มืออาชีพมีลักษณะอย่างไร

หนึ่ง – ความเป็นมืออาชีพเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ที่คนอื่นจะมองคุณ เรามักได้ยินคำว่าคนเรา ควรจะได้รับโอกาสแก้ตัว แต่ว่าพอมาถึงเรื่องภาพลักษณ์มีคำฝรั่งว่า There is no second chance for first impression. คือไม่มีโอกาสที่ 2 สำหรับการพบกันครั้งแรก หากคนเขาเจอเรา แบบไหนในครั้งแรก เขาก็จะจดจำเราไปแบบนั้นนานเลย

ตัวอย่างเช่น ผมมีคนที่ผมเคยโค้ชคนหนึ่ง ตอนผมพบเธอครั้งแรกเธอท่าทางเชื่อมั่นคุยเก่ง นั่งนิ่งไม่เคยเกิน 5 นาที ภาพที่ผมจำเธอก็คือ เธอเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง ไม่ค่อยสนใจการเรียน พอผ่านมา 18 เดือน ผมมีโอกาสสอบสัมภาษณ์เธอกับกรรมการอื่นอีก 2 ท่าน พอเห็นประวัติการเรียนของเธอ แล้วก็แปลกใจ เพราะว่าเธอจบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้วยคะแนนเกียรตินิยม แต่ว่าผมกับมีภาพอีกอย่างกับเธอมาเป็นเวลา 18 เดือน

Richard Templar ผู้เขียนหนังสือ Rules of work แนะนำว่าขอให้คิดเสียว่า เราเป็นโฆษกรัฐบาลที่ต้องคอยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทุกวัน แล้วคิดว่าในแต่ละวันนั้น เราต้องดูดีให้พร้อมตลอดเวลา ไม่ว่าตอนไหน หากมีกล้องมาถ่ายเราแล้วละก็ต้องดูดีเสมอ

สอง – เรื่องของเวลา หลายคนไม่ตรงต่อเวลา ดังนั้นเลิกมันเสียเถอะที่จะเป็นคนตรงต่อเวลา แล้วไงล่ะ ก็ให้ไปก่อนเวลาเสมอไง 10-15 นาที ไปคอยคนอื่น แต่อย่าไปคอยเปล่า ทำการบ้าน เตรียมประชุม ศึกษาข้อมูลเรื่องประชุม หรือประวัติคนที่เราจะพบ การไปก่อนเวลานั้นง่ายกว่าการทำงานให้เยี่ยมยอดมากเลย ที่จริงแล้วเป็นพื้นฐานสำคัญของมืออาชีพเลยล่ะ

สาม – เลิกเดา มียีนส์ยี่ห้อหนึ่งชื่อ Guess ซึ่งแปลว่าเดา จำไว้เสมอว่าถ้าเป็นแฟชั่น Guess ได้ แต่งานแล้วห้าม กลับมาเรื่องข้อมูลการเตรียมตัว เดี๋ยวนี้ข้อมูลหาง่าย Google ข่าว รายงานต่าง ๆ

สี่ – อย่าด่วนสรุป เราไม่ใช่ท่าน “เปาปุ้นจิ้น” ที่เก่งกาจสามารถจะได้ตัดสินอะไรได้ง่าย ๆ ถามคำถาม เช่น “ขอผมทวนความเข้าใจหน่อยครับ ที่บอกว่า….หมายความว่า…. หรือช่วยขยายความหน่อยได้ไหมครับที่บอกว่า…หมายความว่าอย่างไร”
ห้า – รับปากน้อย ทำให้มาก เช่น นายบอกให้ส่งรายงานวันศุกร์ รีบลงมือทำด้วยความตั้งใจ ให้งานมีคุณภาพดี แล้วส่งก่อน เช่น วันพุธหรือพฤหัสบดี เป็นต้น

หก – แก้ปัญหาให้สุดความสามารถ คนส่วนใหญ่มักทำงานแบบขอไปที พอเกิดปัญหาขึ้นก็มักจะแก้ปัญหาแบบพอให้มันผ่าน ๆ ไป โดยให้ได้คุณภาพปานกลางหรือพอใช้ได้ก็พอ แต่ว่าหากเป็นมืออาชีพแล้วเขาจะไม่ทำงานอะไรลวก ๆ เด็ดขาด งานทุกอย่างต้องเปี่ยมคุณภาพ ยึดคติว่างานทุกอย่างเสมือนหนึ่งว่าเราเป็นศัลยแพทย์ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ทุก ๆ งานต้องเป็นเลิศและไม่มีข้อผิดพลาด

เจ็ด – ฝึกฝนการวิเคราะห์ การวิเคระห์ที่ดี คือการใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐาน แล้วตั้งคำถามว่าอะไรคือนัยสำคัญจากข้อมูลนี้ ตัวอย่างเช่น มีข้อมูลจาก www.ddd.or.th (don’t drink drive) เกี่ยวกับอุบัติเหตุในปี 2548 เฉลี่ยคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน วันธรรมดา 35 ราย ช่วงสงกรานต์ 53 ราย ช่วงวันปีใหม่ 70 ราย อะไรคือนัยสำคัญจากข้อมูลชุดนี้ เราอาจจะวิเคราะห์ได้ว่าความสนุกของคนไทยมีโทษมหาศาล ทำให้สถิติคนเสียชีวิตสูงถึง 100% ในวันปีใหม่เมื่อเทียบกับวันปกติ เป็นต้น

แปด – เชื่อมั่นที่จะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกับคนอื่น ประเทศเราเน้นการประนีประนอมมากไปทุกเรื่อง มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่คนเราจะคิดเห็นเหมือนกันทุกเรื่องตลอดเวลา เมื่อเห็นต่างก็แสดงออกไป เช่น “ด้วยความเคารพ ผมเห็นต่างกับคุณในเรื่องความสนุกกับสถิติ ผมคิดว่า….” เราแตกต่างแต่ยังคงความสุภาพไว้แบบไทย ๆ ได้

เก้า – พูดจาสื่อสารให้ชัดเจนตรงประเด็น

สิบ – ยืนยันความคิดของเรา เมื่อเสนอขายไอเดียอะไรอย่ากลัวจะถูกปฏิเสธ เมื่อเขาปฏิเสธ ก็ขอให้ยืนยันเสนอความคิดและเหตุผลของเราออกไป อย่ากลัวที่จะต้องโน้มน้าวคนอื่น