3.3.15 เลิกทำ Exit Interview แล้วมาทำ Stay Interview กันดีกว่า

เมื่อมีคนมาลาออก หลายแห่งมี Exit Interview 

คือการสัมภาษณ์ว่าสาเหตุอะไรที่เขาลาออก

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาองค์กร

จากประสบการณ์ Exit Interview มักไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง

สาเหตุที่คนลาออกจากงาน มักจะไม่ได้มีสาเหตุเดียว

ส่วนใหญ่จะมาจากหลาย ๆ สาเหตุประกอบกัน เช่น

ก. หัวหน้า: บริหารคนไม่เก่ง/ไม่ยุติธรรม/ไม่สอนงาน/EQ ต่ำ

ข. เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้

ค. เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้

ง. ไม่ถนัดในงานที่ทำ

จ. รายได้น้อย 

ฉ. มีที่อื่นมาเสนอด้วย ผลตอบแทน/ตำแหน่ง ดีกว่า

ช. เดินทางลำบาก

จ. ไม่ตรงกับเป้าหมายในชีวิต

สาเหตุใหญ่คือ คนลาออกเพราะหัวหน้างาน

แต่ว่าคนส่วนใหญ่มักจะไม่บอกเพราะ…

– เกรงใจ อนาคตต้องเจอกันอีก

– กลัวเขาตามไปแก้แค้น/วันหลังเขาจะให้ Reference ที่ไม่ดี

– กลัวเขาโกรธ

ฯลฯ

จึงมักยกเหตุผลเรื่องรายได้และผลตอบแทนมาอ้าง

มันง่ายดี และคนมักไม่เซ้าซี้

หลายคนกลัวจะโดนรั้งมาก ถึงกับใช้ครอบครัวมาอ้าง

ไปดูแลพ่อแม่ ปรากฎว่าอีกสามเดือนไปโผล่ที่คู่แข่ง

แล้วเราจะทำอย่างไรดี

อย่ารอให้เขาออกเลยครับ

ถามเขาว่า “เราจะทำอย่างไรให้คุณอยู่กับเราอย่างมีความสุขและได้ผลงาน”

ด้วยแบบสอบถาม Stay Interview ครับ

ในหนังสือ LOVE’EM or LOSE:EM ของ Beverly Kaye and Sharon Jordan-Evan ได้แนะนำแนวคิดเรื่อง Stay Interview ไว้อย่างน่าสนใจ

ผมได้นำแนวคิดนี้ และมาผนวกกับประสบการณ์ที่เห็นคนเก่ง ๆ จำนวนมากว่าเขาเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับคนทำงาน

ได้มาเป็นชุดคำถามที่ช่วยให้เราปลดปล่อยศักยภาพแต่ละคนได้เต็มที่ดังนี้ครับ

1. มอบหมายงานกรณีไม่ปกติ ควรสื่อสารอย่างไร

2. การเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด ควรจะสื่อสารอย่างไร

3. การจูงใจที่ตรงกับเขาเป็นพิเศษคืออะไร

4. เมื่อผิดพลาดโดยเขาไม่ทราบ หัวหน้าควรสื่อสารอย่างไร

5. งานที่มีความถนัดคืออะไรบ้าง  ระบุให้เฉพาะเจาะจง

6. งานที่ไม่ถนัดคืออะไรบ้าง / ควรมอบหมายงานที่ไม่ถนัดอย่างไร

7. สอนงานใหม่แบบไหน ที่ถูกจริตการเรียนรู้ที่สุด

8. ถูกติดตามงานแบบไหนที่สบายใจด้วยมากที่สุด  

วิธีการประยุกต์ใช้ชุดคำถามนี้คือ

ก. อธิบายกับเขาทีละคน/ทั้งกลุ่ม ว่า เราต้องการเข้าใจแต่ละคน เพื่อให้เขาทำงานอย่างมีความสุขและได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ ตามจริตของแต่ละคน

ข. ให้ชุดคำถามนี้ล่วงหน้า ให้เวลา 2-3 วัน ขอให้แต่ละคนลองกับไปเตรียมคำตอบ พร้อมตัวอย่างที่ผ่านมา

ค. นัดคุยแต่ละคน โดยใช้เวลาคนละ 45-60 นาที

ง. หลังจากนั้น เราพยายามปฎิบัติกับแต่ละคนตามข้อมูลที่ได้มา แล้วติดตามผล หากบริษัทมี Employee Emgagement Survey / Employee Experience Survey ก็ลองติดตามผล ก่อน/หลัง เทียบกันดูครับ