บทเรียนเรื่อง “คน”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมไปร่วมงานดินเนอร์กับหอการค้าต่างชาติแห่งหนึ่ง ก่อนเริ่มมีค๊อกเทลเพื่อให้ผู้ร่วมงานทำความรู้จักกัน ผมมีโอกาสคุยกับอัลเฟรด

เมื่อดูนามบัตรของผมเขาพูดว่า “คุณเกรียงศักดิ์ ผมอ่านคอลัมน์ของคุณเป็นประจำ คุณทำงานเขียนและเป็นโค้ชมานานกี่ปีแล้วครับ”

“ผมเป็นคอลัมน์นิสต์ให้บางกอกโพสต์มา 11 ปี และทำงานโค้ชมาแล้ว 10 ปี”

“คอลัมน์ของคุณมักเกี่ยวกับการเชื่อมช่องว่างระหว่างบุคคล รูปแบบที่คนส่วนมากมีเหมือนกันคืออะไร และคุณเรียนรู้อะไรบ้าง”

“เป็นคำถามที่ดีมากครับ สิ่งต่าง ๆ ที่ผมสังเกตเกี่ยวกับคนคือ

ทุกคนมีความเป็นเอกลักษณ์ของตน แม้รูปร่างหน้าตา การแต่งกาย การพูดคุย จะคล้ายกันแต่ภายในจิตใจนั้นต่างกันอย่างมาก เหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่มีรากฐานใหญ่โตซ่อนอยู่ใต้น้ำ”

“ขยายความหน่อยครับ”

“จิตของเราเป็นผลจากสององค์ประกอบคือ ประสบการณ์ และการตีความ

ประสบการณ์ของเรามาจาก พื้นฐานครอบครัว การศึกษา สังคม ศาสนา และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

การตีความหมายถึง วิธีที่เรามองโลก และให้ความหมายแก่สิ่งต่าง ๆ

เมื่อผสมสององค์ประกอบเข้ากับความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ทำให้เราคนมองโลกในแบบเฉพาะของตนเอง

บทเรียนแรก คือ อย่าทึกทักว่าคุณเข้าใจผู้อื่น พยายามเรียนรู้เกี่ยวกับเขาก่อนจากนั้นสื่อสารในแนวที่ถูกจริตกับเขา”

“ครับ”

“สมองคนเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ ‘อยู่กับปัจจุบัน’ สมองเป็นเครื่องมือในการเอาตัวรอด ช่วยเราตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไปโดยเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว

ขณะตื่น สมองรับข้อมูลจากสัมผัสทั้งห้าคือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส

ข้อมูลที่ได้จากทุกสัมผัสจะกระตุ้นประสบการณ์เดิมที่มีในชีวิตเรา – ทำให้เราติดอยู่กับอดีต เช่น ขณะผมขับรถแล้วเปิดเพลง โฮเต็ลแคลิฟอร์เนีย ของเดอะอีเกิ้ล ผมมักนึกย้อนไปสมัยที่ยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่

เมื่อเราจับคู่ประสาทสัมผัสและประสบการณ์ แล้วเราตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไป – นี่คือการอยู่กับอนาคต

สมองทำงานเช่นนี้ในยุคที่เราพยายามเอาชีวิตรอดในดึกดำบรรพ์”

“หมายความว่าอย่างไรครับ”

“โดยวิวัฒนาการ สมองมนุษย์พัฒนามาเป็นล้าน ๆ ปี มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราอยู่รอดในยุคก่อนประวัติศาสตร์

บทเรียนที่สอง เราควรใส่ใจเต็มที่ขณะที่ผู้อื่นพูด อยู่กับปัจจุบัน การทำแบบนี้ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจผู้อื่นได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และในขณะเดียวกันก็อย่าลืมบทเรียนแรกด้วยว่าเราไม่สามารถจะเข้าใจโลกของอีกคนได้ทั้งหมด”

อัลเฟรดพยักหน้าเข้าใจ ผมจึงพูดต่อ

“บทเรียนที่สาม คนที่ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มีสติ รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เขารู้ว่าตนเองมีแนวทาง เป้าหมาย และค่านิยมเป็นเช่นไร เขารู้ว่าทำไมตนจึงรู้สึกไม่พอใจหรือมีความสุขจากพฤติกรรมของผู้อื่น เขาเรียนรู้การเลี่ยงที่จะตอบโต้พฤติกรรมของผู้อื่นแต่ตอบสนองที่เป้าหมาย และหลักการของตนแทน แม้บางครั้งเขาจะต้องทำตัวต่างไปจากแนวทางที่ตนถนัด

บทเรียนที่สี่ เราทุกคนมีเหตุผลที่ดีในการทำสิ่งต่าง ๆ ดังนั้นถ้ายิ่งเราพยายามที่จะพิสูจน์ว่าเหตุผลของผู้อื่นไม่สมเหตุสมผลมากเท่าไหร่ เขาก็จะต่อต้านเรามากเท่านั้น พยายามทำความเข้าใจว่าทำไมเขาจึงทำในสิ่งที่เขาทำ โดยธรรมชาติแล้ว เราเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เราทำนั้นดีที่สุดสำหรับตัวเรา อย่าพยายามเอาชนะเหตุผลของพฤติกรรมต่าง ๆ และให้ลองโน้มน้าวที่ความเชื่อเขาแทน”

“ช่วยอธิบายหน่อยครับ”

“เช่น ผมบอกคุณว่าผมมีลูกน้องที่มีผลงานไม่ดี ผมไม่รู้จะทำอย่างไรดีหลังให้ข้อมูลย้อนกลับแล้วหลายครั้ง คุณจึงแนะนำให้ผมเลิกจ้างเขาโดยตามระเบียบของกฏหมายแรงงาน

ผมคงจะบอกคุณว่าผมทำไม่ได้เพราะผมสงสารเขาและครอบครัว

ถ้าคุณอยากให้ผมเลิกจ้างอย่างเต็มใจ คุณควรพูดว่าเขาไม่เหมาะกับงานนี้ การเลิกจ้างเป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจ เมื่อคุณอธิบายว่า ถ้าเจ้าตัวก็รู้ว่าตนเองผลงานไม่ดี เขาก็เป็นทุกข์ ดังนั้นการเลิกจ้างจึงเป็นการปลดทุกข์ไม่ใช่การลงโทษ

ถ้าคุณสื่อสารกับผมด้วยแนวทางที่ผมถนัด ก็มีความเป็นไปได้ที่ผมจะเลิกจ้างเขาโดยรู้สึกผิดน้อยลง”