3.2.6 พี่ ๆ น้อง ๆ อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น

คนไทยเวลาทำงานร่วมกัน เรามักจะมีการทำงานแบบพี่ ๆ น้อง ๆ

เราให้เกียรติ และเคารพในความอาวุโส กันมาก

คนที่อายุมากกว่า ประสบการณ์มากกว่า ตำแหน่งสูงกว่า

จึงมักจะไม่มีคนแสดงความเห็นต่าง จากคนที่อาวุโสน้อยกว่า

แม้ว่าคนอาวุโสน้อยกว่าอาจมีความคิดเห็นที่ตรรกดีกว่า

ความคิดเห็นคือดุลพินิจ

ดุลพินิจคือการตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่มี

ดุลพินิจจึงมักไม่สามารถชี้ขาว/ดำ ณ. เวลาที่ตัดสินใจ

เป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องพิสูจน์กัน

หลายครั้งก็อาจจะต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่ง

จึงเป็นการยาก ที่จะบอกได้ว่า “ดุลพินิจ” ใครดีที่สุด ณ. เวลานั้น

จึงต้องมีการถก มีการท้าทายตรรก มีการอภิปรายกัน แบบเปิดเผยเท่าที่จะทำได้

ข้อเสนอที่มีตรรกที่ฟังแล้วน่าเชื่อมากที่สุดจึงจะได้รับการยอมรับ

แต่หากเราให้ความสำคัญเกินควรในเรื่อง “อาวุโส”

องค์กรจะไม่ขยับไปไหนมากนัก

เพราะคนที่อาวุโสมากกว่าก็มักจะยึดตรรกที่เคยเวิร์คมาก่อนในอดีตเป็นส่วนใหญ่

แต่ว่าการทำงานยุคนี้ อนาคตคาดการณ์ได้ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ

หมายความว่า “อดีตที่เคยเวิร์ค” ของผู้อาวุโส อาจเวิร์คน้อยลง

ผู้ที่มีอาวุโสมากกว่า จึงต้องแสดงให้คนอาวุโสน้อยกว่าเห็นว่า

“ตอนนี้ผู้อาวุโสไม่ได้ยึดติดอัตตาในอดีตแล้ว”

วิธีการที่ผู้มีอาวุโสสามารถทำได้คือ…

รับฟังมากขึ้น ด้วยการเกริ่นว่า “ตอนนี้อะไรก็เปลี่ยนไป ประสบการณ์เดิมของผมอาจไม่เวิร์คเท่าที่ควรในอนาคต อยากรับฟังความเห็นของคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองใหม่ ๆ บ้าง เชิญครับ…” แล้วใจเย็นมาก ๆ ที่จะรอคอยให้คนแสดงความคิดเห็น

หากเกิดมีคนที่ชอบอวย “ผู้อาวุโส” อาจกล่าวขึ้นมาในทำนองว่า “พวกเราขอรับฟังความคิดของท่านก่อนครับ เพราะดุลพินิจและปัญญาของท่านมีคุณค่ามากครับ”

ผู้อาวุโสต้องมีสติ อย่าหลงระเริงไปกับการอวย ด้วยการชี้แจงไปว่า “ขอบคุณที่ให้เกียรติครับ ถ้าจะแสดงความให้เกียรติกันจริง ขอให้กล้าแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับบริษัทมากที่สุด โดยไม่ต้องกังวลใจมากไปว่าเดี๋ยวผู้ใหญ่จะหาว่าไม่เคารพอาวุโสกัน”

ต้องเริ่มที่ผู้อาวุโสก่อนครับ แล้วเราจะเป็นแบบพี่ ๆ น้อง ๆ กัน อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น ครับ