ยิ่งอนาคตไม่แน่นอน ยิ่งต้องอยู่กับปัจจุบันให้มาก

ในภาวะที่เราคาดการณ์อนาคตได้ยาก
หากเราพยายามที่จะวางแผนมากเกินไป
แผนงานที่วางไว้อาจจะไม่ได้ใช้จริง
แถมสิ้นเปลืองพลังงานโดยไม่คุ้มค่า

การวางแผนงานจึงควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสถานการณ์
อาจจะมีแผนระยะยาวและระยะกลาง แบบหลวม ๆ
โดยมีแผนระยะสั้น ที่มีรายละเอียดพอควร
ซึ่งแผนระยะสั้น ควรจะมีหลายฉากทัศน์
รวมทั้งมีการสื่อสารแผนระยะสั้นที่ เร็ว สั้น กระชับ

หลังจากนั้นให้พยายามอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด
เพื่อจะได้มีสติ ประเมินสถานการณ์ได้ทันควัน
และมีสมาธิ หากต้องตัดสินใจด้วยข้อมูลที่จำกัด
อีกทั้งมีปัญญา แสวงหากัลยาณมิตรเพื่อจุดประกาย

ระวังอย่าอยู่กับอดีตมากเกินไป
อย่าหลงไหลชื่นชมความสำเร็จในอดีต
อย่าใฝ่ฝันที่จะกลับไปยุครุ่งเรืองแบบอดีต
อย่าวางแผนงานโดยยึดแบบที่เคยทำมาเท่านั้น

คำถามที่จะช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันได้ดี

  1. ขณะนี้เรากำลังทำอะไร
  2. บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบคืออะไร
  3. เราทุ่มเทสรรพกำลังกับปัจจุบันเพียงใด
  4. ความคิดของเราอยู่ที่อดีตหรืออนาคต
  5. ใคร/อะไรที่อาจจะเตือนใจเราให้อยู่กับปัจจุบัน

เมื่อเราพยายามทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
ก็น่าจะส่งผลให้อนาคตดีกว่าการสับสนในปัจจุบัน

จากหนังสือ “การฝึกปฎิบัติพลังแห่งจิตปัจจุบัน (หนังสือแปลจาก Practicing the power of now) ผมเรียนรู้คำถามสำคัญที่คอยเตือนตัวเองเรื่องการอยู่กับปัจจุบันว่า

“เมื่อใดก็ตามที่เราสังเกตความคิดของเรา ว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน แสดงว่า เรากำลังอยู่กับปัจจุบัน”