โค้ชน้องใหม่ให้ฝึกงาน

อัญชลีเพิ่งจบปริญญาโทจากอเมริกา ในระหว่างหางานในเมืองไทย เธอสมัครขอทุนปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่อเมริกาด้วย โชคดีเธอได้รับการตอบรับทุนการศึกษาก่อนได้เธองาน อัญชลีส่งอีเมล์มาหาผมขอฝึกงานกับผมในช่วงสั้น ๆ โดยปกติผมมักจะตอบปฎิเสธจดหมายสมัครงานกลับไปอย่างสุภาพ
แต่จดหมายของเธอแสดงความมุ่งมั่น และมีการใช้ภาษาในการแสดงออกอย่างเหมาะสม (Assertive Tone) ผิดวิสัยของนักศึกษาจบใหม่คนไทยโดยทั่วไป ผมจึงตอบอีเมล์กลับไปว่าจะลองดูให้แต่ไม่รับปากอะไรทั้งนั้น

จากประวัติของเธอที่ส่งมาให้ ผมเห็นประสบการณ์ระหว่างการเรียนของเธอน่าสนใจดี วันหนึ่งผมจึงเล่าเรื่องของเธอให้มิเชล เพื่อนซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษชื่อวอลล์สตรีทฟัง มิเชลได้ยินเรื่องของเธอจึงเกิดความสนใจขอคุยกับเธอ ในที่สุดมิเชลตกลงให้เธอทำงานเป็นผู้ช่วยเขาเป็นเวลาสองเดือน เพราะว่าวอลล์สตรีทกำลังขยายสาขาทำให้มิเชลมีงานล้นมือในช่วงนี้

เพื่อให้แน่ใจว่าอัญชลีสามารถจะทำงานร่วมกับมิเชลได้ ผมจึงโค้ชเธอทางโทรศัพท์ร่วมชั่วโมงถึงแนวทางการทำงาน ปรากฏว่าสามสัปดาห์ให้หลัง มิเชลชมอัญชลีให้ผมฟัง และถึงกับเสนอเงื่อนไขให้อัญชลีเป็นพนักงานประจำในตำแหน่งที่ดี

ผมคิดว่าแนวทางที่ผมโค้ชชอัญชลีน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังหางานทำ หรือกำลังทำงาน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับผู้บริหารมืออาชีพไม่ว่าชาวไทยหรือชาวต่างชาติ

คำแนะนำข้อแรกก็คือ ทำความเข้าใจสิ่งที่นายจ้างคาดหวังให้ได้อย่างชัดเจน ตอบคำถามว่า “นายจ้างเราเขาคาดหวังอะไรจากเราบ้าง” ระบุออกมาให้ชัดเจนมากที่สุด จะดียิ่งขึ้นถ้าเราสามารถสรุปความเข้าใจของเราบนกระดาษโน้ตแล้วทำเป็นบันทึกสั้น ๆ เพื่อให้นายของเราเห็น เขาจะได้บอกเราว่าเราเข้าใจถูกมากน้อยเพียงใด

ลำดับถัดไปก็คือพยายามทำความเข้าใจในธุรกิจของนายจ้างใหม่ของเราอย่างลึกซึ้ง หาข้อมูลเท่าที่จะหาได้ สมัยนี้มีข้อมูลมากมายโดยเฉพาะจากอินเตอร์เน็ท อ่านเอกสารของบริษัท ข้อมูล และข่าวสารความคืบหน้า ก่อนเริ่มงานควรจะลองทำตัวเป็นลูกค้าของบริษัทเช่นกรณีอัญชลีก็ลองสมัครขอข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนภาษาอังกฤษที่วอลล์สตรีทดู

ถัดจากนั้นผมจึงแนะนำเธอให้รู้จักทักษะที่สำคัญมากคือการใช้คำถาม เมื่อรับมอบหมายงาน หากไม่เข้าใจขอให้ถามเพื่อให้เข้าใจอย่างชัดเจน อย่ากลัวหรืออายที่จะถาม นายส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวต่างชาติจะรู้สึกดีหากเราถาม เพระามันสำคัญมากที่เราควรจะเข้าใจคำสั่งที่มอบหมายอย่างชัดเจน เพราะเราอาจจะทำผิดเรื่องผิดแนวหากเข้าใจผิด และเมื่อรับมอบหมายงานแล้ว ควรทบทวนความเข้าใจโดยสรุปเป็นระยะ ๆ เพื่อให้นายของเราทราบว่าเราเข้าใจถูกต้องครบถ้วนเพียงใด หลีกเลี่ยงการด่วนสรุปไปว่าเรารู้หรือเข้าใจแล้ว ส่วนใหญ่เวลาเราคิดว่ารู้หรือเข้าใจนั้นมักจะเป็นการเข้าใจผิดเสียส่วนใหญ่

นายสมัยนี้มักชอบขอความเห็นจากพนักงาน เขาจะยินดีหากเรามีความเห็นที่ไม่ตรงกันกับเขา เพราะว่าเขาจะได้เรียนรู้มุมมองใหม่ ๆ และหากความเห็นของเราไม่ตรงกับเขา เราก็ต้องมีความกล้าที่จะชี้แจงโน้มน้าวให้เขาเห็นด้วยกับความเห็นเรา แน่นอนสำหรับคนไทยก็ต้องผสมผสานความสุภาพด้วยแม้เราจะมีความเห็นไม่ตรงกัน

ผมบอกอัญชลีต่อว่า นายเธอคาดหวังให้เธอทำงานสุดความสามารถ แต่ว่าผมปรารถนาให้เธอทำงานเกินความคาดหวังของเขาขึ้นไปอีก ภาษาอังกฤษเรียกว่า Be accountable เพื่อสาธิตแนวคิดเรื่องนี้ ผมจึงยกเรื่องของจาค๊อบจากหนังสือ ‘QBQ! (The Question Behind the Question) โดย John G. Miller’

เนื้อเรื่องมีอยู่ว่าจอห์นผู้เขียน เล่าถึงประสบการณ์เมื่อเขาไปทานอาหารกลางวันในร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองมีนิอาโพลิส หลังจากเขาหาที่นั่งได้ซึ่งในขณะนั้นในร้านมีลูกค้าแน่นเต็มไปหมด บริกรคนหนึ่งซึ่งเดินยกถาดซึ่งใส่จานอาหารที่ใช้แล้วและกำลังจะนำกลับไปล้างในครัวเดินผ่านเขาไปด้วยท่าทีร้อนรน อย่างไรก็ตามบริกรคนนั้นยังสังเกตเห็นลูกค้ารายใหม่นั่งอยู่ เขาจึงวางถาดลงและเดินเข้ามาหาจอห์นพร้อมทั้งแนะนำตัวว่า “ผมชื่อจาค๊อบครับ ไม่ทราบว่ามีใครมารับรายการอาหารของคุณแล้วหรือยังครับ” จอห์นตอบว่ายัง จาค๊อบจึงลงมือจดรายการอาหารด้วยท่าทีกระฉับกระเฉง

จอห์นสั่งว่า “ขอสลัด ขนมปังโรลล์สองชิ้นและไดเอ็ทโค๊ก” จาค๊อบตอบว่า “ร้านเรามีแต่ไดเอ็ทเป๊ปซี่ได้ไหมครับ” จอห์นตอบกลับไปอย่างอารมณ์ดีว่า “ไม่เป็นไรครับขอน้ำมะนาวก็แล้วกัน”

สักพักอาหารก็มาตามสั่ง หลังจากจอ์หนรัปประทานไปได้สักครู่จาค๊อบก็เดินมาหาเขาอย่างกระตือรือร้นพร้อมกับไดเอ็ทโค๊กในถาดและแก้วเปล่า จอห์นยิ้มด้วยความแปลกใจพร้อมกับถามไปว่า “ขอบคุณมาก ไหนคุณบอกว่าร้านคุณไม่มีขายไงละ” จาค๊อบตอบว่า “เราซื้อมาจากร้านเซเว่นอีเลเว่นข้างร้านครับ” จอห์นจึงถามต่อว่า “แล้วใครจ่ายละ” จาค๊อบตอบว่า “ผมเองครับ แค่เหรียญเดียว” จอห์นจึงถามต่อด้วยความอยากรู้ “ผมเห็นคุณยุ่งมากเลย แล้วคุณออกไปซื้อตอนไหนละ” จาค๊อบตอบว่า “ผมวานผู้จัดการร้านไปซื้อให้ครับ”

จอห์นจบมื้อนั้นพร้อมกับทิปอย่างงาม หลายเดือนต่อมาเขาไปทานร้านนั้นอีกเมื่อเข้าไปในร้านเขาถามหา
จาค๊อบ แต่พนักงานที่ร้านบอกว่าเขาได้รับการโปรโมทไปเป็นฝ่ายบริหารแล้ว

ผมแนะนำให้เธอระลึกถึงเรื่องจาค๊อบเสมอเมื่อเจอปัญหา

จากนั้นผมแนะนำเธอเรื่องการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และความคิดริเริ่ม หลีกเลี่ยงที่จะนั่งเฉย ๆ โดยไม่มีอะไรทำ เมื่อใดที่รู้สึกว่างให้วิ่งของานจากนายหรือเพื่อนร่วมงาน ให้ตัวเองมีงานที่มีคุณค่าทำอยู่เสมอ

สิ่งที่เล่ามาคือแนวทางที่ช่วยให้อัญชลีสร้างความประทับใจให้นายของเธอ แน่นอนว่าตัวเธอเองต้องมีคุณสมบัติ ทักษะ และความมุ่งมั่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การโค้ชของผมเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น
แต่มันคงมีส่วนบ้างพอสมควร แล้วคุณละครับ คิดว่าจะลองนำส่วนไหนไปประยุกต์ใช้ดูครับ