพูดที่คนรุ่นใหญ่ เคยถูกสอนมาในอดีต
บางส่วนอาจไม่เวิร์คแล้วสำหรับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน
เราจึงควรปรับภาษาของเราให้ถูกจริตพวกเขามากขึ้น
อย่าเอาตัวเราเป็นมาตรฐานในบริบทใหม่และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปครับ