การโค้ชพนักงานนักคิด

“คุณเกรียงศักดิ์ ขออภัยครับ ผมจำเป็นต้องคุยประเด็นนี้กับซีเอฟโอในตอนนี้” คุณมานพขออนุญาตผมเมื่อซีเอฟโอขอเข้ามาพบกลางคันด้วยปัญหาด่วน

โค้ชชี่ของผมคือคุณมานพเป็นกรรมการผู้จัดการ เราพบกันเดือนละสองครั้งที่ออฟฟิตของเขา

หลังจากซีเอฟโอเล่าปัญหา คุณมานพก็บอกทางแก้เป็นขั้นตอนโดยละเอียด ระหว่างนี้ผมได้นั่งฟังและสังเกตการณ์ไปด้วย

เมื่อพวกเขาคุยกันเสร็จ คุณมานพถามผมว่า “วิธีการโค้ชของผมเป็นอย่างไรบ้าง”

“ผมคิดว่าคุณโค้ชด้วยการใช้คำสั่งมากเกินไป เหมือนเขาเป็นเด็ก คุณบอกขั้นตอนการทำงานเขาอย่างละเอียด คุณน่าจะลองโค้ชโดยการใช้คำถามแทน”

“ทำไมถึงต้องทำอย่างนั้นด้วย”

“ผมจะเล่าตัวอย่างให้ฟัง

เดือนที่แล้วผมต้องการเปลี่ยนรูปเครื่องหมายการค้า สำหรับการดำเนินการต้องส่งเอกสารและรูปเครื่องหมายการค้าแก่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ผมจึงให้คุณพิม ผู้ช่วยของผมเป็นผู้ดำเนินการให้
คุณพิมถามผมว่าต้องทำอย่างไรเพราะเธอไม่เคยทำงานนี้มาก่อน

ผมจึงบอกเธอว่า – คุณพิม คุณนั่งแท็กซี่ไปที่กรม ฯ ที่นนทบุรีเพื่อขอแบบฟอร์มแล้วกลับมากรอกที่ออฟฟิศ แล้วนำกลับไปยื่นที่กรม ฯ อีกครั้งในวันรุ่งขึ้น จากนั้นรอหกเดือนเพื่อให้ทางกรม ฯ ตรวจสอบรูปเครื่องหมายการค้าว่าไม่ซ้ำกับของผู้อื่น จากนั้นเราก็จะสามารถใช้รูปเครื่องหมายการค้าใหม่ได้

สัปดาห์ต่อมา ผมถามเธอถึงความก้าวหน้า เธอบอกผมว่า เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ผมถามเธอไปว่าทำอย่างไร

คุณพิมบอกว่า – พิมดูที่เวปไซต์ของกรม ฯ เพื่อตรวจสอบขั้นตอนจึงพบว่าสามารถดำเนินการออนไลน์ได้ ตั้งแต่การยื่นเอกสารและรูปเครื่องหมายการค้า และการตรวจสอบความเหมือนคล้ายของรูปเครื่องหมายการค้ากับของผู้อื่น สำหรับขั้นตอนนี้ก็สามารถตรวจสอบผ่านทางเวปไซต์ได้ โดยไปซื้อเครดิตที่ธนาคารยูโอบีใกล้ ๆ ออฟฟิศเรา จากนั้นก็สามารถตรวจสอบได้ว่ามีรูปเครื่องหมายการค้าว่าซ้ำหรือไม่ ก็พบว่าไม่มีซ้ำ จึงได้ส่งเอกสารไปแล้ว ตอนนี้เราเพียงรอหกเดือนให้ทางกรม ฯ ดำเนินการ

คุณมานพ คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องนี้”

“เราไม่ต้องบอกทุกรายละเอียดกับลูกน้อง ใช่ใหมครับ” คุณมานพถามแบบไม่แน่ใจ

“ถูกต้องครับ เพราะเราบริหารพนักงานที่ใช้ความคิดในการทำงานเป็นหลัก เราจ้างพวกเขามาคิด แต่ผู้นำส่วนมากก็เป็นเหมือนผมคือประเมินความสามารถลูกน้องต่ำ ไม่ใว้ใจพวกเขาและที่สำคัญเราไม่ใช้พลังสมองของพวกเขาอย่างเต็มศักยภาพ”

“แล้วเราควรทำอย่างไรดี”

“จากตัวอย่างของผม คุณพิมหาวิธีที่ดีกว่าเพื่อทำงานให้เสร็จ ถ้าคุณต้องการโค้ชเธอโดยใช้คำถาม คุณจะเริ่มอย่างไร”

“ก่อนอื่น ผมจะไม่บอกเธอว่าต้องทำอะไร อย่างที่คุณบอกเธอ” คุณมานพยิ้มเย้ยเล็กน้อย

ผมยิ้มตอบ

“เมื่อผมมอบหมายงานแล้วเธอถามความเห็นว่าต้องทำอย่างไร ผมจะถามกลับว่า – คุณพิม ผมรู้ขั้นตอนแต่มันนานมาแล้วจึงอาจมีความเปลี่ยนแปลง ถ้าคุณต้องการตรวจสอบขั้นตอนที่เป็นปัจจุบัน คุณคิดว่าควรทำอย่างไร

เธออาจตอบว่า ดิฉันจะลองตรวจสอบจากเวปไซต์ของกรม ฯ

จากนั้นผมก็ชมเชยและสนับสนุนให้เธอลงมือทำ และขั้นตอนที่เหลือก็คงเหมือนกันกับที่คุณเล่าให้ผมฟังก่อนหน้านี้”

“ดีครับคุณมานพ เมื่อเราถามให้ผู้อื่นหาคำตอบด้วยตนเอง พวกเขาจะภูมิใจกับความคิดของตน ทำให้มีความรับผิดชอบในการทำให้ลุล่วงมากขึ้น แล้วผมก็มีความเชื่อว่าเมื่อเราใช้คำถามช่วยให้ผู้อื่นคิด จะทำให้พวกเขามีคุณสมบัติสามข้อนี้ การมีส่วนร่วม ความเป็นเจ้าของงาน และจิตวิญญาณเถ้าแก่”

“ก็จริงครับ แต่ผมไม่อดทน ผมไม่อยากใช้เวลาในการช่วยพวกเขาคิด ผมอยากบอกทางออกไปเลย”

“แล้วจากประสบการณ์ของคุณ เวลามีคนมาถามความเห็นจากคุณ โดยเฉลี่ยแล้วมีสักกี่ครั้งที่พวกเขาทำตามที่คุณบอกทุกอย่าง”

“ราวครึ่งหนึ่งครับ”

“แล้วอีกครึ่งก็ทำตามที่พวกเขาเห็นสมควร ถ้าคุณก็โชคดีก็เป็นเหมือนกรณีของผม ที่ลูกน้องหาทางออกที่ดีกว่าได้เอง แต่บ่อยครั้งที่พวกเขาหาทางออกได้ไม่ดีนัก ดังนั้นถ้าคุณช่วยให้พวกเขาคิดร่วมกันกับคุณด้วยคำถาม คุณจะสามารถช่วยให้เขาคิดได้ถูกทางก่อนลงมือทำ”