“คุณเกรียงศักดิ์ ความแตกต่างระหว่างผู้นำและผู้จัดการคืออะไรครับ และผมจะต้องทำอย่างไรเพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำของตนเองให้ดีขึ้นได้” คุณบรรจงถาม
“ผมแนะนำกระบวนการจากหนังสือ Learning to Lead – a workbook on Becoming a LEADER โดย Warren Bennis & Joan Goldsmith
หนังสือนิยามความต่างระหว่างผู้นำและผู้จัดการไว้ว่า
ผู้นำมีความเชี่ยวชาญและปรับเปลี่ยนสิ่งรอบตัวต่าง ๆ เช่น ความผันผวน ความไม่ชัดเจน ที่ต่อต้านและข่มขู่ที่จะขัดขวางให้ต้องลำบาก
ผู้จัดการยอมจำนนกับสิ่งรอบตัวโดยไม่ท้าทาย มุ่งความสนใจที่การสั่งการผู้อื่นและควบคุมรายละเอียดต่าง ๆ
ผู้นำสืบหาความจริง เปิดรับและวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างระมัดระวัง ผลก็คือ พวกเขาออกแบบและสื่อสารวิสัยทัศน์ แนวคิด แผนการ และโปรแกรมต่าง ๆให้ผู้อื่นทราบ
ผู้จัดการมักยอมรับสิ่งที่ผู้อื่นบอก นำแนวคิดเหล่านั้นมาใช้โดยไม่สืบค้นให้รู้แจ้งว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการจริง ๆ และเพราะอะไร
ผู้นำชอบความมีประสิทธิผล ผู้จัดการชอบความมีประสิทธิภาพ ผู้นำเป็นเรื่องของแนวทางและค่านิยม เป็นเรื่องของอะไรและทำไม ผู้จัดการเป็นเรื่องของระบบ การควบคุม กระบวนการ นโยบาย และโครงสร้าง
ผู้นำให้ความเชื่อใจผู้อื่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ผู้จัดการนั้นเลียนแบบและทำงานเดิม
ผู้นำมีความคิดสร้างสรรค์และปรับตัวได้ ไม่มีขอบเขตใดมากั้น
ที่จริง ทุกองค์กรต้องการทั้งผู้นำและผู้จัดการที่เหมาะสม ผู้ที่เข้าใจความคาดหวังในหน้าที่ของตนและรับผิดชอบในการทำงานให้เสร็จลุล่วง
ประโยคง่าย ๆ เกี่ยวกับความต่างของผู้นำและผู้จัดการ คือ ผู้จัดการทำสิ่งที่ถูกต้อง ผู้นำทำสิ่งที่ควรทำ (A manager does things right. A leader does the right things.)
คุณบรรจง ใครคือบุคคลสามท่านที่เป็นผู้นำที่ต้นแบบของคุณ”
“พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คุณพ่อผม และเจ้านายคนปัจจุบันครับ” บรรจงตอบ
“ทำไมคุณถึงเลือกท่านเหล่านี้” ผมถามต่อ
“สำหรับในหลวงมีแง่มุมความเป็นผู้นำมากมาย เช่น
– วิสัยทัศน์
– ทุ่มเท
– คำสอนเข้าใจง่าย ใช้ได้จริง
– เป็นแบบอย่าง
– ถ่อมตัว
– พยายามแก้ปัญหา
– เห็นใจผู้อื่น
– การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
– ทำงานหนัก อุทิศตน
สำหรับพ่อผมนั้นเหตุผลคือ
– ใส่ใจ
– อบอุ่น
– ให้คำแนะนำ
– อดทน
– อดกลั้น
– อารมณ์ขัน
– สงบ
– ความรัก
– ความเชื่อใจ
สำหรับเจ้านายเพราะว่า
– ชอบท้าทายความสำเร็จในปัจจุบัน
– ความคิดริเริ่ม
– พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
– ให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
– กระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจ
– มีวิสัยทัศน์”
“คุณบรรจง ถ้าจะประมวลสิ่งที่บุคคลทั้งสามท่านมีคล้ายกันคืออะไรครับ”
“น่าจะเป็น
– วิสัยทัศน์
– เรียนรู้และพัฒนาตนเอง
– รู้ดีในสิ่งที่ตนทำ
– พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
– กระตุ้นและให้แรงบันดาลใจ
– เป็นแบบอย่างที่ดี”
“คุณบรรจง ลองประเมินตนเองในแต่ละคุณสมบัติโดยใช้คะแนน 1-10 ครับ”
“วิสัยทัศน์ 7/10 เรียนรู้และพัฒนาตนเอง 8/10 รู้ดีในสิ่งที่ทำ 9/10 พัฒนาอย่างต่อเนื่อง 7/10 กระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจ 6/10 และเป็นแบบอย่าง 8/10”
“เรื่องใหนที่คุณคิดว่ามีความสำคัญและต้องการพัฒนาก่อน”
“กระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจผู้อื่นครับ”
“ดีครับ ลองเรียนรู้จากแบบอย่างทั้งสามท่าน พวกเขากระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจอย่างไร”
“ในหลวงทำโดยการทำงานหนักอย่างยาวนาน ใช้พื้นที่ในวังทำเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาสำหรับราษฎร และพระบรมราโชวาทในวาระต่าง ๆ นั้นเป็นคู่มือแรงบันดาลใจให้แก่ผม
คุณพ่อทำทำตัวเป็นแบบอย่าง เน้นความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความอดทนซึ่งผมได้สามเรื่องนี้มาจากท่านเต็ม ๆ เลย
สำหรับเจ้านาย เธอทำโดยการกระทำและคำพูด เธอสื่อสารกับทีมทุกวันในเรื่องการให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เธอบอกว่าลูกค้าเป็นผู้จ่ายเงินเดือนแก่พวกเรา”
“แล้วคุณจะนำความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาตนเองได้อย่างไร”
“ผมคิดว่าประยุกต์ได้หมดครับ”
“คุณเกรียงศักดิ์ สมมติว่าผมมีเจ้านายหรือพ่อแม่ที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี แล้วผมจะเรียนรู้ได้อย่างไร”
“Michael Burlingame ผู้เขียนหนังสือ The inner world of Abraham Lincoln บอกว่าการที่ประธานาธิบดีลินคอล์นถูกพ่อทุบตีตอนเด็ก ๆ ทำให้เขาเข้าใจหัวอกของทาสและเป็นแรงขับดันให้เขาเลิกทาสได้ในที่สุด
คุณยังสามารถเรียนรู้จากผู้อื่นที่ไม่ใช่คนใกล้ชิดก็ได้
ภาวะผู้นำไม่ใช่เรื่องของตำแหน่งหน้าที่ คุณสามารถเห็นได้จากคนทุกระดับรอบตัวคุณ ถ้าพวกเขาทำสิ่งต่าง ๆตรงตามที่บอกตอนแรก พวกเขาก็คือผู้นำเช่นกัน”