ภาวะผู้นำที่กล้าหาญ

“คุณเกรียงศักดิ์ เจ้านายต้องการให้ผมรับตำแหน่งผู้อำนวยการเขต เขาเสนอโอกาสนี้ให้ผมสองครั้งแล้ว”

“ยินดีด้วยครับ นี่เป็นโอกาสความก้าวหน้าที่ดี”

คุณทนงเป็นผู้จัดการสาขาของธุรกิจค้าปลีกชั้นนำ ตำแหน่งผู้อำนวยการเขตต้องดูแลผู้จัดการสาขา 10 ท่าน

“ผมเกรงใจนาย แต่ไม่อยากรับตำแหน่ง ผมจะปฏิเสธอย่างไรดีครับ”

“เพราะอะไรจึงต้องการปฏิเสธครับ”

“ผมชอบงานผู้จัดการสาขามากกว่า เพราะสามารถดูแลงานทุกด้านในสาขาได้อย่างทั่วถึง ถ้าเป็นผู้อำนวยการได้บริหารถึง 10 สาขา แต่ก็เฉพาะในภาพรวม แถมมีงานการจัดการและบริหารที่ผมไม่ถนัดเพิ่มอีก”

“นอกจากความอึดอัดเหล่านี้ คุณคิดว่าสามารถทำงานนี้ได้ดีหรือไม่”

“คิดว่าทำได้ดีครับ”

“ผมเคยพบผู้บริหารหลายท่านที่มีตำแหน่งอาวุโส แล้วไม่ต้องการก้าวหน้าสูงขึ้นไปในองค์กร เพราะพวกเขาประเมินแล้วว่ารายได้และตำแหน่งที่สูงขึ้นอาจไม่คุ้มกับความเครียดและแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น”

ทนง ถอนหายใจด้วยความโล่งอก เพราะสิ่งที่ผมพูด ทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดกับเขาเพียงลำพัง

“เพราะอะไรเจ้านายจึงอยากเลื่อนตำแหน่งให้คุณ”

“คงเพราะเห็นศักยภาพในตัวผม”

“ถูกครับ บริษัทคุณมีผู้จัดการสาขาเก่ง ๆ หลายคน แต่ตำแหน่งผู้อำนวยการเขตมีความสำคัญสูงเพราะมีความรับผิดชอบเป็นสิบเท่าของผู้จัดการสาขา ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณในขณะนี้ คือการขาดหนึ่งในสามองค์ประกอบของภาวะผู้นำที่กล้าหาญ”

“หมายความว่าอย่างไรครับ”

“มันคือแนวคิดจากหนังสือ Learning to Lead เขียนโดย วอเร็น เบ็นนิส และโจน โกลด์สมิท พวกเขาเขียนเกี่ยวกับ “ภาวะผู้นำที่กล้าหาญ” ใว้ว่า

จุดยืนของความเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนความพยายามสร้างองค์กรขึ้นใหม่คือ ผู้นำที่กล้าหาญ ผู้ที่ยึดมั่นในสิ่งที่เขาเชื่อ ผู้นำเหล่านี้เลี่ยงที่จะใช้อำนาจที่ได้มาจากหน้าที่การงาน พวกเขาถ่วงดุลความทะเยอทะยานด้วยความสามารถและความซื่อสัตย์ สามคุณสมบัตินี้เปรียบดังเก้าอี้สามขา เพื่อสภาวะผู้นำที่เกิดขึ้นจะได้เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์

ถ้าขาดสมดุลดังกล่าว เราอาจพบกับผลเชิงลบสามแบบ ดังต่อไปนี้

ถ้ามีความทะเยอทะยาน และความสามารถ แต่ขาดความซื่อสัตย์ เราจะมีผู้นำที่สนใจแต่การทำเพื่อตัวเอง ให้ความสำคัญของอำนาจของตนมากกว่าจริยธรรม และสนใจเรื่องส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม

ถ้ามีความทะเยอทะยาน และความซื่อสัตย์ แต่ขาดความสามารถ เราจะได้ผู้นำที่คิดดี ทำดี มีความพยายาม แต่อาจไม่สามารถทำงานบรรลุตามเป้าหมายได้ และอาจนำลูกน้องเข้าสู่ทางตัน

ถ้ามีความซื่อสัตย์ และความสามารถ แต่ขาดความทะเยอทะยาน อาจฟังเหมือนเป็นผู้นำที่ดี แต่จะเป็นผู้นำที่ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น

การมีความสมดุล ทำให้ผู้นำมีจริยธรรมและความซื่อสัตย์ต่อวิสัยทัศน์ของตน มีความอ่อนน้อมและให้ความร่วมมือในการทำงานที่ท้าทายสำหรับผู้อื่น

ผู้นำที่กล้าหาญจะทำความเข้าใจร่วมกับลูกน้องโดยการสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ก่อให้เกิดความมุมานะในการทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ”

ทนงสรุปความ “คุณสมบัติสามประการของผู้นำที่กล้าหาญ คือ ความสามารถ ความทะเยอทะยาน และความซื่อสัตย์”

“คุณคิดว่าตนเองขาดองค์ประกอบไหนครับ”

“ความทะเยอทะยานครับ ผมไม่อยากได้เงินหรือตำแหน่งที่ดีกว่าเดิม”

“ถ้าเช่นนั้น คุณอาจเข้าใจความหมายของ ความทะเยอทะยาน ในบริบทนี้ผิด”

“อย่างไรครับ”

“คุณเคยบอกว่าในหลวง ร.9 คือต้นแบบผู้นำของคุณ”

“ครับ”

“เพราะอะไรท่านยังทำงานและพัฒนาสิ่งต่าง ๆ มากมาย ทั้ง ๆ ที่ทรงมีพระชนม์มายุมากและพระวรกายไม่แข็งแรง”

“ท่านทรงรักและห่วงใยประชาชน”

“นี่แหละครับที่เรียกว่า ความทะเยอทะยาน ความทะเยอทะยานของผู้นำนั้น ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อผู้อื่น นี่เป็นเรื่องของความรัก ความห่วงใยที่จะทำสิ่งต่าง ๆให้บรรลุเป้าหมายเพื่อผู้อื่น”

“ในกรณีของผมล่ะครับ”

“ในฐานะผู้จัดการสาขา คุณดูแลลูกน้องกี่คน”

“300 คนครับ”

“แล้วจำนวนลูกค้าล่ะครับ”

“ประมาณ 100,000 คนครับ”

“นี่เพียงสาขาเดียวนะครับ ถ้า 10 สาขาล่ะ”

“ผมก็จะได้ดูแลลูกน้อง 3,000 คน และลูกค้า หนึ่งล้านคน”

“คุณคิดว่ามีคนสักกี่คนที่มีโอกาสในการสร้างความแตกต่างให้แก่คนจำนวนเป็นล้านแบบนี้”

“คงมีไม่มาก”

“ถูกครับ ถ้าคุณมีความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับความทะเยอทะยาน คุณก็จะมีแรงบันดาลใจในการที่จะก้าวไปเป็นผู้อำนวยการเขตที่เก่งได้ในที่สุด”