ทำไมเราจึงทำงานของลูกน้อง

“คุณเกรียงศักดิ์ เลขาผมบอกว่าผมดูเครียดมาก”

“เธอบอกคุณตั้งแต่เมื่อใหร่ครับ คุณพรชัย”

“เมื่อเช้านี้ครับ เธอบอกว่าเธอสังเกตความเปลี่ยนแปลงมาสองสามวันแล้ว”

“แล้วสองสามวันที่ผ่านมา คุณกังวลใจเรื่องอะไร”

“ผมก็ไม่ทราบ” เขาตอบอย่างรวดเร็ว

“คุณตอบเร็วมาก ทำไมคุณไม่ใช้เวลาสักนิดเพื่อพิจราณาก่อนตอบล่ะครับ”

“ผมไม่มีเวลา ผมมีงานมากมายที่ต้องทำ”

“ผมอยากให้คุณใช้เวลาสักสามนาทีเพื่อเขียนสิ่งต่างๆที่วนเวียนอยู่ในความคิดของคุณ โดยใช้แนวทางจากคำถามเหล่านี้

– คุณกำลังกังวลเรื่องอะไร

– ปัญหาใดที่ต้องหาสาเหตุ

– เรื่องใดที่ต้องการการตัดสินใจ

– มีแผนงานใดที่ต้องเริ่มลงมือทำ”

สามนาทีผ่านไป เขาเขียนออกมาได้ 20 เรื่อง

“คุณมี 20 เรื่องที่ต้องทำ แต่หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง ดังนั้นคุณควรทำอะไรก่อนลงมือทำงานเหล่านี้”

“ผมควรจัดลำดับความสำคัญ แต่ทุกเรื่องต่างมีความสำคัญทั้งนั้น”

“ถูกครับ ถ้าเช่นนั้น ผมขอเสนอเครื่องมือที่สามารถช่วยคุณในเรื่องนี้นะครับ”

พรชัยพยักหน้ารับ

“ให้ใช้ 2 เกณฑ์ ที่จะช่วยให้คุณมองภาพได้ชัดขึ้น คือ ความสำคัญ และความเร่งด่วน

ใช้ สูง (H) กลาง (M) ต่ำ (L) เป็นสัญลักษณ์ในการจัดลำดับความสำคัญ 

เช่น คุณไม่ทราบสาเหตุที่รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ เอ ลดลง แต่คุณต้องตอบคำถามนี้กับเจ้านายบ่ายวันนี้ และเรื่องนี้มีผลกระทบต่อรายได้ถึงครึ่งหนึ่งของบริษัท กรณีนี้ คุณต้องให้ H/H (เพราะมีทั้งความสำคัญ และความเร่งด่วนสูง)”

เขาใช้เวลาสักครู่ในการจัดลำดับความสำคัญ

“ผมจัดได้ สามกลุ่ม

3 เรื่องมีลำดับความสำคัญสูง 7 เรื่อง ปานกลาง และ 10 เรื่องอยู่ในระดับต่ำ”

“ดีครับ ทีนี้ มาถึงแบบฝึกหัดต่อไปที่ต้องการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน จะเป็นไรมั๊ยถ้าผมจะกดดันคุณเพิ่มเล็กน้อย”

พรชัยพยักหน้า

“จาก 20 เรื่องที่คุณต้องทำ มีสักกี่เรื่องที่เป็นงานของลูกน้องคุณ”

เขาสูดหายใจลึก ๆ เพราะว่าแบบฝึกหัดนี้สร้างแรงกดดันให้เขา

“ผมเข้าใจว่าการคิดเรื่องนี้กดดันคุณ แต่มันเป็นเรื่องจริงที่เราต้องเผชิญหน้าและจัดการกับมันวันใดก็วันหนึ่ง”

เขายิ้ม และตอบว่า

“มี 13 เรื่องที่เป็นงานของลูกน้องผม โดยที่  1 เรื่องอยู่ในกลุ่มความสำคัญสูง 2 เรื่องระดับกลาง และ 10 เรื่องระดับต่ำ”

“เพราะอะไรครับ” ผมถามโดยไม่ตัดสินเขา

“ผมสั่งงาน 13 เรื่องนี้ให้พวกเขาไป แต่เมื่อพวกเขาส่งงานมา กลับไม่ดีตามที่คาดหวัง ผมจึงเอามาแก้ใหม่เอง”

“คุณคิดว่ามีทางเลือกอื่นหรือไม่”

“แทนที่จะแก้งานเอง ผมควรให้ข้อมูลย้อนกลับ แล้วให้พวกเขาลองทำเองอีกครั้ง”

“แล้วทำไมคุณถึงไม่ใช้วิธีนี้ล่ะครับ”

“ผมไม่อยากทำร้ายความรู้สึกพวกเขา”

“เพราะอะไรครับ”

“พวกเขาอาจต้องอับอายและเสียหน้า”

“เพราะอะไรครับ”

“แม่สอนผมว่า เราไม่ควรทำให้ผู้อื่นเสียความรู้สึก เพราะอาจทำให้พวกเขาไม่ชอบผมในภายหลัง”

“แม่คุณสอนเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่”

“จำได้แม่นเลยว่าตอนประมาณสิบขวบ ผมทะเลาะกับเพื่อนสนิทเพราะเข้าใจผิดกัน ผมกลับมาเล่าให้แม่ฟังที่บ้าน ขณะนั้นเธอทำงานเป็นข้าราชการ แม่บอกว่า ถ้าผมอยากเป็นที่รักและได้รับการยอมรับในสังคม ผมไม่ควรพูดความจริงบางอย่างที่อาจทำร้ายความรู้สึกผู้อื่น เธอพูดว่า ความจริงนั้นไม่ตาย แต่คนพูดจะตาย”

“ปกติคุณขับรถมาทำงานเองหรือเปล่า” ผมถามเพราะผู้บริหารบางท่านมีคนขับรถ

“ขับเองครับ”

“ขณะขับ สัดส่วนการมองกระจกหน้า และกระจกหลังของคุณเป็นอย่างไร”

“80% กระจกหน้า 20% กระจกหลังครับ”

“จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณมองกระจกหลัง 80%”

“คงเกิดอุบัติเหตุ หรือไม่ก็ขับไม่ไปใหนไกล บางทีอาจขับวนเป็นวงกลมก็ได้”

“ถูกต้องครับ”

“ทำไมถึงถามเรื่องนี้ขึ้นมาครับ”

“แล้วคุณคิดว่าเพราะอะไรครับ”

เขากรอกตาไปมาระหว่างคิด “อ้อ ผมมัวใช้ชีวิตติดกับอดีต เหมือนการขับรถมองกระจกหลัง”

“ความเชื่อที่คุณได้รับมาจากแม่เหมาะกับการใช้ในวัยเด็ก แต่เวลานั้นผ่านไปแล้ว ตอนนี้คุณเป็นผู้บริหารขององค์กร แล้วองค์กรของคุณให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลย้อนกลับมากน้อยเพียงใด”

“เราต้องให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างซื่อสัตย์ – ให้เกียรติพวกเขาโดยการบอกความจริงครับ”