“ผมเครียดมากเลยจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้” สุวิทย์ซีอีโอบริษัทขนาดกลางแห่งหนึ่ง บ่นให้ผมฟัง
“เหรียญมีสองด้านเสมอ ดังนั้นมันน่าจะมีผลดีบ้างละสุวิทย์”
“แต่เหรียญนี้มีด้านร้ายทั้งสองฝั่งเลยครับ” สุวิทย์ยังอารมณ์ค้างกับความหงุดหงิดจากวิกฤต
“สุวิทย์ ผมลองรวบรวมแง่คิดที่เห็นจากองค์กรลูกค้าของผมมาแชร์ให้ฟังนะครับ
- พวกเขาใช้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลง ในภาวะปกติ จะเปลี่ยนแปลงอะไรคนมักจะต่อต้าน แต่ว่าภาวะอย่างนี้จะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ดูจะมีเสียงขัดขืนน้อยลงไปเยอะ เพราะคนเข้าใจว่าสถานการณ์มันเป็นอย่างนี้ ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันเป็นธรรมดา
- เราจะเห็นต้นทุนในการทำธุรกิจที่แท้จริง เพราะภาวะเศรษฐกิจทำให้เราต้องจริงจังในการลดค่าใช้จ่ายทุก ๆด้าน ทำให้เราต้องสำรวจตรวจตราอย่างละเอียดกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งเรามักพบว่ามีรายจ่ายที่เกินจำเป็นอยู่มากที่เรามองข้ามในภาวะปกติ
- เราจะรู้ว่าใครเก่งจริง หรือใครฟลุ๊ค ในภาวะเศรษฐกิจดีเราอาจจะแยกไม่ออก เพราะว่าอาจจะมีบางคนที่ไปอยู่ถูกที่ถูกเวลา โดยที่เรานึกว่าเขาเก่ง แต่ที่จริงแล้วก็ธรรมดานี่เอง หากว่าใครที่ในช่วงนี้สามารถที่จะประคองธุรกิจ หรือทำให้ดีขึ้น คนนั้นต้องแน่จริง ๆ
- ทำงานเป็นทีมร่วมกันได้ง่ายขึ้น ในภาวะปกตินั้นบางคนอาจจะเลือกที่จะไม่ทำงานกับคนที่ศรศิลป์ไม่กินกันได้ แต่ว่าในภาวะวิกฤตนี้เราก็ใช้เป็นโอกาสให้คนปรองดอง สามัคคี ทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น แม้จะไม่ชอบหน้ากันเท่าไรนัก
- เรียนรู้จากคนหรือองค์กรที่เก่ง ๆ ขณะที่หลายบริษัทร่อแร่ เรากลับพบว่ามีบางแห่งที่ประคองตัวได้ บางแห่งเติบโตได้มากกว่าตลาดหรือคู่แข่ง โดยปกติแล้วมักจะเกิดกับองค์กรที่ผู้นำมีวิสัยทัศน์ที่ดี เช่น
ผมมีลูกค้าบริษัทแห่งหนึ่ง เมื่อสามปีที่แล้วเขาขอให้ผมโค้ชทีมผู้บริหารของเขากลุ่มหนึ่งเจ็ดท่าน ผมเลยขอเข้าพบซีอีโอเพื่อหาความต้องการที่จะให้โค้ช ในระหว่างการสนทนากันตัวต่อตัว ผมเลยถือโอกาสถามแทนผู้บริหารและบุคลากรขององค์กรนั้นว่า ท่านครับ ผมขอถามแทนทีมงานหน่อย พวกเขาทุ่มเทกันมามากมายในหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาทำเกินเป้าหมายอย่างที่เขาคาดกันไม่ถึง แล้วท่านยังขอให้ผมมาอบรมพวกเขา เพื่อให้เขาทำงานให้เก่งยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก จะเอาอะไรกันนักหนาครับ ปล่อยพวกเขาให้สบาย ๆ กว่านี้ไม่ได้หรือครับ
ซีอีโอท่านนั้นตอบว่า คุณเกรียงศักดิ์ ไม่ใช่ว่าผมใจไม้ใส้ระกำหรอกนะ ผมรู้ดีว่าพวกเขาทำงานหนักและทุ่มเทกันมากมาย แต่ผมไม่สามารถที่จะปล่อยให้พวกเขาอยู่กันแบบสบาย ๆ ได้หรอกครับ เพราะผมเชื่อว่าในอนาคตหากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี คู่แข่งขันเขารุกคืบหน้าไปมาก หรือทั้งสองอย่าง ถึงตอนนั้นคนของผมก็จะอยู่กันไม่ได้ มันเป็นความรับผิดชอบของผมครับที่จะป้องกันไม่ให้สถานการณ์แบบนั้นมันเกิดขึ้น
- จัดตั้งค่านิยมหลักที่เหมาะสม ลูกค้าผมที่เขายั่งยืนแม้ในช่วงนี้ก็ตามนั้น มักจะมีค่านิยมคล้าย ๆ กันคือ
- แคร์ลูกค้า เขาฟังและเรียนรู้เกี่ยวกับลูกค้าตลอดเวลา
- พวกเขาไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง
- ใจกว้าง พวกเขาพูดคุยกันตรงไปตรงมาโดยไม่เคืองกัน ที่น่าแปลกใจก็คือเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีแต่คนไทยด้วยกัน ก็หลายแห่งที่ทำได้
- พวกเขารวดเร็ว ไม่อดทนกับความงุ่มง่าม
- ยืดหยุ่น บางทีปรับโครงสร้างกันรายสัปดาห์จนพิมพ์แจกไม่ทัน
- เป็นกันเอง ไม่มีขั้นตอนมากมาย เพราะประหยัดเงินและเวลากว่า
- ลงทุนในการพัฒนาคนแม้ในยามวิกฤต
- มีเป้าหมายที่ท้าทาย พวกเขากล้าที่จะออกนอกดินแดนแห่งความสบายของตน
- เป็นโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ ในภาวะปกติคนหนุ่มสาวอาจจะฉายแววลำบากเพราะต้องผ่านด่านอาวุโส แต่ภาวะนี้ทำให้คนเก่ง ๆ ที่อายุน้อย แต่กระตือรือร้น มีไฟ และต้องการรับผิดชอบมากขึ้น กล้าเสนอตัวในการรับมอบหมายงาน พวกเขาออกมายืนแถวหน้าได้ง่ายขึ้น
- คนของเราสามารถที่จะใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นแทนที่จะไปสังสรรค์กับเพื่อน หรือเลี้ยงรับรองลูกค้าแบบในอดีต ชีวิตครอบครัวก็อบอุ่นดีขึ้น”