ชัยเล่นเทนนิสที่สโมสรแห่งนี้เป็นประจำ เมื่อจบเกม เขาจะนั่งสังสรค์กับเพื่อนชาวต่างชาติสามคนที่ผับในสโมสร ส่วนใหญ่พวกเขาแลกเปลี่ยนความคิดกันเรื่องการบริหารและการจัดการ ดูไปแล้วก็คล้ายกับเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลขนาดย่อมของผู้บริหารระดับสูง แบบที่เรียกกันว่าCEO Mini-Forum
วันนี้ชัยชวนคุยด้วยคำถามว่า “พวกคุณรู้ไหมว่าพวกซีอีโออย่างเรานี้มีวิธีพัฒนาตนเองได้แบบไหนอีกนอกจากการเข้ารับการอบรมตามที่มีจัดกันโดยทั่วไปแล้ว”
จอห์นหนึ่งในสมาชิกแสดงความเห็นว่า “มีบริการแบบหนึ่งที่เรียกว่า การโค้ชผู้บริหารตัวต่อตัว สามปีก่อน ผมได้รับมอบหมายงานในอินโดนีเซีย บริษัทได้จ้างโค้ชชาวท้องถิ่นที่เข้าใจวัฒนธรรมตะวันตกเป็อย่างดีช่วยผมเรื่องการบริหารงานกับคนที่มีวัฒนธรรมและเชื้อชาติต่างกัน มันช่วยผมได้มากเลย พอมผมย้ายมาประเทศไทย ผมเห็นปัญหาว่าที่นี่ผู้บริหารระดับสูงของผมอายุน้อย ๆ ทั้งนั้นและอ่อนประสบการณ์ ผมจึงจ้างโค้ชเฉพาะโดยเริ่มกับตำแหน่ง Chief Finance Officer (CFO) ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนในตอนนั้น นับว่าผมตัดสินใจถูกเพราะว่าเป็นการแบ่งเบาภาระอย่างมากทีเดียว”
ชัยถามขึ้นว่า “แต่ว่าทำไม CEO ต้องการโค้ช โค้ชเขาจะรู้วิธีบริหารธุรกิจได้ดีกว่า CEO หรือครับ”
จอห์นชมพร้อมถามกลับ “เป็นคำถามที่ดีคุณชัย ผมขอถามคุณกลับหน่อยว่านักกีฬาเก่ง ๆ อย่าง ไทเกอร์ วูดส์ หรือภาราดร ทำไมต้องมีโค้ช โค้ชของเขาเล่นเก่งกว่าพวกนักกีฬาเหล่านี้หรือเปล่าครับ”
ชัยใช้ความคิดแบบเงียบ ๆ สักครู่ เขาจึงหัวเราะเบา ๆ พร้อมกับพูดออกมาว่า “ผมพอจะเข้าใจแล้วครับ จากตัวอย่างนักกีฬาที่ว่า พวกเขาต้องการคนให้ข้อมูลย้อนกลับว่าทำได้ดีเพียงใด พร้อมทั้งมีคำแนะนำในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง และฝึกฝนทักษะที่จำเป็น โค้ชไม่จำเป็นต้องเล่นเก่งกว่านักกีฬาคนนั้น แต่ต้องเล่นเป็นและเล่นได้ดีมาก่อน พร้อมทั้งต้องมีทักษะการโค้ชที่ดี”
แจ๊คเพื่อนอีกคนเสริมว่า “CEO หรือผู้บริหารระดับสูงแบบเราไม่ค่อยมีเวลาไปอบรมหรอก พวกเรายุ่งกับการทำงานแก้ปัญหาในแต่ละวัน ที่จริงแล้วเราอาจจะบริหารได้ดีกว่านี้ก็ได้นะหากว่าเราจัดสรรเวลาให้ดี แล้วไปเรียนรู้ทักษะการจัดการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น พวกเรามีเวลากับการแก้ไขปัญหา แต่กลับไม่มีเวลาไปเรียนรู้เพื่อป้องกันปัญหา โดยการทำให้มันถูกเสียตั้งแต่ต้น ผมว่า CEO ควรจัดสรรเวลา 15-20% เพื่อการพัฒนาตนเอง เพราะว่าหากเราดูสถิติทั่วโลกในสามปีที่ผ่านมา CEO ต้องถูกให้ออกจากงานเผลอ ๆ ผมว่ามากกว่าเมื่อสามสิบปีก่อนหน้ารวมกันอีกมั้ง พวกเขาเหล่านั้นแต่ละคนมือพระกาฬและผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน น่าเสียดายที่มันเป็นประสบการณ์ในโลกเก่า โลกเรานี้มันเปลี่ยนแปลงไปมาก และเปลี่ยนด้วยความเร็วมากขึ้นด้วย ยังมี CEO อีกหลายคนที่ยังใช้วิธีการบริหารยุคหินอยู่เลย”
จอห์นเสริม “สำหรับ CEO บางคนตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาตนเอง และโชคดีทำงานในองค์กรที่เห็นคุณค่าในเรื่องนี้ พวกเขาก็ไปเข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงซึ่งจัดโดยสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ สำหรับส่วนใหญ่ที่ไม่มีโอกาสอย่างนั้นก็ใช้วิธีเรียนรู้จากการอ่านหนังสือการบริหารการจัดการสมัยใหม่ การอ่านช่วยให้เกิดความรู้ หรือขยายมุมอง และมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น แต่ทักษะบางอย่างคุณต้องการติวเตอร์มาช่วยให้ข้อมูลย้อนกลับ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะเป็นรายบุคคล ในเรื่องของพฤติกรรม ความเชื่อ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมของแต่ละคน นั่นคือช่องว่างที่โค้ชเข้ามาช่วยได้”
ชัยพยักหน้า “น่าสนใจมาก ผมไม่เคยทราบมาก่อนเลย ว่าแต่ว่าหากผมสนใจในเรื่องการโค้ชชิ่งนี่ ปกติมันทำกันอย่างไรหรือครับ”
จอห์นอธิบายว่า “Executive Coaching เป็นของใหม่แม้ในตะวันตก ไม่ต้องพูดถึงว่าใหม่แค่ไหนในเอเชีย จากประสบการณ์ของผม โค้ชมักจะถูกแนะนำหรือจากการบอกต่อกันมาจากคนหรือองค์กรที่เคยใช้บริการ ที่เอเชียนี่โค้ชกับผู้ที่จะถูกโค้ชมักจะเริ่มต้นด้วยการประชุมอย่างไม่เป็นทางการกันก่อนเรียกว่า Chemistry-Checked ถ้าศรศิลป์ไปด้วยกันได้ขั้นตอนต่อไปก็คือการเก็บข้อมูลเบื้องต้นซึ่งอาจจะทำได้โดยการสัมภาษณ์ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้จะถูกโค้ช บางแห่งอาจจะเก็บข้อมูลแบบสามร้อยหกสิบองศาเลยคือสัมภาษณ์คนที่ต้องติดต่องานด้วยรอบตัวผู้ถูกโค้ช หลังจากขั้นตอนนี้ โค้ชก็จะนำข้อมูลไปพัฒนาเป็นแผนการพัฒนาว่าจะพัฒนาอะไรกันบ้าง สำหรับการโค้ชนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการพบกันสองสัปดาห์ครั้ง ตัวต่อตัว โดยเมื่อจบการปรึกษาหารือกัน ก็จะมีการมอบหมายงานให้ผู้ถูกโค้ชกลับไปลองประยุกต์สิ่งที่เรียนรู้ในแต่ละครั้ง เพื่อนำกลับมารายงานในการพบกันครั้งต่อไป
สำหรับกรณีของ CFO ที่ผมจ้างโค้ชมานั้น โค้ชมอบหมายให้ทำแบบทดสอบด้านจิตวิทยาบุคลิกภาพ (Psychometrics test) ที่ชื่อ StrengthsFinders ซึ่งเป็นของ Gallup Organization เป็นแบบทดสอบที่สามารถทำได้ด้วยตนเองทางอินเตอร์เน็ทเพื่อหาพรสวรรค์ห้าข้อของแต่ละคน คุณสามารถทำได้ด้วยตนเองหากว่าซื้อหนังสือที่ชื่อ เจาะจุดแข็งที่แปลมาจากต้นฉบับชื่อว่า Now; Discover Your Strengths เขียนโดย Marcus Buckingham and Donald O. Clifton ในหนังสือจะมีระหัสให้คุณเข้าไปทำแบบทดสอบทางอินเตอร์เน็ท เมื่อได้ผลการทดสอบแล้ว โค้ชเขาก็ใช้ข้อมูลนั้นเป็นแนวทางการให้คำปรึกษากับผู้ถูกโค้ช”
ชัยถามต่อด้วยความอยากรู้ว่า “โค้ชที่ดีควรมีคุณสมบัติอะไรบ้างครับ”
จอห์นตอบ “ต้องประสบความสำเร็จในเรื่องที่สอนก่อน เพื่อให้ผู้ถูกสอนมั่นใจ ต้องตั้งคำถามได้เก่ง เพื่อช่วยให้ผู้ถูกสอนค้านพบคำตอบด้วยตัวเองจากคำถามที่มีคุณภาพของโค้ช ฟังเก่ง ช่างสังเกต เข้าใจเรื่องจิตใจของคน ใจเย็น และชอบปิดทองหลังพระ เพื่อให้ผู้ถูกโค้ชได้รับคำชื่นชม”