เมื่อพูดไม่เก่งก็ต้องเขียนให้เก่ง

คนสองคนที่มีผลงานพอ ๆ กัน คนที่พูดเก่งจะคอยพูดรายงานผลงานบ่อย ๆ ทำให้ดูเป็นคนมีผลงานมาก คนที่เงียบ ๆ รายงานสั้น ๆ แบบถ้าไม่ถามก็ไม่พูด จะดูเป็นคนที่ไม่มีผลงานเท่าไร ดังนั้น คนที่เงียบ ๆ จึงต้องหาทางเสริมในเรื่องของการสื่อสาร 

คนที่เงียบมักจะช่างสังเกต คิดวิเคราะห์ดี และน่าจะเขียนได้ดีกว่าพูด จึงควรเขียนให้เก่ง เพื่อสื่อสารผลงานชดเชยการพูดไม่เก่ง จึงขอแนะนำการเขียนรายงานผลงานโดยใช้แบบจำลอง ABC (ABC Model) ดังนี้

A มาจากคำว่า Audience : ผู้อ่านคือใคร และเขามีจริตในเรื่องการอ่านอย่างไร

B มาจากคำว่า Benefit : ประโยชน์ที่จะได้รับคืออะไร

C มาจากคำว่า Consequence : ผลลัพธ์ที่เราต้องการให้เกิดเมื่อเขาอ่านจบคืออะไร

เรามาเจาะลึกทีละข้อกัน

A (Audience) ผู้อ่านคือใคร และเขามีจริตในเรื่องการอ่านอย่างไร
การเขียนรายงานเพื่อให้หัวหน้าทราบว่าเราสร้างคุณค่าอะไรให้องค์กร ต้องวิเคราะห์ว่าหัวหน้าถนัดการอ่านแบบไหน เช่น

– ต้องมีการปูพื้นเล่าบริบทก่อน วิเคราะห์ข้อดีและข้อเสีย นำเสนอทางเลือกสองทาง แล้วเสนอสิ่งที่เราคิดว่าเหมาะที่สุด

– มั่นใจในดุลพินิจของเรา ขอข้อมูลสั้น ๆ แล้วบอกมาเลยว่าต้องการอะไร

– แบบอื่น ๆ แล้วแต่บุคคล

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เขามีจริตเรื่องการอ่านอย่างไร

– ถามเลขานุการ

– สังเกตจากรายงานในอดีต

– สอบถามตรง ๆ เลย

B (Benefit) ประโยชน์ที่จะได้รับคืออะไร

เรามักจะนำเสนอข้อมูล แต่ไม่บอกประโยชน์หรือนัยสำคัญที่สร้างคุณค่าให้องค์กร ตัวอย่างประโยชน์หรือคุณค่าสำคัญขององค์กรคือ ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีก ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ เช่น

– เราเสนอให้ลดขั้นตอนเพื่อกระชับกระบวนการ

– เราเสนอลดขั้นตอนเพื่อลดค่าใช้จ่าย 5% 

C (Consequence) ผลลัพธ์ที่ต้องการ

การเขียนของเราหวังผลอะไร

– ให้เขาเข้าใจว่าเราต้องการสร้างคุณค่าอะไร

– โน้มน้าวให้มั่นใจว่าเราสามารถสร้างคุณค่าอะไร

– ต้องการให้เขาตัดสินใจอนุมัติ

ฝึกฝน สังเกต ปรับปรุง และพัฒนา ทำให้บ่อยก็จะเขียนเก่ง

ที่มา: Leadership Mentor – พี่เลี้ยงผู้นำภาคปฏิบัติ โดยเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย