กระแสการเปลี่ยนแปลง

เพื่อนเก่าของทวีพรมาร่วมงานศพคุณพ่อเขา หลังจากจบการสวด เพื่อน ๆ ก็มานั่งจับกลุ่มสนทนากัน

ภูวนัยซึ่งทำงานในบริษัทข้ามชาติ เริ่มด้วยการบ่นเรื่องที่ทำงานของเขา

“เดี๋ยวนี้มีแต่การเปลี่ยนแปลง ดูมันสับสนไปหมดในบริษัทของผม เดี๋ยวก็มีโครงการใหม่ ความคิดริเริ่มใหม่ ๆ บางทีก็หยุดผลิตผลิตภัณฑ์ที่วางแผนกันไว้แล้ว แล้วก็บางทีก็นำผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยวางแผนกันมาก่อนออกวางตลาดกัน วุ่นวายไปหมด ผมยังสงสัยอยู่ว่าฝ่ายบริหารเข้าใจหรือไม่ว่ากำลังทำอะไรกันอยู่นี่”

สว่างซึ่งทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ของคนไทย เสริมขึ้นมาบ้างว่า “แหมผมนึกว่ามีปัญหาแบบนี้เฉพาะที่บริษัทของผมเท่านั้น บริษัทผมก็ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นว่าเล่นเลยเหมือนกัน แต่ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบจำยอมนะ เพราะว่าลูกค้าและซัพพลายเออร์ของเราซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติเสียส่วนใหญ่ มีการควบรวม เปลี่ยนแปลงผู้บริหาร เปลี่ยนกระบวนการและขั้นตอนในการทำงาน ทำให้บริษัทผมต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาตามไปกับเขาด้วย”

ทวีพรซึ่งทำงานในหน่วยงานราชการสอดขึ้นมาด้วยความแปลกใจ “ที่หน่วยงานผมก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารระดับสูงโดยการนำคนนอกเข้ามา เขามาพร้อมสไตล์การบริหารงานแบบซีอีโอ ซึ่งผมและพนักงานจำนวนมาก็ต่อต้านอย่างเงียบ ๆ”

ภูวนัยโยนคำถามไปยังเพื่อนอีกคนที่นั่งเงียบอยู่ “ว่าไงอนันต์ คุณน่าจะรู้คำตอบนะ เพราะว่าคุณเป็นคนเฉลียวฉลาดคนหนึ่ง”

อนันต์ซึ่งทำงานเป็นที่ปรึกษาในบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ ยิ้ม เพื่อน ๆ กลุ่มนี้รู้ดีว่า เขาเป็นคนเก่งคนหนึ่ง เขามีทักษะการฟังที่ดีเยี่ยม มีองค์ความรู้มากมายจากงานที่เขาทำ และจากการศึกษาค้นคว้าด้วยความที่เป็นคนชอบอ่าน อนันต์พูดออกมาว่า

“ที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้นะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในตะวนัตกมาร่วมสิบปีแล้ว หลังจากการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม หรือทุนนิยมก็แผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก ยังไม่นับการเติบโตของเทคโนโลยี และของอินเตอร์เน็ท อีกทั้งสื่อสารมวลชนที่ช่วยเร่งระดับของการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่นซึนามิที่ภูเก็ตเมื่อเร็ว ๆ นี้นั่นไง โลกสามารถรับรู้ข่าวสารได้เพียงในเวลาไม่ถึงชั่วโมง

นอกจากนี้การควบรวมของบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทุกเดือนเราจะเห็นข่าวการควบรวมอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แต่ละครั้งลองนึกดูว่ามันส่งผลกระทบคนและองค์กรนับพัน นับหมื่น หรือบางกรณีนับแสนคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ซัพพลายเออร์ ราชการ ผู้ถือหุ้น ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก อย่างที่แสวงเพิ่งพูดไปสักครู่ ขนาดเขาทำงานบริษัทไทยๆ ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเลย”

แสวงเสริมขึ้นมาด้วยการมองโลกในแง่ดีว่า “ไม่เป็นไรน่า เดี๋ยวมันก็คงนิ่งขึ้น แล้วทุกอย่างน่าจะกลับมาเหมือนเดิม คงไม่สับสนแบบนี้ตลอดไปหรอก”

เกือบทุกคนพยักหน้า พร้อมถอนหายใจอย่างโล่งใจ

โชคร้ายที่อนันต์ไม่คิดอย่างนั้น “เพื่อน ๆ คุณอาจจะไม่ชอบสิ่งที่ผมจะพูด แต่ว่าผมหวังดีจริง ๆ การมองโลกในแง่ดีของพวกคุณนั้นมันไม่อยู่บนพื้นฐานของความจริง ผมว่ากระแสการเปลี่ยนแปลง นอกจากมันจะไม่หยุดแล้ว มันอาจจะทวีความรุนแรงขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ มันจะยิ่งเร็ว และคาดการณ์ได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก”

ทวีพรซึ่งรับราชการ ในหมู่เพื่อน ๆ ทราบดีว่าเขาค่อนข้างจะมีแนวคิดที่อนุรักษ์นิยม เขาท้าทายอนันต์แบบกันเองว่า “ทำไมครับอนันต์”
อนันต์พูดต่อ “ง่ายนิดเดียว การแข่งขันไงละเพื่อน คุณจะเห็นได้ว่าบริษัทใหญ่ ๆ ต่างเร่งขยายกำลังการผลิตเพื่อให้ได้ประโยชน์จาก economy of scale หรือที่เรียกว่าความคุ้มทุนจากการผลิตเป็นจำนวนมาก ทำให้เขาสามารถลดต้นทุนและราคาขายได้ ในขณะเดียวกันคุณก็มีประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งแทรกซึมไปทุกหนแห่ง จีนและอินเดียเขารู้ว่าราคาเขาถูกและคุณภาพยังต้องปรับปรุง เขาก็พัฒนาไม่หยุดเช่นกัน นอกจากการแข่งขันที่ว่าแล้ว เทคโนโลยี่ก็มีการพัฒนาไม่หยุดหย่อน อีกทั้งความต้องการของลูกค้าก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้ช้วยเร่งกระแสการเปลี่ยนแปลงให้เร็วและมากขึ้นเรื่อย ๆ”

ภูวนัยถาม “แล้วเราจะทำอย่างไรดี”

อนันต์อธิบายว่า “สิ่งแรกอย่างที่เราทำคือเราต้องตระหนักรู้ก่อน เราต้องมีมุมมมองใหม่ต่อการเปลี่ยนแปลง และเราต้องหยุดคาดหวังที่จะเห็นความแน่นนอนที่เราสามารถคาดการณ์ได้ เราต้องยืดหยุ่นมากขึ้น และพร้อมต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องวางแผนงานหลายฉากมากขึ้น

และเราต้องสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะว่ามันมีจุดที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หลากหลายยิ่งขึ้น หากเราสื่อสารได้ดี คนที่ต้องตัดสินใจ จะมีข้อมูลที่ทันสมัยเพื่อช่วยให้เขาได้ตัดสินใจอย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ยิ่งมีพื้นที่สีเทาหรือเนื้องานที่ไม่ชัดเจนว่าใครควรเป็นคนทำมากขึ้น เราไม่สามารถมีใบบรรยายงานหรือที่เรียกว่า Job Description ที่บอกรายละเอียดทุกอย่างครบถ้วนได้ เราต้องสวมวิญญาณเถ้าแก่ คือหากเห็นว่างานไหนที่มีผลกระทบต่อองค์กรและลูกค้า เมื่อเราเห็น ก็ต้องลงมือทำ อย่ามัวแต่เกี่ยงกันว่า มันเป็นงานของใครกันแน่ เราต้องขึ้นป้ายใหม่ที่โต๊ะทำงานของเราว่า ปัญหาต้องจบลงตรงโต๊ะนี้ ไม่ใช่ปัญหาเริ่มต้นที่โต๊ะนี้”

ภูวนัยแย้งว่า “อย่างนี้งานก็เพิ่มขึ้นจมเลยซี แถมความรับผิดชอบอีก ผมจะทำไปทำไมกัน”

อนันต์บอกว่า “ยิ่งทำงานมากยิ่งมีความรู้และทักษะมาก เราต้องออกจากพื้นที่แห่งความสบาย ใครจะไปรู้ว่า วันหนึ่งบริษัทอาจจะเอางานของเราไปให้ผู้รับเหมาภายนอกทำ แล้วหยุดจ้างเรา หรือบริษัทควบรวมแล้วมีคนทำงานซ้ำซ้อนกับเรา เราก็ต้องออกจากงาน ในโลกทุกวันนี้เราไม่มีความมั่นคงในงานอีกต่อไป ความมั่นคงที่แท้จริงไม่ใช่อยู่ที่ว่าคุณมีงานทำในวันนี้หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าคุณมีคุณสมบัติพร้อมจะได้รับการว่าจ้างดีกว่าคนอื่นหรือไม่ต่างหาก วิธีเดียวที่จะทำให้คุณพร้อมมากกว่าคนอื่นก็คือ คุณสามารถทำงานได้มากและหลากหลาย วิธีง่าย ๆ ก็คือไปของานเพิ่มขึ้นจากหัวหน้าของคุณนั่นเอง”