เร่งรีบแต่อย่าร้อนรน

เดชและอี๊ดเป็นเพื่อนสนิทกัน ทั้งสองคนพบกันโดยบังเอิญที่คอนเสิร์ตเดอะอีเกิ้ล เนื่องจากทั้งคู่ไปก่อนเวลาเนิ่นๆเพื่อหาที่จอดรถ จึงมีเวลานั่งเม้าท์เรื่องงานกัน

เดชพูดขึ้นว่า “ที่บริษัทผมเพิ่งมีนายฝรั่งมาใหม่หมาด ๆ เขาชื่อนิค เพิ่งมาทำงานที่ประเทศไทยได้สองอาทิตย์ อาทิตย์แรกพี่แกดีมากเลย กันเอง ยิ้ม ทักด้วยการพูดภาษาไทยว่าสวัสดีครับ ฟังพวกเรา ถามเรื่องในครอบครัวของแต่ละคนด้วยความสุภาพ พวกเราก็คิดว่าโชคดีมากเลยได้นายรู้ใจคนไทยง่ายที่จะทำงานด้วย

ที่ไหนได้พอสัปดาห์ที่สอง ผู้จัดการเปลี๋ยนไป” เดชทำเสียงล้อเลียนโฆษณาชิ้นดัง

เดชเล่าต่อ “คราวนี้นิคเริ่มเรียกร้องอะไรต่ออะไรมากขึ้น อยากได้รายงานแบบโน้นแบบนี้ แถบกำหนดเวลาก็ไม่มียืดหยุ่น หากไม่ได้ดังใจก็วิจารณ์ลูกน้องแบบตรง ๆ แม้ว่าจะไม่หยาบคายแต่ก็จริงจังไปหน่อย สีหน้าน้ำเสียงออกจะดุดัน พวกเรางงกับการเปลี่ยนแปลงที่พลิกหน้ามือเป็นหลังมืออย่างนี้ พวกเราก็ไม่แน่ใจว่าทำไม แต่ที่แน่ๆคือว่าเราระวังมากขึ้นและไม่ค่อยจะไว้ใจเขาเท่าไรแล้วละ”

ลองมาดูทางฝั่งของนิคบ้าง เขาเป็นคนหนุ่มไฟแรงที่มีอนาคตไกลในบริษัทนี้ ตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทยเป็นก้าวที่บริษัทกับเขาเห็นพ้องกันว่า สำคัญสำหรับการเติบโตขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงในฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ (International Department) นิคเริ่มงานเมื่อสามปีที่แล้วที่สำนักงานใหญ่ใน
ตำแหน่งผู้บริหารฝึกหัด เขาประสบความสำเร็จในงานเพราะมีคุณสมบัติหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของความรวดเร็วในการสร้างผลงานแบบ Quickwin

ก่อนจะมาประเทศไทยหนึ่งเดือนบริษัทส่งเขาไปเข้าสัมนาการทำงานต่างวัฒนธรรม (Cross cultural Training) ที่บริษัทจัดหาให้ เขายังซื้อหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยสองสามเล่ม

ก่อนโยกย้ายมาหนึ่งสัปดาห์นิควางแผนไว้ดังนี้ สัปดาห์แรกในประเทศไทย สร้างความสัมพันธ์กับทีมงานคนไทยจนคนไทยไว้วางใจและเชื่อมั่นในตัวเขา พอสัปดาห์ที่สองจัดทำแผนธุรกิจโดยให้คนไทยมีส่วนร่วม สัปดาห์ที่สามส่งแผนงานให้สำนักงานใหญ่ และสัปดาห์สี่เริ่มลงมือดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้พร้อมทั้งมั่นใจว่าผลลัพธ์คงเป็นไปตามที่คาดหมายในเดือนที่สองหรือที่สามเป็นอย่างช้า อีกสองปีผลงานโดดเด่น
เขาก็จะย้ายไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในฝ่ายกิจการระหว่างประเทศตามที่คาดหวัง

สำหรับนิคแล้วแผนงานดูดีและเป็นไปได้อย่างมาก ภายใต้มาตรฐานของเขาซึ่งเขาเชี่ยวชาญอยู่แล้วกับการทำอะไรที่รวดเร็ว แต่ว่านิคไม่ทันคิดว่าการพัฒาสัมพันธภาพกับคนไทยนั้นต้องใช้เวลา สัปดาห์เดียวดูจะเร็วเกินไป ที่จริงมันเป็นการยากที่จะบอกว่าควรจะเป็นเท่าไร แต่จากประสบการณ์ของผู้บริหารชาวต่างชาติที่ทำงานเข้าขากับคนไทยได้ดีและมีผลงานนั้น มักจะเริ่มจากกการพยายามเข้าใจความเป็นไทยก่อน และระมัดระวังพฤติกรรมของตนว่าเรื่องไหนควรและเรื่องไหนไม่ควร อาจจะสองสามสัปดาห์หรือสองสามเดือน ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นสำหรับพัฒนาความสัมพันธ์ พวกเขาจะสังเกตุ ถามข้อมูลย้อนกลับ และพยายามปรับตัวและวิธีการทำงานให้เข้ากับคนท้องถิ่นอย่างเหมาะสม น่าเสียดายที่ผู้บริหารหน้าใหม่ชาวต่างชาติหลายคน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงที่สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ ไม่เข้าใจเรื่องราวเหล่านี้เท่าใดนัก กับร้อนรนโดยการแนะนำการเปลี่ยนแปลงใหม่เร็วเกินไป ซึ่งมักลงเอยด้วยการต่อต้านที่ไม่จำเป็นจากคนไทย

หากว่าผู้บริหารที่มาใหม่เป็นการแทนคนเก่าที่ออกไป เขาควรจะตรวจสอบก่อนว่าผู้บริหารคนเดิมเขาทำอย่างไร มีความสัมพันธ์กับคนท้องถิ่นดีเพียงใด ซึ่งอาจจะทำได้ด้วยการคุยกับนาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หลายครั้งคนใหม่ได้รับมอบหมายให้มีภาระกิจที่เจาะจงเช่นแก้ไขปัญหาที่หมักหมม เขาควรจะบอกเป้าหมายให้ชัดเจนกับทีมงานคนไทย และควรบอกแบบมีกุศโลบายหน่อย ควรเน้นเป้าหมายไม่ควรตำหนิคนเก่า เพราะคนไทยไม่ชอบการไปโจมตีนายเก่าของเขา

บ่อยครั้งเหมือนกันที่นายเก่าที่เคยสร้างปัญหาให้กับองค์กร มักจะรู้วิธีดูแลเอาใจคนไทย เขามักจะสร้างสัมพันธภาพที่ดีไว้ในขณะที่สร้างปัญหาให้เกิดกับองค์กรด้วย เขาจากไปด้วยความผูกพันที่ดีกับพนักงานคนไทย ซึ่งทำให้การที่นายใหม่ไปตำหนิสิ่งที่คนเก่าเขาทำไว้แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงก็เสี่ยงเกินไปสำหรับนายใหม่
ที่จริงคนไทยควรมีวิจารณญาณในเรื่องนี้อย่างถูกต้องมิใช่อย่างถูกใจ

หากผู้บริหารชาวต่างชาติเข้ารับตำแหน่งที่เพิ่งมีขึ้นมา เขาควรระวังด้วยว่าอาจถูกคนไทยบางคนที่คาดหวังว่าเขาน่าจะได้ตำแหน่งนี้เขม่นและคอยขัดขาเอาได้ด้วยความริษยา

สำหรับคนที่ต้องการสร้างผลงานอย่างรวดเร็ว การเร่งรีบอาจจะทำให้ทุกอย่างช้าลงได้ ซึ่งเขาอาจจะแย้งว่าเขาไม่มีเวลาจะมาใจเย็นได้ ผมคิดว่าสตีเว่น โควี่ย์ เขียนไว้ในหนังสือ 7 Habits of highly effective people มีคำแนะนำที่น่าสนใจ

สตีเว่นเขียนไว้ว่า สมมติว่าคุณเดินเข้าไปในป่าแห่งหนึ่งและพบชายคนหนึ่งกำลังตัดต้นไม้อย่างขมักเขม้นคุณถามเขาไปว่า” ทำอะไรอยู่ครับ” เขาตอบกลับมาแบบเหลืออดว่า “คุณมองไม่เห็นหรือไงว่าผมกำลังตัดต้นไม้อยู่นะ”

“แต่ดูคุณเหนื่อยล้าจังนะ” คุณบอกเขาไป พร้อมทั้งถามต่อ “แล้ว นี่คุณตัดต้นนี้มานานเท่าไรแล้วละ” เขาตอบว่า “ กว่าห้าชั่วโมงแล้วผมล้ามากเลย” คุณจึงแนะนำไปว่า “คุณน่าจะหยุดลับคมเลื่อยหน่อยนะเพราะมันทู่เหลือเกิน ผมว่หากคุณลับแล้วคุณจะเลื่อยต้นไม้ได้ไวขึ้นมากเลยนะ”

เขาตอบกลับมาว่า “ ผมไม่มีเวลาจะลับคมเลื่อยหรอกเพราะผมต้องรีบทำงาน ผมกำลังยุ่งอยู่คุณไม่เห็นหรือไง”

คุณละครับ คุณอาจจะกำลังยุ่งอยู่ เพราะรีบเร่งทำบางเรื่อง
จนไม่มีเวลามาติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้องเสียก่อนหรือเปล่า