พลังของคำว่า “ไม่รู้”

“เป็นอย่างไรครับ” ผมถามคุณศิริ เรื่องการนำเทคนิคการโค้ชโดยใช้คำถามที่เรียนจากการพบกันสองสัปดาห์ก่อนไปทดลองใช้กับทีมงาน”

“ลองแล้วครับ เทคนิคนี้ไม่ง่ายเลย”

“เราลองฝึกอีกครั้งนะครับ”

เขาพยักหน้า

“ถ้างั้น ผมอยากให้คุณโค้ชผมให้เป็นนักเขียนที่เก่งมากคนหนึ่ง”

“ได้ครับ”

“ก่อนเริ่ม คุณศิริช่วยสรุปประเด็นการเรียนรู้คราวก่อนหน่อยครับ” ครั้งก่อนเราจำลองสถานการณ์ โดยผมเป็นโค้ชชี่ ต้องการให้คุณศิริโค้ชผมให้สามารถคิดหาพล๊อตเรื่องใหม่ ๆ มาเขียนในคอลัมน์

“ครั้งก่อน  สิ่งทำได้ดี และที่ควรปรับปรุง  คืออะไรครับ”

“ผมทำได้ดีช่วงสองสามนาทีแรกโดยมุ่งความสนใจไปที่การถามคำถาม ช่วยให้คุณเข้าใจความต้องการ และสถานการณ์ดีขึ้น และคิดไอเดียใหม่ ๆ ด้วยตนเอง

สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือ  ผมพยายามบอกคำตอบผม แทนที่จะช่วยให้คุณคิดหาด้วยตนเอง”

“ดีมากครับ สิ่งดีคงไว้  สิ่งไม่ดีระวังไม่ทำซ้ำ”

คุณศิริพยักหน้า

“ครั้งนี้ผมอยากให้คุณโค้ช ให้ผมเป็นนักเขียนคอลัมน์ธุรกิจชั้นเลิศ คุณจะแนะนำอย่างไร”

“คุณเกรียงศักดิ์ คุณมีประสบการณ์การเขียนมากว่า 11 ปี ผมไม่สามารถบอกคุณได้ว่าคุณควรทำอย่างไร แต่ผมสามารถช่วยให้คุณคิดด้วยตนเอง จะดีใหมหากผมจะใช้คำถามในการช่วยอำนวยความคิดของคุณ”

“โอเค”

“นิยามของ นักเขียนคอลัมน์ธุรกิจชั้นเลิศ คืออะไรครับ”

“สามารถเขียนบทความที่น่าสนใจอย่างสม่ำเสมอ วัดง่าย ๆ สองอย่าง คือ ถูกส่งเวียนต่อ ๆ กันไปให้ผู้อื่น และมีผู้อ่านส่งอีเมล์มาชื่นชมสองสามฉบับ”

“กรุณายกตัวอย่างบทความที่ได้รับการตอบรับดี ๆให้ฟังหน่อยครับ”

“บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้ เรื่อง ผลตอบแทนจากการลงทุนจากการโค้ช”

“อ้อ ผมจำได้ แล้วคุณได้พล๊อตเรื่องนี้มาจากไหน” ศิริถาม

“ผมได้แรงบันดาลใจจากคำถามของผู้บริหารท่านหนึ่งที่เป็นโค้ชชี่ของผม ระหว่างการโค้ช เขาถามว่า เขาจะทราบได้อย่างไรว่าการโค้ชชิ่งนั้นคุ้มค่าการลงทุนและความพยายามของเขา ผมเองก็ไม่มีคำตอบให้ในขณะนั้น

ระหว่างขับรถกลับบ้านผมนั่งคิดไป  จนนึกถึงตัวอย่างหนึ่งได้ ผมนำเรื่องนั้นมาใส่รายละเอียดเพิ่มเพื่อให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น นี่แหละครับ คือที่มา”

“น่าสนใจมาก 

คุณเกรียงศักดิ์คิดว่ามีวิธีไหนบ้าง  ที่จะทำให้คุณเขียนเก่งได้”

ผมออกความคิดเห็นออกไปมากมาย แม้บางไอเดียอาจจะฟุ้งซ่านไปบ้าง  แต่คุณศิริก็ฟังอย่างตั้งใจ ผ่านไปสักครู่ผมก็เริ่มตัน 

ผมหยุดคิดแล้วหันมาถามคุณศิริว่า “มีวิธีไหนอีกที่พอจะแนะนำผมไหมครับ”

“ไม่ทราบครับ คุณเองก็คิดจากทุกมุมแล้ว” เขาจำนนอย่างไม่เสแสร้ง

ผมตระหนักว่าคุณศิริเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงนั่งคิดเองต่อไปว่าทางออกอื่นน่าจะมีอะไรอีก แล้วผมก็จุดประกายไอเดียใหม่ขึ้นมา

“คอลัมน์ที่ดี มักเกิดจากคำถามยาก ๆ คุณคิดอย่างไรถ้าผมจะรวบรวมคนช่างคิดสัก 5-6 ท่านที่ผมชื่นชมการวิเคราะห์ของพวกเขา จากนั้นทุกสัปดาห์ผมจะอีเมล์เพื่อถามว่ามี คำถามยาก ๆ สำหรับเดอะโค้ช หรือไม่ แล้วผมก็จะได้รับ 5-6 คำถามต่อสัปดาห์ จากจุดนี้ผมสามารถเลือกหนึ่งหรือสองคำถามมาเป็นคอลัมน์ได้” 

ผมตื่นเต้นกับไอเดียนี้มาก นี่เป็นไอเดียดี ๆ ที่ได้จากการจำลองสถานการณ์  ที่เกินความคาดหวังของผมอย่างมาก

คุณศิริทึ่งกับเหตุการณ์นี้ เขาดูตื้นตันใจและถามผมว่า “คุณคิดออกได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่ผมไม่ได้ช่วยคุณเลย”

“ผิดแล้วครับ คุณช่วยอย่างมากเมื่อพูดว่า ผมไม่รู้ การพูดแบบนี้ ผลักความเป็นเจ้าของในการหาทางออกกลับมาให้แก่ผม เมื่อคุณยอมจำนนแบบนั้น มันกระตุ้นให้ผมพยายามคิดด้วยตนเองมากขึ้น

จากนั้นผมย้อนกลับไปคิดว่าคอลัมน์ดี ๆ มักเกิดจากคำถามยาก ๆ ของโค้ชชี่ ผมจึงคิดว่าถ้าผมสามารถรวบรวมกลุ่มผู้บริหารที่มักตั้งคำถามยาก ๆ ได้ ผมก็จะมีเรื่องจุดประกายในการเขียนคอลัมน์ที่ยอดเยี่ยมได้อย่างสม่ำเสมอ”

“ถ้าเช่นนั้น การพูดว่า ผมไม่รู้ กับทีมงานที่มาถามหาทางออกเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานของเขา พวกเขาก็จะมีความเป็นเจ้าของในการคิดทางออกให้แก่ปัญหาของตนเองมากขึ้น ว้าว เยี่ยมไปเลย” คุณศิริสรุป