1.10 ความตระหนักรู้ในตัวเอง

คือการที่เราแต่ละคนมีความตระหนักรู้ในตัวเองว่า
คำพูด/พฤติกรรม/การกระทำ/การแสดงออกของเรา
มีผลต่อคนอื่นอย่างไร

เพื่อโน้มน้าวคนอื่นให้เป็นไปตามความคาดหวังของเราในแบบที่ถูกจริตเขา (Win-Win)

วิธีการ

  1. เข้าใจธรรมชาติของเราว่า เรามี ตัวตน (Attribute) ความเชื่อ ความคิด ค่านิยม แรงจูงใจ เป้าหมาย อย่างไร
  2. สังเกตธรรมชาติคนอื่นว่า เขามี ตัวตน (Attribute) ความเชื่อ ความคิด ค่านิยม แรงจูงใจ เป้าหมายอย่างไร
  3. วางแผนที่จะแสดงออกอย่างเหมาะสม ให้สอดคล้องความคาดหวัง และบริบทวัฒนธรรมองค์กรแต่ละแห่ง
  4. พยายามแสดงออก ให้สอดคล้องความคาดหวัง ตามบริบทวัฒนธรรมองค์กรนั้น ๆ
  5. ประเมินผลในการสนทนาที่สำคัญแต่ละครั้ง ว่าเราทำได้เหมาะสมเพียงใด
  6. ปรับปรุง ความคิด ความเข้าใจ และการแสดงออก ในครั้งต่อไปให้ดีขึ้น

ตัวอย่าง

พอลเป็นซีอีโอที่มีความรับผิดชอบสูง ปกติเขาจะเป็นคนสุภาพ แต่เมื่อใดก็ตามที่ทีมงานคนใดทำงานพลาด ในเรื่องที่เคยทำมาแล้ว และพอลทักท้วง หากทีมงานยกข้อแก้ตัวแบบน้ำขุ่น ๆ เขามักจะทนไม่ไหว และตวาดออกไปแบบก้าวร้าว

เรามาดูการประยุกต์ใช้หลักการข้อนี้กัน

  1. พอล ลองวิเคราะห์ตัวเองออกมาพบว่า ธรรมชาติเขาเป็นคน รับผิดชอบสูง ต้องการผลสำเร็จในระดับยอดเยี่ยม ให้ความสำคัญกับการทำตามสัญญา เรียนรู้จากข้อผิดพลาด ไม่ทำผิดซ้ำสอง ซื่อสัตย์ พอลมีแรงจูงใจอยากทำให้บริษัทเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง และเขาเป็นคนสุภาพ ดังนั้น หากใครทำงานสอดคล้องกับสิ่งเหล่านี้ เขาจะพึงพอใจ หากทำไม่สอดคล้องเขาจะไม่พอใจ และหากไม่สอดคล้องทีละหลายข้อก็จะโกรธมากจนลืมตัวแสดงความเกรี้ยวกราดออกไป
  2. พอลลองวิเคราะห์สมศักดิ์ ที่เขาเพิ่งดุออกไปอย่างรุนแรง พบว่า สมศักดิ์เป็นคนที่ถนัดการพูดคุยกับลูกค้ารายใหญ่มาก ทำงานดี รับผิดชอบสูง ลูกค้าประทับใจ แต่เขาไม่ถนัดงานเอกสาร มักจัดทำรายงานพลาดบ่อย ๆ เพราะรีบทำเร็วเพื่อให้ส่งงานก่อนเวลา นอกจากนี้ยังเป็นคนที่รักษาหน้ามาก แม้รู้ว่าผิดก็จะไม่ยอมรับในทันที แต่จะมาบอกภายหลังว่าขอโทษที่ทำผิดเสมอ
  3. เมื่อพอลเข้าใจแล้ว ทุกครั้งที่ได้รับรายงานจากสมศักดิ์ ก่อนจะอ่าน เขาจะตั้งสติก่อนว่า เขาจะแสดงออกอย่างไร เช่น หากมีคำผิด เขาจะไม่โกรธสมศักดิ์ เขาจะบอกว่าขอให้ช่วยแก้ไขตรงไหน โดยไม่ทำให้เขาเสียหน้ามาก สำหรับการคุยกับสมศักดิ์ครั้งแรก พลออาจจะต้องฝึกแสดงออกในใจก่อน
  4. แล้วก็สนทนากับสมศักดิ์ไปตามแผน
  5. เมื่อจบการสนทนาแต่ละครั้งกับสมศักดิ์ พอลจะประเมินว่า สิ่งที่เขาทำได้ดีคืออะไร สิ่งที่เขาพลาดคืออะไร
  6. ครั้งต่อไป เขาจะพยายามนำข้อมูลที่เรียนรู้มา เพื่อพัฒนาการแสดงออกในอนาคต ด้วยความตระหนักรู้ในตัวเองมากขึ้น