วิธีทำตัวให้เป็นพนักงานที่นายจ้างต้องการ

“คุณทวี  ขอบคุณมากเลยสำหรับหนังสือ How to become the most wanted employee around ของ David Freemantle  ที่คุณให้ผมมาหลายเดือนก่อน”

“ด้วยความยินดีครับ  อ่านแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ”

“เล่มนี้เป็นเล่มที่ 16 ของผู้เขียนซึ่งเป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จมาก่อน  เขาเคยเป็นถึงกรรมการของสายการบิน  British Caledonian Airline  มาก่อน  หนังสือแนะนำแนวทางห้าสิบข้อของการทำตัวให้เป็นที่ต้องการของนายจ้าง  ผมจะลองยกตัวอย่างบางข้อให้ฟังครับ

1. มีแผนการเรียนรู้ของตนเอง  ผู้เขียนบอกว่า 95% ของการเรียนรู้งานนั้นมาจากตนเองไม่ใช่จากห้องเรียนหรือตำรา  คุณต้องจัดทำแผนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองขึ้นมา  ซึ่งมันอาจจะเป็นการเรียนรู้จากหนังสือ  วารสารทางธุรกิจ  เข้าอบรม  สัมนาหรือขอคำแนะนำจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่าง ๆ  คุณต้องวางแผนการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง  ไม่มีใครวางแผนพัฒนาตนเองให้คุณได้  มันขึ้นอยู่กับเป้าหมายในชีวิตหน้าที่การงานของคุณเอง  เมื่อคุณออกจากรั้วมหาวิทยาลัยขอให้คุณตระหนักว่ายังมีสิ่งต่าง ๆที่คุณจะต้องเรียนรู้อีกมากมายนัก  การเรียนรู้นอกตำราคือความท้าทายอย่างยิ่ง  คนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่พัฒนาตนเองไปในทุก ๆระดับที่เขาเติบโตขึ้นในสาขาอาชีพ

2. ฟังว่าคนเก่งเขาฟังอะไรกัน  เวลาเราฟังคนเก่ง ๆ เขาพูด  อย่าฟังเพียงเฉพาะคำพูดของเขาเท่านั้น  แต่จงฟังลงไปอีกระดับหนึ่ง  คือการฟังเพื่อพยายามค้นหาว่าคนที่เฉลียวฉลาดนั้นเขาฟังอะไร  ตัวอย่างเช่นประธานาธิบดีบารัค  โอบามา  ได้รับอิทธิพลจากการอ่านเรื่องราวของอดีตประธานาธิบดีอับราฮัม  ลินคอล์น  อย่างมาก  ผู้เขียนจึงศึกษาหนังสือเกี่ยวกับลินคอล์นถึงสองเล่ม  เพื่อที่จะพยายามเข้าใจว่าโอบามาคิดอย่างไร  เพราะทำให้เขาประเมินได้ว่าผู้นำของอเมริกาคิดอย่างไร  และแนวโน้มและทิศทางของอเมริกาในเวทีโลกจะเป็นอย่างไร  เพื่อผู้เขียนจะได้ปรับตัวให้สอดคล้องกัน

3. ทำงานกับนายจอมเผด็จการหนึ่งปีเท่ากับเรียนปริญญาโท  นายที่เป็นเผด็จการมักจะเลือดร้อน  คาดการณ์ได้ยาก  และไม่ค่อยมีเหตุผล  พวกเขามีแนวโน้มที่จะเจ้าอารมณ์เกินเหตุ  แต่พวกเขามีอะไรให้เราเรียนรู้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน  คุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเขาและตัวเองอย่างมาก  คุณจะได้เรียนรู้วิธีเอาตัวรอดเมื่อถูกข่มเหง  ผู้เขียนเล่าว่าเขาเคยมีประสบการณ์การทำงานกับนายเผด็จการคนหนึ่ง  ซึ่งมักจะเรียกร้องลูกทีมแบบไม่สมเหตุสมผล  เช่นเขาอาจจะโทรหาลูกทีมทุกคนตอนสามทุ่มเพื่อจะขอให้เข้ามาประชุมที่สำนักงานของเขาด่วนเวลาห้าทุ่มคืนวันเดียวกัน  นายคนนั้นทำให้ผู้เขียนเรียนรู้ที่จะต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา  นายท่านนั้นจะไม่อดทนต่อข้อมูลที่กำกวม  เขาต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง  ชัดเจน  และทันสมัยตลอดเวลาไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืนก็ตาม  นอกจากนี้ผู้เขียนยังเรียนรู้ว่าเขามีโอกาสแสดงความเห็นโต้แย้งนายได้บ้างเหมือนกัน  แต่ต้องแน่ใจว่าข้อมูลที่มี  มีความถูกต้องครบถ้วน 100%  นายของเขาจะรับฟัง  และบางครั้งก็อาจจะคล้อยตามบ้าง  พวกนายเผด็จการแบบนี้  จะทำให้ ‘เด็กกลายเป็นชาย’  และทำให้คน ’อ่อนแอเป็นคนแข็งแกร่ง’  นายแบบนี้นี่แหละที่จะทำให้คุณรู้ว่าตนเองเป็นคนอ่อนแอหรือแข็งแกร่ง  พวกคนที่อ่อนแอก็จะค่อย ๆ ถอยห่างออกไปจากนาย  ในขณะที่คนที่แข็งแกร่งจะเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างรวดเร็วในหลายมิติ  พวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าการทำงานร่วมกับคนที่ไม่มีเหตุมีผลนั้นต้องวางตัวอย่างไร  (ซึ่งมันมีเรื่องราวให้เราได้เรียนรู้มากมายกว่าที่คุณคาดคิดไว้)  พวกเขาเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับการดูถูกเหยียดหยาม  (โดยการทำตัวเองให้แกร่งขึ้น  เพราะนายเผด็จการมักชอบเล่นงานคนอ่อนแอ)  คนแกร่งจะเรียนรู้ที่จะทำงานอย่างยอดเยี่ยมและใส่ใจในทุกรายละเอียด  อย่าลืมว่านายเผด็จการนั้นต้องมีดีมากทีเดียวเขาถึงสามารถขึ้นมาถึงระดับนี้ได้  เราควรเรียนรู้ข้อดีเหล่านั้น  และพยายามจดจำว่าสิ่งที่ไม่ดีที่เขาทำคืออะไรเพื่อเราจะไม่ทำตาม

4. ต้องเข้าตากรรมการ  อยู่ให้ถูกที่ถูกเวลา  พยายามร่วมงานกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร  และแสดงท่าทีเป็นมิตรพร้อมจะพูดคุยกับผู้ใหญ่หากเขาเดินเข้ามา  รู้จักถามคำถามดี ๆ  และแสดงความเห็นที่น่าสนใจในที่ประชุม  เมื่อร่วมงานกิจกรรมพยายามสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้บริหารระดับสูง”