ฝนเป็นนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่พัฒนาข้าราชการรุ่นใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในโครงการนี้ นปร.ต้องไปฝึกงานโดยเรียนรู้กับซีอีโอภาคเอกชน 2 เดือน ตอนจบเธอได้รับการประเมินจากซีอีโอว่า กล้าแสดงออกและบริหารความขัดแย้งได้ดี ผมเลยถามเคล็ดลับจากเธอ
“ฝนโชคดีเพราะว่าซีอีโอท่านนี้สอนตั้งแต่วันแรกว่า ทัศนคติเชิงบวกสำคัญ ทุกปัญหามีทางออกเสมอ คิดอย่างนี้ก็ทำได้ หากคิดว่าไม่มีทางก็ไม่มีทำ แรก ๆ ฝนก็ไม่แน่ใจ แต่จากการสังเกตท่านใช้การคิดเชิงบวกในการประชุม บริหารคน บริหารธุรกิจ ก็เริ่มเห็นด้วย
ในสัปดาห์ที่ 2 ฝนไปเป็นหนึ่งในคณะทำงาน Customer Relationship Management ซึ่งมีพี่ตั้ม ผู้จัดการแผนกเป็นหัวหน้าทีม โดยคณะทำงานคือ ผู้จัดการฝ่ายจาก 10 ฝ่ายงาน ฝนสังเกตว่างานเดินไปช้ามาก เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากคณะทำงาน”
“แล้วฝนทำอย่างไรล่ะ”
“สัปดาห์แรกฝนเน้น 2 เรื่อง คือทำมากกว่าที่พี่ตั้มสั่ง และพยายามเข้าใจบุคลิกและความต้องการของพี่เขาเพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีก่อน”
“ทำไมหรือ”
“ฝนว่าจำเป็นต้องสร้างความไว้วางใจและการยอมรับก่อน หลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ ฝนก็เห็นว่ากระบวนการมีจุดที่ควรปรับปรุง ฝนเริ่มเสนอแนะพี่ตั้มอย่างสุภาพว่า ฝนเห็นว่ากระบวนการแลกของรางวัลนี้ใช้เวลานานกว่าเดือน หากทุกคนช่วยกันลดขั้นตอน อาจจะทำได้ใน 2 สัปดาห์เท่านั้นค่ะ เราเสนอคณะทำงานดีไหมคะ”
“คุณตั้มมีปฏิกิริยาอย่างไรหรือ”
“พี่ตั้มบอกว่า ตัวพี่ตั้มไม่มีอำนาจ เป็นแค่ผู้จัดการแผนก ในขณะที่คณะทำงานเป็นผู้จัดการระดับฝ่ายซึ่งอาวุโสกว่า ฝนเข้าใจเพราะเป็นข้าราชการ แต่ฝนไม่ท้อ ตอนแรกเมื่อพี่ไม่เห็นด้วย ฝนก็ไม่ได้ผลักดันแบบก้าวร้าวเลย ฝนก็เสนอแนะว่าหากเราปรับขั้นตอนในแผนกเราก่อน แล้วเสนอแนะให้คณะทำงานเห็น เขาอาจจะรับฟังเราก็ได้
พี่ตั้มก็บอกว่าไอเดียก็ดี แต่พี่ไม่อยากจะไปสร้างความลำบากให้คนอื่น ๆ ในเมื่อทุกคนก็สบายดีอยู่แล้ว”
“ผมเดาว่า เธอคงไม่อยากจะออกจาก Comfort Zone หรือพื้นที่แห่งความสบายมั้ง แล้วฝนทำอย่างไรต่อ”
ฝนก็ไม่ละความพยายามค่ะ ฝนก็เสนอทุกวัน โดยแต่ละวันจะหยอดแนวคิดเรื่องประโยชน์ของลูกค้าและบริษัทไปวันละเรื่องสองเรื่อง มันช้าหน่อย แต่ในที่สุดพี่ก็ลองทำตามที่แนะนำ ในที่สุดก็ปรับขั้นตอนของเราก่อน แล้วเสนอคณะทำงาน ซึ่งเขาก็ทำตาม แล้วขั้นตอนก็ลดลงมาเหลือ 16 วัน จาก 30 วัน”
“ฝนเก่งมาก นี่คือตัวอย่างที่ดีของการเปลี่ยนแปลงโดยที่เราไม่มีอำนาจสั่งการ (Authority) คนทั่วไปมักคิดว่าเราไม่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้หากเราไม่มีอำนาจสั่งการ ซึ่งไม่จริง เป็นข้อแก้ตัวที่คนมักบอกว่า ดิฉันอาวุโสน้อยกว่าคนอื่น ดังนั้นจะไปสั่งให้เขาเปลี่ยนแปลงคงไม่ได้
ในหนังสือ ผู้นำเหนือระดับ (Leading at a higher level) ของเคน บลังชาร์ด เขียนว่าแหล่งที่มาของอำนาจมี 5 แห่ง คือ อำนาจจากตำแหน่งหน้าที่ จากตัวบุคคล จากงาน จากความสัมพันธ์ และจากความรู้
อำนาจจากตำแหน่งหน้าที่เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุด เพราะมาพร้อมกับนามบัตรหรือการแต่งตั้งว่าคุณมีอำนาจสั่งการและควบคุมคนและทรัพยากรได้ แต่คุณพ่อของเคนซึ่งเป็นนายทหารในกองทัพเรืออเมริกากล่าวไว้ว่า ผู้นำที่ดีที่สุดคือ คนที่มีอำนาจจากตำแหน่งหน้าที่ แต่ไม่เคยคิดจะใช้อำนาจนั้น
อำนาจจากตัวบุคคลมาจากลักษณะเด่นของคนคนนั้น เช่น การมีบุคลิกเข้มแข็ง การมีความมุ่งมั่น สร้างแรงบันดาลใจเก่ง หรือเฉลียวฉลาด อำนาจจากตัวบุคคลจะโดดเด่นมากขึ้นหากเก่งในเรื่องการสื่อสารและการโน้มน้าวจูงใจคน
อำนาจจากงาน เช่น หากคุณเป็นเลขานายใหญ่ คุณมีอำนาจที่สามารถจะเร่งหรือดองเรื่องของใครก็ได้
อำนาจจากความสัมพันธ์มาจากการที่คุณสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ อาจจะมาจากการสร้างความสัมพันธ์ฉันเพื่อน ความพยายามที่จะเข้าใจผู้อื่น การสะสมสายสัมพันธ์มาเป็นเวลานาน หรือการที่เคยช่วยเหลือผู้อื่นมาก่อน
อำนาจจากความรู้มาจากการที่คุณมีความเชี่ยวชาญหรือทักษะเฉพาะด้าน หรืออาจจะมีวุฒิบัตรจากการผ่านการอบรมเรียนรู้ อำนาจจากความรู้นี้สะสมมาจากงานและองค์กรที่คุณเคยมีประสบการณ์ เราแต่ละคนมีความรู้อะไรบางอย่างที่โดดเด่นกว่าคนอื่น”