เวลาประเมินว่าคนทำงานฐานความรู้ หรือ Knowledge Worker แต่ละคน
เขามีพฤติกรรมอย่างไร / เขาตัดสินใจทำแบบนั้นเพราะอะไร
หลายคน มักด่วนสรุปว่ามาจากสาเหตุเดียว
บ่อยครั้ง เขาเลือกบอกคำตอบแก่เราเพียงด้านเดียว
จากนั้นคนจึงจดจำ “คำตอบเดียว” ของคน ๆ หนึ่ง
และที่แย่ไปกว่านั้นคือ นำ “คำตอบเดียว” นั้นไปใช้เป็นมาตรฐานสำหรับคนอื่น ๆ
ในขณะที่เราแต่ละคนคิดแตกต่างกัน
เราลองมาดูตัวอย่างเรื่องการลาออกจากงานด้วยความสมัครใจ
อาจจะมาจากหลายสาเหตุ เช่น
1. วัฒนธรรมองค์กรไม่ตรงค่านิยมส่วนตัว
2. ไม่ชอบพฤติกรรมหัวหน้า
3. เงินเดือนน้อย
4. บ้านไกล
5. งานยาก
6. งานเยอะ
7. งานจำเจ
8. งานไม่มีอนาคต
การลาออกของคุณ ก. อาจจะมาจากสาเหตุ 1. 2. 4.
ส่วนการลาออกของคุณ ข. อาจจะมาจากสาเหตุ 3. 4. 5.
และการลาออกของคุณ ค. อาจจะมาจากสาเหตุ 4. 7. 8.
เวลาหัวหน้าถามเหตุผลเมื่อเขามาลาออก
คุณ ก. เลือกบอกข้อ 4. บ้านไกล แต่ไม่กล้าบอกเรื่องวัฒนธรรมองค์กร เดี๋ยวถูกมองว่าไม่ยอมปรับตัว และไม่กล้าบอกว่าไม่ชอบหัวหน้า บอกว่าบ้านไกลข้อเดียวน่าจะเพียงพอและคงไม่ถูกยับยั้ง
คุณ ข. เลือกบอกว่าข้อ 4. บ้านไกล แต่ไม่กล้าบอกเรื่องเงินเดือนน้อยกลัวถูกมองว่าสนใจแต่เรื่องเงิน ไม่บอกเรื่องบ้านไกลอาจถูกมองว่าไม่ยอมปรับตัว และไม่กล้าบอกว่างานยากคนจะมองว่าไม่สู้งาน
คุณ ค. เลือกบอกว่าข้อ 4. บ้านไกล แต่ไม่กล้าบอกว่างานจำเจ เดี๋ยวจะมองว่าจับจด และไม่กล้าบอกว่างานไม่มีอนาคตเพราะตอนสมัครงานบอกว่าอยากทำที่นี่มากเพราะว่ามีความมั่นคง
ดังนั้น หากหัวหน้าด่วนสรุป
เขาอาจจะเสนอบริษัทว่า 100% ของพนักงานที่เก่ง ๆ ที่ลาออก มาจากสาเหตุ “บ้านไกล” ดังนั้นจึงต้องย้ายบริษัทไปที่อื่นทันที
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า พนักงานแต่ละคนคิดอย่างไร
พูดคุยกับเขาเป็นระยะ ตั้งแต่วันแรก
ลองดูแนวทางต่อไปนี้ เพื่อให้เข้าใจแต่ละคน
1. เมื่อเขามาเริ่มต้นงาน หารือเรื่องแผนพัฒนาส่วนบุคคล (Individual Development Plan-IDP)
2. เมื่อใกล้จะพ้นทดลองงาน คุยเรื่องสิ่งที่ทำได้ดี/ควรปรับปรุง
3. ทุกสัปดาห์ คุยเรื่องการจัดการงานของเขา
4. ทุกสองสัปดาห์ คุยเรื่องปัญหาอุปสรรคในการทำงาน
5. ทุกเดือน ทานข้าวเที่ยงพร้อมเขาร่วมกับพนักงานคนอื่น ๆ
6. ทุกไตรมาส คุยเรื่องความคืบหน้าของ IDP ตัวต่อตัว
หากเราให้เวลากับพนักงานของเราแต่ละคนเพียงพอ
a. เราจะเข้าใจเขาดีขึ้น
b. เราจะสร้างแรงบันดาลใจให้เขาได้มากขึ้น
c. เราจะพัฒนาให้เขาได้ใช้ศักยภาพมากขึ้น
d. เราจะได้ทั้งผลงานและใจ จากเขามากขึ้น
ถึงตรงนี้ เราจะได้ยินหัวหน้างานบางคนบอกว่า “ไม่มีเวลา”
ที่จริงแล้ว คนที่บอกเช่นนัน ไม่ใช่ไม่มีเวลา
แต่เป็นเพราะ “ไม่เห็นความสำคัญ” จึงไม่ได้จัดสรรเวลา
อย่าลืมว่า บทบาทของหัวหน้าคือ ทำงานให้สำเร็จผ่านคนอื่น
การให้เวลากับแต่ละคนเป็นความจำเป็นในการสร้างผลงานที่ดี ไม่ใช่ทางเลือกครับ
ที่มา: Leadership Mentor – พี่เลี้ยงผู้นำภาคปฏิบัติ โดยเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย