ความตระหนักรู้ในตนเองคือ การที่เราแต่ละคนมีความตระหนักรู้ว่า คำพูด พฤติกรรม การกระทำ และการแสดงออกของเรามีผลต่อผู้อื่นอย่างไร
เราสามารถนำความตระหนักรู้ในตนเองไปประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการของผู้นำโดยเฉพาะเรื่อง การโน้มน้าวผู้อื่นให้เป็นไปตามความคาดหวังของเราในแบบที่ถูกจริตเขา (Win-Win) มีวิธีการดังนี้
1. เข้าใจธรรมชาติของเราว่า เรามีตัวตน ความเชื่อ ความคิด ค่านิยม แรงจูงใจ และเป้าหมายอย่างไร
2. สังเกตธรรมชาติของคนอื่นว่า เขามีตัวตน ความเชื่อ ความคิด ค่านิยม แรงจูงใจ และเป้าหมายอย่างไร
3. วางแผนในการแสดงออกอย่างเหมาะสม โดยให้สอดคล้องความคาดหวังและบริบทวัฒนธรรมองค์กรแต่ละแห่ง
4. พยายามแสดงออกให้สอดคล้องความคาดหวังตามบริบทของวัฒนธรรมองค์กรนั้น ๆ
5. ประเมินผลในการสนทนาที่สำคัญแต่ละครั้งว่าเราทำได้เหมาะสมเพียงใด
6. ปรับปรุงความคิด ความเข้าใจ และการแสดงออกในครั้งต่อไปให้ดีขึ้น
ดังตัวอย่าง พอลเป็นซีอีโอที่มีความรับผิดชอบสูง โดยปกติเขาจะเป็นคนสุภาพ แต่เมื่อใดก็ตามที่คนในทีมทำงานพลาดในเรื่องที่เคยทำมาแล้ว พอลจะทักท้วง และหากทีมงานแก้ตัวแบบน้ำขุ่น ๆ เขามักจะทนไม่ไหวและตวาดเสียงดังด้วยความโกรธ
การประยุกต์ใช้หลักการจากตัวอย่าง มีดังนี้
1. พอลได้ลองวิเคราะห์ตัวเองออกมาพบว่า เขาเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง ต้องการผลสำเร็จในระดับยอดเยี่ยม ให้ความสำคัญกับการทำตามสัญญา เรียนรู้จากข้อผิดพลาด ไม่ทำผิดซ้ำสอง ซื่อสัตย์ และมีแรงจูงใจอยากทำให้บริษัทเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง และเขาเป็นคนสุภาพ ดังนั้น หากใครทำงานได้สอดคล้องกับสิ่งเหล่านี้เขาจะพึงพอใจและหากไม่สอดคล้องก็จะไม่พอใจ และหากไม่สอดคล้องทีละหลายข้อก็จะโกรธมากจนลืมตัวแสดงความเกรี้ยวกราดออกไป
2. พอลได้ลองวิเคราะห์สมศักดิ์ผู้ที่เขาเพิ่งต่อว่าออกไปอย่างรุนแรงพบว่า สมศักดิ์เป็นคนที่ถนัดเรื่องการพูดคุยกับลูกค้ารายใหญ่มาก ทำงานดี มีความรับผิดชอบสูง ลูกค้าประทับใจ แต่เขาไม่ถนัดงานด้านเอกสาร ซึ่งมักจัดทำรายงานพลาดบ่อย ๆ เพราะรีบทำแบบเร็ว ๆ เพื่อให้ส่งงานได้ก่อนเวลา นอกจากนี้ ยังเป็นคนที่รักษาหน้ามาก แม้รู้ว่าผิดก็จะไม่ยอมรับในทันที แต่จะมาบอกภายหลังว่าขอโทษที่ทำผิดเสมอ
3. เมื่อพอลเข้าใจแล้ว ทุกครั้งที่ได้รับรายงานจากสมศักดิ์ ก่อนจะเริ่มอ่านเขาจะตั้งสติก่อนว่า เขาจะแสดงออกอย่างไร เช่น หากมีคำผิดเขาจะไม่โกรธสมศักดิ์ แต่จะบอกว่าขอให้ช่วยแก้ไขตรงไหนโดยไม่ทำให้สมศักดิ์เสียหน้ามาก
4. สำหรับการคุยกับสมศักดิ์ครั้งแรกพอลอาจจะต้องฝึกแสดงออกในใจก่อน แล้วค่อยสนทนากับสมศักดิ์ไปตามแผน
5. เมื่อจบการสนทนาแต่ละครั้งกับสมศักดิ์ พอลจะประเมินว่าสิ่งที่เขาทำได้ดีคืออะไร สิ่งที่เขาพลาดคืออะไร
6. ในครั้งต่อไปเขาจะพยายามนำข้อมูลที่เรียนรู้มาใช้พัฒนาการแสดงออกในอนาคตด้วยความตระหนักรู้ในตนเองมากขึ้น
ที่มา: Leadership Mentor – พี่เลี้ยงผู้นำภาคปฏิบัติ โดยเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย