จากแหล่งที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=6OLPL5p0fMg
ได้นิยามคำว่า Critical Thinking คือ
การคิดเชิงวิจารณญาณ ซึ่งหมายถึงการคิดที่มีมิติหลากหลาย
ด้วยความเฉลียวฉลาด ซึ่งคุณต้องใช้การกลั่นกรอง
ไตร่ตรอง พินิจพิเคราะห์ ข้อมูลต่าง ๆ
รวมทั้งตรวจสอบการคิดของตัวเราอย่างมีระบบด้วย
เมื่อเราจะใช้วิจารณญาณในการมองเรื่องใด
เราควรมองให้รอบด้านหลากหลายมุมมอง
อย่ามองเพียงด้านใดด้านเดียว
เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วมันมักจะมีมากกว่าหนึ่งมุมมองเสมอ
ตัวอย่างเช่น
1. การมองแบบข้อดีข้อเสีย
“เราควรจะซื้อรถมาขับไปทำงานหรือนั่งรถสาธารณะไปทำงานดี”
แล้วแต่กรณี การมีรถขับมาทำงานมีข้อดีคือสะดวก และรวดเร็ว ข้อเสียคือค่าใช้จ่ายสูง การใช้รถสาธารณะมีข้อดีคือประหยัด แต่ข้อเสียคือไม่สะดวกและใช้เวลาเดินทางนาน
2. มองแบบ 3 Scenarios ดีสุด แย่สุด กลาง ๆ (Best-Case scenario, Worst-Case scenario, Base-Case scenario)
“คุณคิดว่าสภาพเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเป็นอย่างไร”
อาจจะดีสุด ๆ เลยถ้าเศรษฐกิจโลกดีและการเมืองนิ่ง อาจจะพอไปได้ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดการณ์ อาจจะแย่มากเลยหากเศรษฐกิจโลกแย่และการเมืองภายในปั่นป่วนสุด ๆ
3. การมองจากมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย
“ซีอีโอคนนี้เป็นอย่างไร”
ผู้ถือหุ้นอาจจะมองว่าเป็นคนดีมากเลยเพราะทำกำไรสูงสุด พนักงานอาจจะบอกว่าเขี้ยวเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่ายมาก หากไปถามคู่ค้าก็จะมีสองกลุ่มคือคู่ค้ารายใหญ่บอกว่าดีให้ผลประโยชน์เหมาะสม คู่ค้ารายกลางบอกว่าหยิ่งไม่ยอมคุยด้วยให้แต่ผู้บริหารระดับกลางมาคุย
4. การมองแบบเงื่อนเวลา อดีต ปัจจุบัน อนาคต
“การเป็นเกย์มีผลดีผลเสียอย่างไร”
ในอดีตอาจจะถูกรังเกียจเพราะสังคมมองว่าผิดปกติทางจิต ปัจจุบันบอกว่าปกติขนาดซีอีโอแอปเปิ้ลก็เป็น ในอนาคตอาจจะมองว่าดีก็ได้สมมติว่าประชากรส่วนใหญ่เป็นเกย์ดังนั้นกลายเป็นว่าคนที่ไม่เป็นเกย์อาจจะเป็นพวกผิดปกติเพราะเป็นคนกลุ่มน้อย
5. การมองโดยการสังเคราะห์จากปัจจัยสำคัญ
“เรามองว่าอนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร”
เราอาจจะพอประเมินได้โดยพิจารณาจาก แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐธรรมนูญใหม่ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แล้วนำมาสังเคราะห์ให้ออกมาเป็นทิศทางในความเห็นของเรา