ความเป็นไทยกับความเป็นทีม

ปัญหา

ในงานที่ซับซ้อน และต้องใช้ความรู้ในการจัดการ หรือที่เราเรียกว่า Knowledge Workers นั้น ผมมีข้อสังเกตว่า “คนไทยส่วนใหญ่ทำงานเป็นทีมได้แบบพอผ่าน”

น้อยครั้งมาก ที่จะเห็นการทำงานเป็นทีมแบบยอดเยี่ยม

อาจจะมีบางทีมที่เริ่มต้นแบบพอไปได้ หลังจากทำงานเป็นทีมไประยะหนึ่งก็ปรับตัวขึ้นมาเป็นทีมที่ดี

แต่มีน้อยทีมมาก ที่พัฒนาการทำงานเป็นทีมที่ดีไปสู่จุดที่เป็นทีมที่ยอดเยี่ยม

นิยามของคำว่า “ทีมที่ยอดเยี่ยม” ในความเห็นผม คือ 

“ทีมที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน มีพันธกิจหลักที่สอดคล้องวิสัยทัศน์ มียุทธศาสตร์ที่ดี 

มีค่านิยมร่วมกันที่คนในทีมเคารพและปฎิบัติ 

และสามารถทำให้ทุกคนได้มีโอกาสใช้จุดแข็งสร้างผลงานให้ทีม 

โดยทีมยอดเยี่ยมจะได้ทั้งผลลัพธ์ที่ดีและความสัมพันธ์ที่ดี”

สาเหตุ

เท่าที่เห็นว่าคนไทยทำงานเป็นทีมได้ไม่ดีเท่าที่ควร น่าจะมาจาก…

1. ประนีประนอม

คนไทยจะประนีประนอมกันมาก จึงมักไม่ Feedback กันตรง ๆ 

เมื่อเห็นใครทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่กลับไป นินทากันลับหลังได้

2. เกรงใจ

เรามักจะรักษาน้ำใจ ไม่พูดอะไรตรง ๆ เห็นเพื่อนต้องปรับปรุงการทำงาน

ก็ไม่บอกเพราะเกรงใจ รักษาน้ำใจ โดยปล่อยให้เขาทำผิดไปเรื่อย ๆ

3. อาวุโส

บางคนที่มีอายุมากกว่า หรือตำแหน่งสูงกว่า ก็มักจะคิดว่าความคิดตนเองดีกว่าคนอื่น 

แต่ว่าในการทำงานเป็นทีมในยุค Knowledge Worker นั้น แต่ละคนมีความชำนาญแตกต่างกัน 

โดยเฉพาะหากเป็นทีมบูรณาการที่มีคนมาจาก Cross-Functional หลายฝ่าย 

บางคนใหญ่ในฝ่ายตนแต่มาอยู่ในทีมก็มีสถานภาพเป็นสมาชิกคนหนึ่ง 

หากคนที่อาวุโสยึดติดหัวโขนเดิม ทีมงานคนอื่น ๆ ก็ลำบากใจที่จะ Feedback

4. วุฒิภาวะ

หลายคนอายุเยอะแต่วุฒิภาวะไม่เยอะ 

เอะอะโวยวาย ทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ 

คิดเล็กคิดน้อย ทัศนคติลบตลอด 

เมื่อมีคนแบบนี้ในทีมหลาย ๆ คน บรรยากาศที่สร้างสรรค์ก็ไม่เกิด

5. ความแตกต่างของระดับ Critical Thinking (CT)

บางคนมี CT ดี บางคนมี CT ไม่ดี 

ปัญหาคือคนที่ CT ไม่ดีอาจไม่ตระหนัก 

เมื่อมีความคิดเห็นแตกต่างกัน 

ตรรกในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจึงไม่เท่ากัน 

หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอัตตาสูงก็อาจเกิดความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นขึ้นได้

6. บางคนไม่อยากเป็นหัวหน้า เพราะหลีกความขัดแย้ง 

หลายคนที่มีคุณสมบัติเหมาะจะเป็นหัวหน้า พอเห็นปัญหาเหล่านี้ก็เลยไม่อยากอาสา 

ทำให้ทีมงานทำงานแบบไม่มีทิศทางเท่าที่ควร 

เพราะว่าไม่มีใครบางคนมา “เคาะ” หรือตัดสินใจเมื่อทีมเห็นต่างกัน 

ทีมงานจึงเสียเวลากับการพยายามทำให้ทุกฝ่าย “พึงพอใจ” 

ซึ่งสุดท้ายมักจะจบลงด้วยการทำให้ “ทุกฝ่ายไม่พึงพอใจ” ได้เลย

แนวทางแก้ไข

1. แต่งตั้งคนที่มีภาวะผู้นำในการนำทีมที่ดีขึ้นเป็นหัวหน้าทีม ซึ่งควรจะมี บารมี วุฒิภาวะ CT และมีทักษะการโน้มน้าวที่ดี

2. หัวหน้าทีม รับวิสัยทัศน์จากคนที่แต่งตั้งมา แปลงเป็นพันธกิจหลัก ยุทธศาสตร์ และค่านิยมหลัก

3. หัวหน้าทีมนำค่านิยมหลักมาหารือกับทีมเพื่อสร้าง Norm หรือบรรทัดฐานในการทำงานเป็นทีมร่วมกัน โดยเฉพาะต้องเน้นค่านิยมที่จะทำให้ปัญหาจากเรื่อง “ประนีประนอม/เกรงใจ/อาวุโส/วุฒิภาวะ/ระดับ CT ต่างกัน” มีน้อยลงเท่าที่จะทำได้

4. บริหารทีมด้วยแนวทางการบริหารโครงการ โดยการวางแผนงานโครงการ วางแผนจัดสรรคนให้เหมาะกับงาน วางแผนทรัพยากร และวางแผนปฎิบัติงานที่ชัดเจนพอสมควร

5. ลงมือทำตามแผนงาน โดยมีการสื่อสารติดตามผลเป็นระยะ

6. เมื่อมีใครทำได้ดีตามแผนงาน สื่อสารชมเชย

7. เมื่อมีใครทำไม่ได้ตามแผนงาน เข้าไปคุยกับเขา หาสาเหตุ และร่วมกันแก้ปัญหา