การโค้ชจากจุดแข็ง

สิ่งที่ทำได้ดี พัฒนาให้เป็นจุดแข็ง

strengths-based coaching
มุ่งเน้นให้ถูกจุด
พัฒนามากกว่า
การโค้ชจากจุดแข็ง

หน้าแรก > เกี่ยวกับเดอะโค้ช > การโค้ชจากจุดแข็ง

โค้ชจากจุดแข็ง

การโค้ชจากจุดแข็ง (Strengths-based Coaching) คือการมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่คนอื่นทำได้ดีแทนที่จะมุ่งเน้นไปที่จุดอ่อนของพวกเขา โค้ชจุดแข็งใช้ความเข้าใจในพรสวรรค์ของตนเพื่อชี้แนะผู้อื่น และพวกเขารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ช่วยให้ผู้อื่นค้นพบและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีที่สุด




งานวิจัยแกลลัพ

จากผลการวิจัยของแกลลัพ  โอกาสที่เราจะเจอคนที่มีแบบแผนทางความคิดที่เหมือนเรามีเพียง 1 ใน 33 ล้านคนเท่านั้น  ดังนั้นเราแต่ละคนจึงมีรูปแบบการทำงาน  ภาวะผู้นำ  และการตัดสินใจที่เป็นเอกลักษณ์ของเราแต่ละบุคคล

ความเห็นของเดอะโค้ช

จากประสบการณ์การโค้ชที่ผ่านมาของผม  ผมพบว่าการโค้ชที่จุดแข็งของโค้ชชี่  ทำให้เขามีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าการโค้ชที่จุดอ่อน 

โค้ชเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย

จากสถิติของผม  หากเรามุ่งพัฒนาจุดแข็ง  ผลลัพธ์คือโค้ชชี่จะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมากมีสูงถึง 72%  ในขณะที่การโค้ชที่มุ่งแก้จุดอ่อนของโค้ชชี่นั้น  ผลลัพธ์ที่โค้ชชี่จะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมากนั้นมีเพียง 18%  หรือต่างกันถึง 4 เท่าตัว

เพราะอะไรหรือครับ

เพราะว่าเราแต่ละคนเปลี่ยนแปลงยาก  เวลาเราพูดถึงเรื่องความถนัดในการทำงานของเราแต่ละคนนั้น  เรามีความเป็นปัจเจกบุคคลสูงมาก  เพราะพื้นฐานทางสมอง  การเลี้ยงดู  สภาพแวดล้อมทางสังคม  การศึกษา  วัฒนธรรม  และประสบการณ์  ของแต่ละคนที่แตกต่างกัน

จากผลการวิจัยของกัลลัป  โอกาสที่เราจะเจอคนที่มีแบบแผนทางความคิดที่เหมือนเรามีเพียง 1 ใน 33 ล้านคนเท่านั้น  ดังนั้นเราแต่ละคนจึงมีรูปแบบการทำงาน  ภาวะผู้นำ  และการตัดสินใจที่เป็นเอกลักษณ์ของเราแต่ละบุคคล

ปัญหาคือนายและลูกน้องส่วนใหญ่  อยากให้ผู้บริหารของตนมีรูปแบบหรือสไตล์ที่คล้ายตนเองให้มากที่สุด  พยายามเปลี่ยนคนพูดน้อยให้พูดเยอะ  เปลี่ยนคนที่นำเสนอไม่เก่งให้นำเสนอเก่ง  เปลี่ยนคนที่เกรงใจเป็นคนที่ตรงไปตรงมา  ซึ่งหลังจากพยายามมาระยะหนึ่งก็จะพบว่าทำได้ยาก  และคิดว่าโค้ชน่าจะทำได้

แต่ว่าเราแต่ละคนที่ประสบความสำเร็จขึ้นเป็นผู้บริหารนั้นก็เพราะใช้จุดแข็งของตนสร้างความสำเร็จขึ้นมาโดยที่พกะาจุดอ่อนบางเรื่องติดมาด้วย  ในขณะที่นายมักจะมองข้ามจุดแข็งและพยายามที่จะไปแก้จุดอ่อน  ซึ่งการคิดเปลี่ยนแปลงจุดอ่อนนั้นยากและใช้พลังมากสำหรับโค้ชและโค้ชชี่  ผลลัพธ์จึงแตกต่างกันตามสถิติที่กล่าวมา

ผมพยายามมุ่งเน้นการโค้ชที่จุดแข็ง  หากมีงานที่ต้องโค้ชเพื่อแก้จุดอ่อนแล้วปัจจุบันส่วนใหญ่ผมจะปฎิเสธ  หรือหากจะรับก็จะลดความคาดหวังของนายและโค้ชชี่ลงมาอย่างมาก

สำหรับการเรียนรู้ของเราในครั้งนี้  ผมจะขอเสนอแนวทางการพัฒนาการโค้ชจากจุดแข็งเป็นหลักครับ

เราลองมาดูกรณีศึกษาเรื่องการโค้ชจากจุดแข็งกันดูครับ

กรณีศึกษา

การโค้ชจากจุดแข็ง


“คุณดิลกวันนี้เราจะคุยเรื่องอะไรกันดีครับ”

“ผมอยากให้โค้ชช่วยพัฒนาจุดแข็งของผมครับ”

“คุณมีจุดแข็งอะไรบ้างครับ”

“ผมถนัดเรื่องการนำเสนอ  การจัดการความขัดแย้ง  และการหาคนเก่งมาทำงานด้วยครับ”

“ในสามเรื่องนี้  คุณอยากนำเรื่องไหนมาพัฒนาต่อยอดดีละครับ”

“เรื่องการนำเสนอครับ  เพราะในสองสามเดือนข้างหน้า  ผมต้องเดินสายระดมเงินเพิ่มทุน  ผมต้องออก Roadshow ไปหลายที่เลยครับ  เรื่องการนำเสนอสำคัญมากสำหรับองค์กรเรา”

“คุณดิลก  จากหนังสือ Go Put Your Strengths to Work ของ Marcus Buckingham  เขาแนะนำแนวทางการพัฒนาจากจุดแข็ง  โดยใช้คำถามเหล่านี้ช่วยครับ

  1. คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพัฒนาจุดแข็งนี้
  2. คุณควรจะอ่านหนังสือเล่มใดบ้าง
  3. คุณควรจะไปเข้าอบรมวิชาไหนบ้าง
  4. มีงานวิจัยอะไรที่ควรจะทำบ้าง
  5. ใครที่คุณควรสังเกตการณ์การทำงานเขาซักระยะหนึ่ง
  6. ใครบ้างที่คุณควรจะไปคุยด้วย  เพื่อให้เขาชี้แนะให้คุณได้พัฒนาจุดแข็งข้อนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  (เช่น  เพื่อน  ครู  หัวหน้า  พี่เลี้ยง)

เราลองมาใช้แนวคำถามเหล่านี้เพื่อวางแผนการพัฒนาจุดแข็งของคุณกัน  เริ่มจากข้อแรกเลยครับ   คุณดิลกจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพัฒนาจุดแข็งนี้”

“ผมจะนำคลิปที่ผมเคยนำเสนอมาดู  แล้วระบุสิ่งที่ควรปรับปรุงที่มีนัยสำคัญหนึ่งเรื่องออกมา  แล้วผมจะลงมือแก้ไขจุดนั้น  แล้วทดลองนำเสนอสไลด์งานที่ผมต้องนำไป Roadshow ด้วยการอัดวิดีโอไว้แล้วประเมินตนเอง”

“ดีครับ  ไปข้อสองเลยนะครับ  คุณดิลกคิดว่าควรจะอ่านหนังสือเล่มใดบ้างที่จะพัฒนาการนำเสนอให้ดียิ่งขึ้น”

“ผมเคยอ่านเรื่อง Presenting to win ของ Jerry Weissman  เมื่อสิบปีก่อน  ผมจะนำมาอ่านทบทวนใหม่อย่างละเอียดเลยครับ”

“มีแผนการอ่านอย่างไรครับ”

“วันละหนึ่งชั่วโมงครับ  ผมคิดว่าสัปดาห์หนึ่งเจ็ดชั่วโมงจบแน่ครับ”

“อ่านอย่างเดียวอาจจะจำได้ไม่ดีพอนะครับ  มีแผนการอะไรเสริมไหมครับ”

“ขอบคุณที่เตือนสติครับโค้ช  ผมจจะอ่านแล้วทำบันทึกประเด็นหลักๆในแต่ละบทไว้ด้วยละกันครับ”

“คุณดิลกคิดว่าจะไปเข้าอบรมอะไรบ้างเพื่อยกระดับการนำเสนอดีครับ”

“คิดว่าไม่ครับโค้ช  ผมอบรมเรื่องนี้มาเยอะแล้ว  ผมว่าหัวใจอยู่ที่การฝึกฝน  ข้อนี้ผมผ่านครับ”

“ถ้างั้นไปข้อต่อไปกัน  คุณดิลกคิดว่าจะทำการวิจัยอะไรบ้างเกี่ยวกับการนำเสนอนะครับ”

“ผมอาจจะใช้วิธีหาดูคลิปการนำเสนอระดับโลกจากยูทูบครับ  เช่นการนำเสนอของ  สตีฟ จ็อบส์  อัล กอร์  และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง”

“ใครที่คุณดิลกควรสังเกตการณ์การนำเสนอของเขาซักระยะหนึ่งดีครับ”

“ท่านประธานบริษัทผมที่สำนักงานใหญ่นิวยอร์คนำเสนอเก่งมากครับ  ผมจะนำคลิปการ Roadshow ของท่านมาดูและศึกษาครับ”

“ข้อสุดท้าย ใครบ้างที่คุณดิลกควรจะไปคุยด้วย  เพื่อให้เขาชี้แนะจุดแข็งข้อนี้ของคุณให้ดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

“ผมจะขอคำแนะนำจากคุณป้อซีอีโอบริษัทโฆษณาที่เราใช้บริการด้วย  เธอนำเสนอเก่งมากคนหนึ่งทีเดียว  เมื่อสองปีก่อนตอนที่เราเลือกบริษัทโฆษณาเธอนำเสนอชนะคู่แข่งเธอแบบขาดลอยเลย  ผมจะขอนัดทานข้าวกับเธอซักสองครั้งเพื่อขอให้เธอแนะนำเทคนิคการนำเสนอให้ผม”

“เราได้แนวคิดเยอะเลยคุณดิลก  ผมเสนอว่าคุณดิลกใช้เวลาสักพักหนึ่งทำเป็นแผนงานให้เห็นเป็นรูปธรรมจะดีไหมครับ”

ผ่านไปสักครู่  คุณดิลกเสนอร่างแผนงานของเขาในหนึ่งเดือนข้างหน้าดังนี้

กิจกรรมความถี่เริ่มสิ้นสุด
1. นำคลิปที่เคยนำเสนอมาดู แล้วระบุ 1 เรื่องที่ควรปรับปรุง1 ชั่วโมง1/21/2
2. ซ้อมใช้สไลด์ Roadshow จริง + วิดีโอเพื่อประเมินตนเอง1ครั้ง/สัปดาห์5/228/2
3. อ่าน Presenting to win และสรุปวันละ 1 ชั่วโมง7 วัน3/210/2
4. ดูคลิปการนำเสนอยูทูบสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง1ครั้ง/สัปดาห์1/228/2
5. ดูการนำเสนอท่านประธานฯ Roadshow2 ครั้ง10/217/2
6. ทานข้าวกับซีอีโอบ.โฆษณา เพื่อขอคำแนะนำ2 ครั้ง15/228/2

“ยอดเยี่ยมมากเลยครับคุณดิลก”