ม่านไผ่ที่ขวางกั้น (Bamboo Ceiling)

ผมพบเพื่อนเก่าสมัยเรียนมัธยมด้วยกันในงานสัมมนาแห่งหนึ่ง สุรพงษ์เป็นหนึ่งในวิทยากรรับเชิญ เขาทำงานและอยู่อาศัยในอเมริกามาร่วมยี่สิบปี

“ผมอ่านงานเขียนของคุณในบางกอกโพสต์ทางอินเตอร์เน็ททุกวันจันทร์เลยคุณเกรียงศักดิ์” สุรพงษ์เอ่ยขึ้นมาในระหว่างช่วงพักทานกาแฟ “ผมว่าดีนะที่มีคนเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานระหว่างคนไทยและคนต่างชาติ อีกทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับการบริหาร และการจัดการสมัยใหม่”

ผมถามเขาว่า “แล้วเรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างวัฒนธรรมในอเมริกาเป็นที่สนใจมากน้อยเพียงใดครับ”

เขาตอบว่า “ในอเมริกา บริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เขาเรียกมันว่า Diversity หรือไม่ก็ Inclusive Leadership พวกเขาพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้องค์กรเปิดโอกาสให้มีความเท่าเทียมและเสมอภาคกันในที่ทำงานโดยไม่คำนึงว่าผู้นั้น จะมีสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา หญิงชาย เกย์ เลสเบี้ยน คนพิการ ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จ และได้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่โดยไม่มีการกีดกันซึ่งกันและกัน”

ผมเห็นด้วย “มันน่าสนใจมากนะครับ ถ้าผมอยากเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติม ผมควรจะไปค้นหาจากแหล่งไหนได้ครับ”

สุรพงษ์แนะว่า “ลองดูวารสาร Fortune magazine ฉบับที่ลงเรื่องราวเกี่ยวกับองค์กรที่เหมาะกับชนกลุ่มน้อย (Annual 100 Best Companies for minorities to work for) หรือไม่ก็ไปที่เว็บไซด์ของ Diversity Inc.’s (www.diversityinc.com) แล้วค้นหาเกี่ยวกับ 50 บริษัทดีเด่นที่เหมาะสำหรับการทำงานสำหรับคนที่มีความหลากหลาย (50 Best companies for Diversity) น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะ

ไหน ๆ ก็คุยเรื่องนี้แล้ว ผมอยากจะแนะนำหนังสือชื่อ Breaking the Bamboo Ceiling – Career Strategies for Asians by Jane Hyun แปลเป็นไทยว่า คู่มือทลายม่านไม้ไผ่ กำแพงที่กั้นชาวเอเชียให้ไปไม่ถึงดวงดาว หนังสือเล่มนี้เขียนโดยชาวเอเชียเพื่อคนเอเชียที่ทำงานในบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา”

ผมซักต่อ “ไหนคุณลองเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือ และผู้เขียนหน่อยซิ”

สุรพงษ์คุยต่อ “ผมอ่านไปได้ครึ่งเล่มแล้วละครับ มันน่าสนใจมาก ตัวอย่างเช่น ในบทที่หนึ่งถึงบทที่สาม เจนผู้เขียนจะอธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้ชาวเอเชียอย่างพวกเราพบอุปสรรคเมื่อจะขึ้นเป็นผู้บริหารมีปัจจัยมาจากอะไร นอกจากนี้เธอยังเสนอทางแก้ปัญหาให้ด้วย โดยเฉพาะผมชอบที่มีแนวทางสอนให้ชาวเอเชียสามารถทลายอุปสรรคนั้นได้ โดยเฉพาะในการทำงานร่วมกับชาวอเมริกัน

นอกจากนี้ ในส่วนอื่นที่ผมอ่านด้วยความสนุกก็คือบทที่แปด มีกรณีศึกษาเป็นตัวอย่างที่หลากหลายมาก ลักษณะเป็นการเล่าเรื่องสั้น ๆ ที่เกิดขึ้นจริงของชาวเอเชียที่หลากหลายสัญชาติ สาเหตุของปัญหา แนวทางแก้ไข และผลลัพธ์ที่เกิดตามมาหลังจากทำตามที่เธอแนะนำ ผมว่ารูปแบบการเขียนและแนวทางในหนังสือเหมาะสมกับชาวเอเชียที่ต้องมีการปูพื้นว่า อะไร / ทำไม / อย่างไร พร้อมทั้งมีแนวทางในการแก้ไขที่ชัดเจน จับต้องได้ ผมชอบอีกเรื่องหนึ่งที่เธอให้ความสำคัญกับการที่ชาวเอเชียควรจะมี Mentor หรือพี่เลี้ยงเป็นชาวเอเชียด้วยกันเพื่อพัฒนาซึ่งกันและกัน หนังสือยังเจาะลึกไปถึงวิธีบริหารความสัมพันธ์ระหว่างพี่เลี้ยงและผู้ที่เป็นรุ่นน้อง

สำหรับเจน ฮุน ผู้เขียนนั้นเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ปัจจุบันเธอเป็นที่ปรึกษาด้านอาชีพ การพัฒนาบุคลากร ให้กับบริษัทชั้นนำมากมาย เธอเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงทางด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ในบริษัทชั้นนำเช่น JP Morgan, Deloitte & Touche, และ Resources Connection เธอยังเป็นนักเขียนเกี่ยวกับการบริหารอีกมากมาย เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Cornell University ที่มีชื่อเสียง ปัจจุบันเธอพักอาศัยอยู่ใน นิวยอร์ค”

ผมพยักหน้า และถามต่อแทบจะทำให้สุรพงษ์ไม่ได้พักหายใจ “ทำไมเขาถึงตั้งชื่อหนังสือว่า Breaking the Bamboo Ceiling ละครับ”

สุรพงษ์ตอบว่า “เธอคงจะอุปมาอุปมัยนะ คุณเคยได้ยินคำว่า กำแพงกระจก หรือในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Glass Ceiling หรือเปล่าครับ”

ผมผงกศรีษะ “ผมทราบครับ คำว่า glass ceiling เป็นคำพูดที่หมายถึงว่าการกีดกันอย่างไม่เป็นทางการสำหรับการขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กร ซึ่งอาจจะเลือกปฏิบัติสำหรับกลุ่มคนบางกลุ่ม เช่นผู้หญิง ลักษณะของการกีดกันแบบนี้มีในเกือบทุกประเทศทุกองค์กร คำนี้คนที่คิดขึ้นมาชื่อ แครอล ไฮโมวิทซ์ และทิโมธี เซลฮาร์ด (Carol Hymowitz and Timothy Schellhardt) โดยเขาเขียนลง ในวารสาร Wall Street Journal ในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1986

ผมเดาว่า ไม้ไผ่คงเปรียบเปรยกับชาวเอเชียละมังครับ”

สุรพงษ์ยิ้มรับ เขาคุยต่อ “มีอีกเรื่องที่ผมชอบจากหนังสือเล่มนี้ก็คือ การอุปมาอุปมัยว่า ชาวเอเชียที่เกิดและโตในอเมริกา มีผิวนอกสีเหลือง และเนื้อในสีขาว เสมือนกับ กล้วย คือผิวเหลืองแต่คิดแบบฝรั่ง (คือสีขาว)

เจนจะมาบรรยายที่ฮ่องกงในงาน Diversity Conference 22-23 พ.ย. 2005 เผื่อคุณสนใจไปฟัง

หนังสือเล่มนี้ขียนขึ้นมาเพื่อชี้แนะชาวเอเชียในอเมริกา แต่ผมว่าประยุกต์ใช้ได้กับคนไทยเช่นกัน หนังสือให้คำแนะนำที่ดีสำหรับชาวเอเชียที่ต้องการประสบความสำเร็จและก้าวหน้าในองค์กรอเมริกัน

เจนตั้งข้อสังเกตว่า ค่านิยมขอชาวเอเชียที่พ่อแม่สั่งสอนมานั้นไม่ว่าจะเป็น ความนอบน้อม เชื่อฟังผู้ใหญ่ การไม่แสดงออก ความถ่อมตัว เป็นปัจจัยที่ทำให้คนเอเชียไปไม่ถึงดวงดาวในองค์กรอเมริกัน เธอได้สรุปประเด็นสำคัญ ๆ ไว้ดังนี้ครับ 



  1. ใช้เวลาประเมินจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง
    1. ให้ตระหนักว่ามีม่านไม้ไผ่อยู่ในตัวเรา และในองค์กร
      1. เลือกนายจ้างที่เหมาะสมกับค่านิยมและความสนใจของเราแต่ละคน
        1. พัฒนาทักษะที่สามารถทำงานร่วมกับคนที่มีวัฒนธรรมต่างกับเราได้
          1. มุ่งมั่นที่จะสร้างเสริมสายสัมพันธ์ให้กว้างขวาง
            1. ใช้ประโยชน์จากการที่สามารถสื่อสารได้สองภาษาและเข้าใจสองวัฒนธรรม
              1. ทำตัวให้คุ้นเคยกับการให้และรับข้อมูลย้อนกลับที่ตรงไปตรงมา
                1. พัฒนาความยืดหยุ่นต่อการปรับตัวในงาน
                  1. มีกุศโลบายและวิธีปฎิบัติตัวที่เหมาะกับการเมืองในองค์กร

ผมถามขึ้นมาว่า “สุรพงษ์ ผมไม่เคยเห็นเล่มนี้ในร้านหนังสือในกรุงเทพฯ เลยนะครับ มันพิมพ์เมื่อไรหรือ”

เขาตอบว่า “หนังสือเพิ่งจะออกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปีนี้เอง ผมซื้อมาจากเว็บ www.amazon.com นะ”

(แปลจาก Bridging the gap / Bangkok Post / 12 September 2005)