ผมเจอกับมนูในงานสัมมนา เขาเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ
“เป็นไงคุณมนู สบายดีไหมครับ”
“จะเอาคำตอบแบบมาตรฐานหรือตามความจริงละครับ”
“เราเป็นเพื่อนกัน เป็นไงบ้างล่ะ”
“เดี๋ยวนี้อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปมากเลย มีขั้นตอนใหม่ ๆ หลังจากมีต่างชาติมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่นี่ ผมอิจฉาคุณจัง ท่าทางดูมีความสุข สบายละสิทำธุรกิจส่วนตัวน่ะ ผมคิดถึงวันเก่า ๆ ที่สบาย ๆ จังเลย”
“ผมสนุกกับสิ่งที่ทำนะ แต่ว่าหากจะบอกว่าสบายคงไม่ใช่ ผมทำงานหนักกว่าสมัยอยู่บริษัทใหญ่ ๆ อีก แต่ว่าการที่ทำในสิ่งที่รักและเรามีพรสวรรค์มันสนุกมาก บางวันต้องบังคับตัวเองให้นอนเพราะทำจนเพลิน แถมนอนแล้วต้องฝืนใจไม่รีบตื่น เพราะอยากลุกมาทำงานมาก เนื่องจากความสนุกที่มีกับงานน่ะ ที่จริงคุณก็ทำได้นะ”
“ผมไม่ชอบสิ่งที่ผมทำเท่าไร”
“ทำไมหรือ”
“มีเรื่องใหม่ ๆ ต้องเรียนรู้มาก และมีอะไรต่อมิอะไรต้องทำเยอะไปหมด ไม่เหมือนเมื่อก่อนเลย ผมอดคิดถึงวันเก่า ๆ ไม่ได้”
“คุณขับรถมาทำงานอย่างไรน่ะ”
“หมายความว่าอย่างไร”
“เวลาคุณขับรถจากบ้านมาทำงาน คุณมองไปข้างหน้าหรือมองกระจกหลังมากกว่ากัน”
“ก็มองไปข้างหน้าสิ”
“คุณก็ควรทำอย่างนั้นเหมือนกันกับงานนะ การที่คุณยังยึดติดคอยอาลัยอาวรณ์กับความสบายในอดีตไม่ใช่วิธีคิดที่ถูก เราอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงตลอดเวลา มันเป็นวิธีคิดที่ไม่อยู่บนสัจธรรมของชีวิตที่จะขอให้เหมือนเดิม”
“ก็ถูกของคุณนะ แต่ว่าผมหมดไฟแล้วล่ะ ผมเองก็ไม่ได้คาดหวังที่จะก้าวหน้าไปมากกว่านี้ อีกอย่างหนึ่งผมก็จะเกษียณอยู่ในอีกไม่กี่ปีนี้แล้ว ผมไม่รู้จะต้องขวนขวายเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไปทำไมกัน”
“ผมไม่เห็นด้วยนะว่า คนเราต้องมีความทะเยอทะยานที่จะขวนขวาย มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ ถ้าเราไม่เรียนรู้ เราก็ไม่สามารถจะอยู่รอดได้ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะชอบหรือไม่ก็ตาม เราอยู่ในโลกทุนนิยม ข้อดีคือเรามีความทันสมัยและเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่ว่ามีต้นทุนสูงด้วย จะเอาความสบายโดยไม่ลงแรงคงไม่ได้
นอกจากนี้ ก็ยังไม่มีกฎเกณฑ์อะไรที่มาหักห้ามเราไม่ให้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง อาจจะเป็นเพราะว่าคุณยังไม่ได้คิดจะสร้างตำนานให้กับตัวเองต่างหาก”
“หมายความว่าอย่างไรหรือ”
“ผมจะเล่าเรื่องจากหนังสือ อุปนิสัยที่แปด ของ Stephen R. Covey ให้ฟัง ผู้เขียนเล่าว่าครั้งหนึ่งเขาไปทำงานที่ปรึกษาให้หน่วยงานทหารแห่งหนึ่ง ที่นี่มีนายทหารยศพันเอกที่ไฟแรงมากซึ่งเป็นผู้บัญชาการหน่วยงานนี้ ผู้พันท่านนี้กำลังจะเกษียณในปีนั้นหลังจากรับราชการมากว่า 30 ปี
หลังจากที่ผู้พันได้อบรมและพัฒนาหน่วยงานของท่านมาเป็นเวลาหลายเดือน จนถึงระยะเวลาที่จะเกษียณอายุ แต่แทนที่จะเกษียณออกไป ท่านผู้พันกลับตัดสินใจที่จะอยู่ต่อ และทำงานสานต่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งเต็มไปด้วยอุปสรรค และต้องเผชิญการต่อต้านอย่างหนัก ผู้เขียนจึงถามผู้พันว่า ทำไมจึงตัดสินใจเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่เกษียณไปแบบสบาย ๆ ก็ได้
ผู้พันจึงเล่าว่า คุณพ่อของท่านเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้เอง ก่อนจะเสียชีวิตลง ขณะที่นอนอยู่บนเตียงด้วยอาการที่ร่อแร่ คุณพ่อของท่านได้เรียกท่านและคุณแม่ไปเพื่อสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้าย คุณแม่ท่านก็ร้องห่มร้องไห้ฟูมฟายเชียว ท่านผู้พันก้มตัวไปใกล้กับคุณพ่อมากที่สุดเพื่อฟังคำสั่งเสียที่แหบแห้งปานกระซิบ คุณพ่อท่านบอกว่า
ลูกเอ๋ยอย่าใช้ชีวิตแบบพ่อนะ พ่อไม่ได้ดูแลแกและแม่แกให้ดีพอ และพ่อเองก็ไม่เคยได้ทำอะไรให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเลย สัญญาว่าอย่าทำแบบพ่อนะ
ผู้พันบอกว่าเป็นของขวัญที่สูงค่ามากจากพ่อของท่าน
ก่อนคำสั่งเสียนี้ ผู้พันก็เลือกเดินทางสายสบาย ทำงานไปตามหน้าที่ ไม่ได้ทุ่มเทอะไรมากมาย แต่ว่าจากคำพูดนี้เอง ท่านจึงมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างตำนานของตนเอง
ผู้เขียนบอกว่าเราทุกคนสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะจากไปแบบไม่มีอะไร หรือทำให้โลกนี้ดีกว่าเดิม”