โค้ชผู้บริหารต่างชาติหน้าใหม่

หลังจากเล่นก๊อล์ฟเสร็จแล้ว ทั้งแดเนี่ยลและธีระก็นั่งพักผ่อนและสนทนากันในสปอร์ตคลับ แดเนี่ยลเป็นผู้จัดการประจำประเทศไทยคนใหม่ ในขณะที่ธีระเป็นซีอีโอบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของแดเนี่ยล

ธีระถามแดเนี่ยลอย่างอารมณ์ดีว่า “คุณเล่นกอล์ฟเก่งมากนะ ถ้าคุณโค้ชผมให้เก่งได้พอ ๆ กับคุณ จะคิดค่าสอนผมเท่าไรดีครับ”

แดเนี่ยลยิ้มตอบ “คุณธีระเอาอย่างนี้ละกัน ผมขอให้คุณโค้ชผมเกี่ยวกับวิธีการทำงานร่วมกับคนไทยแลกกันละ จะดีไหมครับ”

ธีระพยักหน้า “ได้เลย ถ้าอย่างนั้นผมเริ่มเลยละกัน ผมแยกฝรั่งออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกผมเรียกว่าพวก ‘my way or highway’ คือทางของฉันหรือทางหลวง พวกเขาเอาวิธีการจากตะวันตกมาใช้ทั้งกระบิ โดยไม่ปรับแต่งอะไรเลย ถ้าเป็นบริษัทข้ามชาติก็อาจจะเวิร์คประมาณ 60-70% แต่ว่าหากเขาทำงานในองค์กรที่ยังมีความเป็นไทยสูงอยู่ละก็ ประสิทธิภาพอาจจะลดลงเหลือเพียง 40-50% เท่านั้น”

“ทำไมแตกต่างกันละครับ” แดเนี่ยลถาม

“โดยทั่วไปองค์กรข้ามชาติมักจะมีวัฒนธรรมองค์กรและค่านิยมที่เหนียวแน่นบดบังความเป็นไทยได้มากพอสมควร นอกจากนี้ในองค์กรข้ามชาติเหล่านี้มักจะมีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจนมากกว่า ซึ่งไม่ต้องมีการตีความมากมายนัก”

“แล้วกลุ่มที่สองละครับ” แดเนี่ยลซักไซร้ไล่เลียงต่อ

“กลุ่มที่สองก็คล้าย ๆ กับกลุ่มแรก แต่ว่าหลังจากพยายามใช้วิถีทางของตนซักปีสองปี ก็เริ่มมองเห็นว่ามันไม่เวิร์ค จึงสำนึกได้ว่าเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม เขาก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการ กลุ่มนี้เช่นเดียวกับกลุ่มแรก พวกเขาจะเรียนรู้ ด้วยค่าเล่าเรียนที่แพงหน่อยก็คือ การสูญเสียบุคลากรสำคัญ ๆ ไป เสียเงินทองค่าใช้จ่ายมากมายไปกลับโครงการและความริเริ่มต่าง ๆ ที่ทีมงานคนไทยเขาอิหลักอิเหลื่อจะให้ความร่วมมือด้วย อย่าลืมนะครับว่า งานส่วนใหญ่สำเร็จได้ด้วยน้ำมือคนไทย ไม่ว่าฝรั่งจะเก่งเพียงใดก็ตาม เขาไม่สามารถจะทำเองทั้งหมดได้หรอก”

แดเนี่ยลสอดขึ้นมาว่า “ผมได้ยินมาว่า คนไทยไม่ชอบโต้เถียงกับเจ้านาย ถ้าเขาไม่เห็นด้วย ฝรั่งอย่างผมจะสังเกตเขาออกได้อย่างไรครับ”

“โอ๊ยเรื่องนี้มันยาว ผมว่าคุณต้องไปหาโค้ชมืออาชีพแล้วละครับ เฉพาะเรื่องสังเกตคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับนายอย่างไรนะ…เอ่อ ผมขอแนะนำอะไรหน่อยแดเนี่ยล คุณต้องเรียนรู้ที่จะใจเย็นลงมาก ๆ เลยนะ เวลาทำงานกับคนไทยเรานะ อย่าใจร้อนแบบที่คุณถามนี่ ได้คืบจะเอาศอกร่ำไป” ธีระยิ้มแบบกวน ๆ ทีเล่นทีจริง

“สำหรับกลุ่มที่สาม คือพวกยอมลงทุนใช้เวลาในช่วงแรกสังเกตคนไทยก่อน เขาจะพยายามเรียนรู้อย่างมาก แล้วปรับวิธีการทำงานของเขาให้เหมาะสม บางคนก็มีโค้ชชาวไทยคอยช่วย กลุ่มนี้ตอนแรก ๆ จะดูเหมือนว่าเชื่องช้า บางที่ก็อาจจะเห็นว่ามีประสิทธิภาพเพียงแค่ 30-40% ในเดือนแรก ๆ แต่ว่าพอเข้าล๊อค ‘East meets West’ คือตะวันออกพบตะวันตกแล้วละก็ เสมือนเสือติดปีกเลย บางคนสามารถผสมผสานทำให้ผลงานดีกว่าที่เคยทำในประเทศที่มีแต่ฝรั่งด้วยซ้ำไป

คราวนี้ลองมาดูฝั่งพี่ไทยบ้าง บ่อยครั้งนะที่ฝรั่งก็เหมาเอาว่าคนไทยเจ็ดสิบล้านคนนะเหมือนกันหมดทุกคน ที่จริงแล้วไม่ถูกนัก ผมอ่านจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันที่ 28 สิงหาคม 2547 เขาลงผลการสำรวจโดยบริษัทอินิชิเอทีฟ ซึ่งเขาทำการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย โดยทำมาสามปีติดต่อกันด้วยการสัมภาษณ์คน 6,300 ทั่วประเทศที่มีอายุระหว่าง 15-59 ปีชายหญิงเท่าๆกัน

ในปี 2547 เขาสอบถามคน 1,800 คน และสรุปกลุ่มคนไทยออกเป็นห้าประเภทคือ กลุ่มแรกเรียกว่า Conformists หรือกลุ่มที่มีแนวคิดแบบ “หัวโบราณ” มีสัดส่วน 44% กลุ่มนี้มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีจำนวนมากที่สุด กลุ่มนี้ค่อนข้างประพฤติปฏิบัติ และดำเนินชีวิตตามขนบธรรมเนียมประเพณี ให้ความสำคัญกับงานและครอบครัวเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับลูกหลาน คนกลุ่มนี้มีความฝันที่อยากทำแต่เนื่องจากปัจจัยทางด้านการเงินและการกลัวต่อความเสี่ยงและความผิดพลาด จึงทำให้ไม่กล้าตัดสินใจที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ ชีวิตจึงไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก จำเป็นต้องพอใจในสภาพเศรษฐกิจของตนและไม่สามารถทำให้ความฝันเป็นจริงได้

กลุ่มที่ 2.เรียกว่า Aspiring Trend Setters หรือผู้ที่มีบุคคลิกเป็นตัวของตัวเอง มีสัดส่วน 25% กลุ่มนี้มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เป็นผู้บริโภคที่มีความต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องพร้อมและดูดีเสมอ รักที่จะใช้เสื้อผ้าที่ได้รับการออกแบบจากนักออกแบบระดับโลก หรือเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดตลอดเวลา

กลุ่ม 3 ได้แก่ กลุ่ม Progressive Technocrats หรือผู้ที่นิยมเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีสัดส่วน 12% มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีการศึกษาดีและมีความมั่นใจในตนเอง พร้อมที่จะค้นหาความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับชีวิตอยู่ตลอดเวลา เขาเหล่านี้จะเป็นบุคคลที่ตามเรื่องเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพลักษณ์ ที่สำคัญกลุ่มนี้ชอบใช้ชีวิตในสังคมกับเพื่อนตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกันก็มีความปรารถนาที่จะมีชีวิตครอบครัวที่มีความสุขและมีอนาคตที่สดใส

กลุ่มที่ 4. เรียกว่า Fun Loving Home Bodies หรือกลุ่มคุณนายแม่บ้าน มีสัดส่วน 12% เช่นเดียวกัน กลุ่มนี้จะเป็นผู้หญิงล้วน มีลักษณะเป็นคุณนายประจำบ้าน ผู้บริโภคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในภาคกลางของประเทศ มีฐานะปานกลางค่อนข้างสูง ให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอนาคตของลูก มีการวางแผนและกำหนดเป้าหมายในอนาคตให้ลูก ให้มีความพร้อมทั้งความก้าวหน้า กริยามารยาทและรักษาความเป็นไทย คนกลุ่มนี้ชอบสังคมและต้องการมีหน้ามีตาเป็นที่ยอมรับในสังคม

กลุ่มสุดท้าย 5. เรียกว่า The Alphas หรือกลุ่มมาดแมน มีสัดส่วน 7% กลุ่มนี้ทั้งหมดจะเป็นผู้ชาย คิดเป็นประมาณ 20% ของประชากรชายทั้งหมด ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯ เป็นกลุ่มที่ทำงานหนัก ให้ความสำคัญกับครอบครัว มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มเพื่อน รักการผจญภัย ตื่นเต้นและท้าทาย พร้อมจะเสี่ยงภัยในสถานการณ์ที่จำเป็น เป็นคนที่ประนีประนอมและยอมรับการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก ยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ ไม่ค่อยให้ความสนใจแฟชั่นและภาพลักษณ์ของตนเอง โดยเชื่อว่า ‘คนเราต้องยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น’ แดเนี่ยลคุณคงต้องสังเกตคนของคุณ และจูงใจเขาตามพฤติกรรมของแต่ละกลุ่มแล้วละ”

แดเนี่ยลพูดออกมาว่า “คุณธีระ ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะ แต่อย่าโกรธผมละ ถ้าผมจะบอกว่าข้อมูลมันค่อนข้างจะกว้าง ๆ ไม่ชัดเจนเท่าไรนัก ผมรู้ไปแล้วจะทำอะไรได้ครับ”

ธีระตอบว่า “คุณแดเนี่ยล ทำงานกับคนใครว่าง่ายละครับ ทุกที่ในโลกนี้นะผู้จัดการที่บริหารคนเก่งนั้น คงเริ่มคล้ายๆกันคือสังเกตคนแต่ละคน ทำความเข้าใจ และจูงใจแต่ละคนตามพฤติกรรมที่เขาสังเกตเห็น เพียงแต่ว่าในประเทศไทยนั้นนะ คนไทยสังเกตยากหน่อย เพราะเราซ่อนความรู้สึกเก่ง ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ ฝรั่งอย่างคุณหากมองคนไทยด้วยมุมมองฝรั่งละก็ ยากจะเข้าใจพวกเราครับ”