คุณทวีค่าให้ผลงานของทีมเพียงใด (Multipliers Leadership)

ลิซ ไวซ์แมน ประธานบริหารกลุ่มบริษัทไวซ์แมน ให้บริการโค้ชผู้บริหารและพัฒนาภาวะผู้นำ เคยเป็นรองประธานบริษัทออราเคิล ในส่วนพัฒนาทรัพยากรบุคคลทั่วโลก

หนังสือเล่มใหม่ของเธอ Multipliers พูดถึงผู้นำเก่ง ๆ ที่ทำให้ผู้อื่นฉลาดขึ้นได้อย่างไร โดยเริ่มต้นจากคำถามว่า

“เพราะอะไรผู้นำบางคนทำให้คนรอบตัวฉลาดมีใหวพริบมากขึ้น ในขณะที่คนอื่น ๆ ทำให้ลดน้อยลง”

Multipliers เป็นผลการวิจัยโดยสัมภาษณ์ผู้บริหารจากหลายองค์กรในอุตสาหกรรมต่างๆถึง 150 ท่าน เช่นจาก Apple, Cisco, Infosys, Intuit, IDEO, Mckinsey&Company, Microsoft, Oracle, P&G และ SAP

หนังสือแยกผู้นำเป็นสองกลุ่ม คือ “ผู้ทวีค่า” (Multiplier) หรือผู้สร้างองค์กรที่การก่อตัวความฉลาดและใหวพริบให้เติบโตอย่างรวดเร็ว อีกกลุ่มคือ “ผู้ทำให้ถดถอย” (Diminisher) หรือผู้ทำให้ความรู้ ความสามารถและใหวพริบต่าง ๆ ในองค์กรลดลง

ท่านลองตอบคำถามต่อไปนี้

จากประสบการณ์ ระบุผู้นำสองท่านที่เคยร่วมงาน โดยท่านแรกทำให้ความสามารถถูกปิดกั้น และอีกท่านหนึ่งให้โอกาสสูง

ผลกระทบที่แต่ละท่านมีต่อผลงานของคุณคิดเป็นร้อยละเท่าไหร่

ผลวิจัยพบว่า “Diminisher” ได้รับผลงานและความร่วมมือเพียงร้อยละ 20-50 ในขณะที่ “Multiplier” ได้รับถึง 70-100 ซึ่งสูงกว่าถึงสองเท่า จะเห็นได้ว่าผู้นำแต่ละท่านสร้างผลกระทบต่อองค์กรแตกต่างกันเพียงใด

การเป็น “Multiplier” มีห้าปัจจัยคือ

  1. แม่เหล็กคนเก่ง – ดึงดูดและใช้คนเก่งอย่างเหมาะสม
  2. ให้อิสระ – ให้โอกาสในการแสดงความคิดใหม่ๆ
  3. ท้าทาย –ขยายความท้าทาย
  4. นำอภิปราย – อภิปรายเพื่อตัดสินใจ
  5. นักลงทุน – ปลูกฝังความรับผิดชอบ

มาดูรายละเอียดของแต่ละข้อกันครับ

แม่เหล็กคนเก่ง คือผู้ดึงดูดคนเก่งที่ดีที่สุด ใช้เขาเต็มพิกัด พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า เป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างผลงานและให้โอกาสแก่คนเก่งหน้าใหม่ได้เติบโตในสายอาชีพ

คุณอาจเป็นแม่เหล็กคนเก่งได้ถ้า ผู้อื่นมองว่าคุณเป็นผู้ที่มองเห็น ดึงดูด และใช้ศักยภาพผู้อื่นอย่างเต็มที่ มีใครเคยพูดหรือไม่ว่าเขาเติบโตเร็วชึ้นเมื่อร่วมงานกับคุณ หรือกลับบอกว่าคุณชวนมาทำงาน เป็นเพียงทรัพยากรที่ใช้แล้วปล่อยให้เฉาไปเอง

กิจวัตรของแม่เหล็กคนเก่งคือ

มองหาคนเก่งในทุกที่
มองหาอัฉริยะโดยกำเนิด
ใช้ผู้อื่นให้ได้ประโยชน์สูงสุด
กำจัดอุปสรรค

มองหาคนเก่งในทุกที่ ระลึกเสมอว่าอัฉริยะนั้นมาได้ในหลายรูปแบบ
หนังสือพูดถึง บิล แคมป์เบล อดีตซีอีโอบริษัทอินทิว บิลเป็นที่รู้จักในเรื่องการนำทีมนักเทคโนโลยีชั้นนำของซิลิคอน วัลเล่ เขาพูดว่า “สมองพวกเขาทำในสิ่งที่สมองผมทำไม่ได้ พวกเขามีความเป็นอัจฉริยะที่ผมไม่มี”

เขาแสดงความนับถือต่อพวกเขาผ่านการกระทำ เขารับตรง ๆ ว่าเขาคิดไม่เหมือนกับทีมและเขาชื่นชมในสิ่งที่พวกเขาคิดค้น เขาฟังอย่างตั้งใจเมื่อมีคนเสนอมุมมองที่เขาไม่มี เขาให้ผู้อื่นสอนในสิ่งที่ไม่รู้ ด้วยเหตุนี้ทำให้เขาได้เป็นโค้ชของซีอีโอบริษัทต่าง ๆ เช่น Apple และ Google

สามารถหาอัจฉริยะโดยกำเนิดโดยถามคำถามเหล่านี้
สิ่งใดที่เขาทำได้ดีกว่าผู้อื่น
สิ่งใดที่เขาทำได้ดีกว่าคนรอบ ๆ ตัว
สิ่งใดที่เขาทำโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม
สิ่งใดที่เขารี่เข้าไปทำโดยไม่ต้องสั่ง
สิ่งใดที่เขาอยากทำแม้ไม่ได้รับค่าตอบแทน

การใช้ผู้อื่นอย่างเต็มพิกัดคือการเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับโอกาส “Multiplier” อยากรู้อยากเห็นเมื่อเห็นผู้อื่นทำงานได้ยอดเยี่ยมเพื่อไตร่ตรองก่อนเลื่อนตำแหน่งให้ เขาจะมองหาที่เหมาะ ๆ ให้ผู้ที่ทำผลงานยอดเยี่ยมอยู่
กำจัดอุปสรรค คือ กำจัดคนเก่งแต่เล่นเป็นทีมไม่เป็น

มีแนวทางเปลี่ยน “Diminisher” เป็น “Multiplier” หลายวิธี ที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนความเชื่อในแต่ละเรื่องคือ

แม่เหล็กคนเก่ง
เปลี่ยนจาก “ต้องรายงานฉันก่อนจะทำงานใด” เป็น “เมื่อใดที่พบอัจฉริยะภาพให้พวกเขาทำงานทันที”

อิสระภาพ
จาก “ความกดดันคือการเพิ่มผลงาน” เป็น “ความคิดดี ๆ มาจากการได้รับสิ่งดี ๆ ก่อน”

ความท้าทาย
จาก “ต้องการคำตอบทุกเรื่อง” เป็น “พัฒนาการเกิดจากความท้าทาย”

นักอภิปราย
จาก “เชื่อมั่นเฉพาะบางคน” เป็น “มีคนร่วมคิดมากพอ เราจะสามารถหาทางออกได้”

นักลงทุน
จาก “ฉันเท่านั้นที่คิดได้” เป็น “คนอื่นฉลาด ๆ ทั้งนั้น พวกเขาหาทางออกได้”