“อาเกรียงครับ นายผมบอกผมว่า ยังขาดวุฒิภาวะ หมายความว่าอย่างไรครับ” โรจน์ลูกชายเพื่อนสนิทของผมถาม เขาจบโทต่างประเทศและเป็นผู้บริหารฝึกหัดในองค์กรขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง
“ทำไมนายบอกโรจน์อย่างนั้นละ”
“เขาบอกผมตอนประเมินหลังจากครบสองเดือนครับ เนื่องจากเขายุ่งเลยไม่มีเวลาพูดครับ เขาโน๊ตลงในใบประเมินไว้แค่นี้เองครับ”
“อาคงต้องเดาแล้วละ วุฒิภาวะในที่ทำงานมักจะพูดถึงพฤติกรรมที่แสดงออกของคนโดยเปรียบเทียบอายุ ประสบการณ์ กับวิธีการแสดงออกทางอารมณ์และความคิดว่ามันสอดคล้องกับสถานภาพของเขาหรือไม่
เช่นโรจน์อายุ 25 ปีจบโทต่างประเทศ คนอื่นจะคาดหวังการแสดงออกของเราในระดับหนึ่ง อาจะลองยกตัวอย่างให้ฟัง
ในกรณีรับมอบหมายงาน
คนที่มีวุฒิภาวะระดับโรจน์นั้นเมื่อรับมอบหมายงานต้องใส่ใจในรายละเอียดของคำสั่ง หากไม่เข้าใจก็ต้องซักถามเพื่อให้เข้าใจตรงกัน บางครั้งเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับนาย ก็สามารถแสดงความเห็นที่แตกต่างอย่างสุภาพออกไปได้ นายก็ควรจะอธิบายชี้แจง และโน้มน้าวให้เราเห็นด้วย หากว่าเราไม่เห็นด้วยแต่เก็บไว้ในใจแล้วพยักหน้าหรือแสดงท่าทางว่าตกลง แต่กลับไม่ทำตามเพราะไม่เห็นด้วย อย่างนี้ถือว่าขาดวุฒิภาวะ เพราะว่าเราเป็นคนทำงานก็ต้องทำตามที่เราได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่แม้ว่าเราอาจจะไม่เห็นด้วยก็ตาม มันเป็นความรับผิดชอบ
เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้น
แผนงานส่วนใหญ่มักมีการเบี่ยงเบนเมื่อถึงเวลานำไปลงมือทำ มีปัจจัยหลายอย่างทำให้เป็นอย่างนั้น คนที่มีวุฒิภาวะจะปรับแผนงานตามสถานการณ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ในอุดมคติแล้วควรแจ้งการปรับแผนให้นายและคนเกี่ยวข้องก่อนลงมือทำตามแผนใหม่ หากไม่ทันก็พยายามสื่อให้เร็วที่สุดหลังปรับแผนไปแล้ว หากเป็นคนที่มีวุฒิภาวะน้อยเมื่อเจอการเบี่ยงเบนที่ไม่ตรงตามแผนงานก็จะกลับไปถามนายว่าจะทำอย่างไรดี มันอาจจะโอเคนะหากโรจน์เป็นพนักงานผู้น้อยระดับธุรการ แต่ไม่ใช่ความคาดหวังสำหรับผู้บริหารฝึกหัด”
“แต่ผมไม่มีประสบการณ์นี่ครับ”
“โรจน์จบปริญญาโทมา ต้องมีการเรียนมา หรือไม่ก็ต้องเคยฝึกงานมาบ้าง”
“ตอนเรียนผมสนใจแต่เรียนเพื่อสอบ ฝึกงานก็ถ่ายเอกสารและจัดไฟล์แค่นั้นเองครับ”
“แต่โรจน์ยังมีความคิดริเริ่มอีกนี่”
“ยังไงครับ”
“สมมติว่าพรุ่งนี้นายมอบหมายงานหนึ่งที่โรจน์ทำได้คนเดียว เธอจะทำอย่างไร”
“ก็วางแผนงานว่ามีขั้นตอนจะต้องทำอะไรบ้าง”
“ดีมาก สมมติว่าโรจน์วางแผนว่ามีงานห้าขั้นตอน และหากทำตามแผนในห้าขั้นตอนจะใช้เวลาทั้งหมดรวมสามวันทำการ จากที่เราคุยกันมา โรจน์คิดว่าแผนงานมันจะเป็นไปตามนั้นทุกอย่างหรือไม่”
“คงไม่ครับ น่าจะมีอะไรไม่เป็นไปตามแผนอย่างที่อาเพิ่งบอกมา”
“คิดว่าอะไรน่าจะเบี่ยงเบนไปจากแผนบ้างละ”
“ไม่รู้ครับ ก็ผมไม่เคยทำงานนี้มาก่อนนี่ครับ ผมจะรู้ได้อย่างไรกันครับ”
“ก็จริงอยู่ แต่ว่าโรจน์สามารถจะหาว่าใครที่เคยทำงานนี้มาก่อนได้หรือไม่”
“อ้า… ผมรู้แล้วครับ ถ้าผมพยายามหาว่าใครเคยทำเรื่องนี้มาก่อน และเขาเคยเจอปัญหาอะไรมาบ้าง เพื่อที่ว่าผมจะได้นำมาปรับแผนให้รัดกุมขึ้น”
“ใช่แล้วโรจน์ หากเธอหาคนที่เคยทำ ถามเขาถึงปัญหาที่อาจจะเกิด และแนวทางป้องกัน นี่เรียกว่ามีทั้งวุฒิภาวะ และมีความคิดริเริ่มด้วยตนเอง แทนที่จะรอปัญหาเกิดหรือรอนายสั่งอย่างเดียว
นอกจากนี้วุฒิภาวะยังเกี่ยวกับการที่เราเผชิญแรงกดดัน ในองค์กรงานของเรามักสัมพันธ์กับงานคนอื่น ๆ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าแผนกับการปฏิบัติมันจะตรงกัน จึงมีคนจำนวนมากไม่ได้วางแผนป้องกันปัญหา ดังนั้นหากงานโรจน์ต้องได้รับงานช่วงต่อจากห้าคน ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีสักคนที่พลาด ประเด็นที่พลาดมักจะเกี่ยวกับสามเรื่องคือ เวลา ต้นทุน และคุณภาพ หากมีใครคนใดคนหนึ่งพลาดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง งานโดยรวมก็จะบกพร่อง จะมีคนบ่นและต่อว่าเกิดขึ้น คนที่มีวุฒิภาวะจะสงบ ไม่โวยวาย หน้าเสีย หรือเจ้าน้ำตาให้เห็น เขาจะฟังคำบ่นแม้ว่าจะไม่รื่นหูก็ตาม เพื่อเข้าใจปัญหาและหาทางแก้ แทนที่จะหาทางปกป้องทุกรายละเอียดเพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ”