“สัปดาห์ก่อนนายผมจากสิงคโปร์ ออกใบเตือนครั้งสุดท้ายกับผม ให้หาทางปรับปรุงผลงานของรองผู้จัดการใหญ่ (Chief Operation Officer – COO) ให้ได้”
“คุณดีช่วยเล่าเรื่อง COO หน่อยครับ”
“เธออายุ 54 ทำงานมานาน 20 ปีแล้ว จะเกษียณปีหน้า ปัญหาของเธอก็คือ เธอทำงานได้ต่ำกว่ามาตรฐานมาก เธอทำได้เพียง 30% ที่เหลือ 70% ผมต้องแบกภาระเอง”
“ถ้าประเมินดูแล้ว คุณคิดว่าที่เป็นไปได้สำหรับเธอนี่ น่าจะทำผลงานได้ประมาณเท่าไรครับ”
“น่าจะได้ 70% นะ ที่เหลือ 30% ผมยังพอช่วยอุ้มให้เธอได้บ้าง”
“คุณได้ลองคุยกับเธอให้เพิ่มความรับผิดชอบเป็น 70% หรือยังละครับ”
“ยังเลย ผมกลัวว่าเธอจะปฏิเสธนะซี”
“คุณกลัวเธอปฏิเสธ หรือคุณไม่กล้าที่จะพูดกับเธอครับ” ผมถามเพราะรู้ว่าเขาเป็นคนใจอ่อนกับลูกน้อง
คุณดีเงียบไป
ผมจึงพูดต่อ “ที่คุณกำลังทำอยู่นี้ไม่ยุติธรรมสำหรับทุก ๆ คน
ข้อแรก กับลูกค้าของคุณ เพราะว่าคุณต้องคอยเจียดเวลาไปอุ้ม COO คนนี้ แทนที่คุณจะเอาเวลาไปสร้างคุณค่าเพิ่มให้ลูกค้า ซึ่งเป็นงานหลักของคุณ คุณกลับไปทำงานของเธอ
ข้อสอง คุณไม่แฟร์กับผู้ถือหุ้นของคุณ เพราะคุณอนุญาตให้คนคนหนึ่งขโมยทรัพยากรที่มีค่า คือเวลาของคุณไป แทนที่คุณจะไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้ถือหุ้น คุณกลับใช้เวลากับคนที่ทำงานไม่ดี
ข้อสาม คุณไม่แฟร์กับพนักงานอื่น เพราะแทนที่คุณจะมีเวลาสนับสนุน โค้ช และช่วยคนเหล่านั้น คุณกับโดน COO ของคุณ มอบหมายงานแบบที่เรียกว่า Upward Delegation (สั่งนายให้ทำงาน)
ข้อสุดท้าย คุณไม่แฟร์กับสังคม บริษัทมีกำไรก็เสียภาษีให้สังคม นี่เห็นชัด ๆ ว่าบริษัทกำไรน้อยกว่าที่ควร
เพราะคน ๆ หนึ่ง สังคมแทนที่จะได้รับภาษีมากขึ้นจากผลประกอบการของบริษัทคุณก็เสียโอกาสไป
เห็นไหมครับว่า ความใจอ่อนของคุณต่อคนคนหนึ่งนั้น ส่งผลเสียและความไม่ยุติธรรมต่อคนจำนวนมาก
คุณคิดว่า หากคุณไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงอะไร ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรครับ”
“ผมคงโดนนายผมไล่ออกในที่สุด”
“แล้วไงต่อครับ”
“บริษัทคงส่งคนใหม่ที่มีฝีมือมา เขาคงจะหาทางทำให้ COO คนนี้ทำงานให้ได้ หรือหากเธอทำไม่ได้ ก็คงถูกให้ออกไปในที่สุด”
“คุณดีผมจะเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง มาจากหนังสือเรื่อง ผู้ตื่นตัวเท่านั้นที่อยู่รอด โดย แอนดรูว์ เอส. กรอฟ เขาเป็นอดีตประธานและซีอีโอของอินเทล คอร์ปอเรชั่น เขาเขียนเกี่ยวกับวิกฤตของอินเทลในช่วงทศวรรษ 80 ในตอนนั้นเขาและผู้ร่วมก่อตั้ง กอร์ดอน มัวร์ ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะเลิกผลิตสินค้าเซมิคอนดัคเตอร์ตัวเก่า ซึ่งหมายถึงคนจำนวนมากต้องตกงาน สายการผลิตต้องปิดตัวลง และต้องเลิกทำธุรกิจที่พวกเขารู้สึกผูกพันธ์กับมันมานาน แต่ว่าพวกเขาก็ตัดสินใจที่จะหยุด ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง แต่ว่าเราลองมาฟังเรื่องราวของเขาดูกัน
แอนดรูว์เขียนไว้ว่า
ผมยังจำตอนหนึ่งในช่วงกลางปี 1985 ได้ หลังจากที่เราเดินอย่างไร้จุดหมายมาเกือบปี ผมอยู่ในห้องทำงานกับประธานและซีอีโอของอินเทล (ในตอนนั้น) คุณกอร์ดอน มัวร์ และเรากำลังสนทนาถึงสิ่งที่เราต้องตัดสินใจแต่เราไม่สามารถตัดสินใจได้ อารมณ์ของเราช่างเศร้าและหมดหวัง
ผมมองออกไปที่นอกหน้าต่างและมองเห็นกงล้อยักษ์ของสวนสนุกเกรทอเมริกาอยู่ไกล ๆ จากนั้นผมก็หันมาหากอร์ดอนแล้วถามว่า “ถ้าเราถูกไล่ออก และคณะกรรมการให้ซีอีโอคนใหม่เข้ามาแทน คุณคิดว่าเขาจะทำอะไร”
กอร์ดอนตอบผมอย่างไม่ลังเลว่า “เขาคงจะพาอินเทลออกจากธุรกิจหน่วยความจำ” ผมจ้องเขา ตัวชา และก็พูดว่า “ถ้าอย่างนั้นทำไมเราสองคนไม่เดินออกประตูไปแล้วกลับเข้ามาทำอย่างนั้นเสียเองละ”
ที่เหลือก็เป็นประวัติศาสตร์
คุณดีคิดว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ครับ”
“ผมควรทำเหมือนแอนดรูว์ ผมจินตนาการว่า ผมไล่ตัวผมเองออกไป แล้วเดินกลับเข้ามาใหม่ด้วยกรอบความคิดของซีอีโอคนใหม่ ผมต้องเผชิญหน้ากับ COO ของผมแบบมืออาชีพ”
“ดีครับ ถ้าอย่างนั้นเรามาช่วยกันวางแผนดีกว่า ว่าคุณควรจะพูดคุยอย่างไรกับ COO ของคุณเพื่อให้เขาปรับปรุงผลงานตัวเอง”
เราสองคนนั่งวางแผนงานที่จะช่วยให้ COO สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเธอให้เขารูปเข้ารอย (เสียที!)