3.2.7 ผู้บริหารระดับกลางหัวใจสำคัญขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้การบริหารจัดการต้องใช้สติปัญญาความสามารถของคนทั้งองค์กรอย่างเต็มที่ ภายใต้กรอบความคิดใหม่ ซึ่งไม่สามารถคิดและทำแบบเดิม ๆ ได้

องค์กรส่วนใหญ่ ผู้บริหารระดับสูงมักเข้าใจสถานการณ์ จึงวางแผนและตัดสินใจภายใต้กรอบความคิดใหม่

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้บริหารระดับสูงจะเก่งเพียงใด ใน “บริบทใหม่” การวางแผนและการตัดสินใจคงมีถูกบ้างและผิดบ้าง ซึ่งอาจจะผิดมากกว่าถูกเยอะหน่อย

ที่จริงแล้ว ในบริบทแบบเดิม ผู้บริหารก็ตัดสินใจในเรื่องสำคัญถูกบ้างผิดบ้างเป็นธรรมดา เพียงแต่ว่าโอกาสผิดอาจจะไม่มากและเสียหายสูงนัก เพราะเขาประเมินสภาวะแวดล้อมได้จากบริบทเดิมที่พอคาดการณ์ได้บ้างเและยังมีความผันผวนไม่มากนัก

ในบริบทใหม่ การวางแผนและตัดสินใจ จึงคาดการณ์ได้ยากว่าจะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ดีเพียงใด

ในขณะที่ผลสัมฤทธิ์ที่ดีนั้น นอกจากแผนดีและตัดสินใจถูกแล้ว ยังต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการนำแผนไปสู่การปฎิบัติ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของผู้บริหารระดับกลาง หรือ ผู้บริหารระดับต้น 

และเมื่อลงรายละเอียดระดับปฎิบัติการ ก็จะต้องมีการใช้ดุลพินิจและการตัดสินใจของผู้บริหารระดับกลาง/ต้นมากกว่าในอดีต

เพราะอะไรหรือครับ

เพราะว่า… นโยบาย ระบบ ระเบียบ ขั้นตอนการทำงาน และโครงสร้างองค์กร ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับสถานการณ์แบบนี้ ในขณะเดียวกันก็เป็นเหตุการณ์ที่ใหม่มากซึ่งไม่เคยมีใครมีประสบการณ์มาก่อน

คราวนี้มาถึงปัญหาสำคัญแล้วครับ…

ในองค์กรที่ผู้บริหารระดับกลาง/ต้น ไม่เคยได้ฝึกการใช้ดุลพินิจในภาวะปกติ เพราะว่าผู้บริหารระดับสูงนั้นใช้รูปแบบบริหารแบบ Command & Control มาโดยตลอด กล้ามเนื้อการตัดสินใจแทบไม่เคยได้ใช้งาน

ก็คงเป็นการยากที่เราจะหวังให้เขาใช้ดุลพินิจที่ดีด้วยความมั่นใจในภาวะวิกฤติเช่นนี้ได้

เราจึงมีโอกาสสูงที่จะเห็นผู้บริหารระดับกลาง/ต้น ลักลั่นที่จะทำตามแผนและการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูง เพราะมีหลายเรื่องในระดับปฎิบัติการที่ไม่มีแนวทางมาให้ ทำให้เขาต้องเริ่มใช้ดุลพินิจ 

ซึ่งหมายความว่า หากเขาใช้ดุลพินิจผิด เขาอาจจะต้องรับผิดชอบในผลลัพธ์ด้วยใช่ไหม

เพราะความไม่เคยใช้/ไม่คุ้นชิน ผนวกกับความกลัวผลที่จะตามมา

ดังนั้น พวกเขาอาจจะเลือก…

1. ทำตามที่สั่งทั้งหมด แม้ว่าจะไม่เข้าใจ

2. ทำไปตามที่เขาเข้าใจบางส่วน และเลือกที่จะไม่ทำในเรื่องที่ไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นด้วย

3. ไม่ทำอะไรเลย เพราะคิดว่าจะได้ไม่ผิดเลย

4. ทำแบบเดิมที่เคยทำ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับวิธีใหม่เลย แต่ทำเพราะคุ้นเคยหรือคิดว่าปลอดภัยดี

5. ทำตามแผนที่ได้รับมอบหมายมาด้วยความเข้าใจและเต็มใจ และเมื่อถึงจุดที่เขาจะต้องใช้ดุลพินิจ เขาก็เลือกใช้ดุลพินิจที่ดี ซึ่งอาจจะถูกบ้างและผิดบ้าง แต่กล้ารับผิดชอบ

ในฝันเราอยากให้เขาเป็นแบบทางเลือกที่ 5. 

แต่ในความเป็นจริง มีโอกาสสูงมากที่เขาอาจเลือกทำในแบบ 1. – 4. 

ทางแก้คืออะไร

1. ตระหนักในสภาพการณ์เช่นนี้ก่อน

2. สื่อสารให้ชัดเจนเท่าที่จะทำได้

3. อธิบายให้เขาเข้าใจว่า ที่เราตัดสินใจไปเพราะอะไร และอาจจะถูกและผิดได้ และพร้อมปรับตามสถานการณ์

4. อธิบายให้เขาเข้าใจว่า เราคาดหวังให้เขาตัดสินใจ และยอมรับในการตัดสินใจที่อาจพลาดได้ เพียงแต่ขอให้เขารีบสื่อสารกลับมา แล้วมาร่วมกันหารือเพื่อปรับแผนตามสถานการณ์

5. ติดตามผลเป็นระยะ ให้กำลังใจสิ่งที่เขาทำดี ช่วยคิดเมื่อเขาพลาด กรุยทางเมื่อเขาตัน

6. เราอาจจะต้องหยุดงานที่เป็นงาน Routine อื่นชั่วคราว แล้วมาให้ความสำคัญดับไฟนี้ก่อน จนกว่าไปจะมอด