Resilience ล้มแล้วลุกอย่างฮึกเหิม

“รุจ ผมท้อแท้จังเลย ผมคิดว่าเดือนนี้ยอดขายคงไม่เข้าเป้าอีกแล้ว” เปรมเปรยให้รุจฟัง ทั้งคู่เป็นพนักงานขายบริษัทเดียวกัน

เปรมตอบว่า “พอจะเข้าใจว่าคุณรู้สึกอย่างไร เพราะผมก็ไม่ถึงเป้ามาสองเดือนแล้วเหมือนกัน แต่ผมไม่ท้อนะ”

รุจถาม “คุณทำได้อย่างไรนะ”

เปรมตอบว่า “มันอยู่ที่วิธีการคิดให้เป็นบวกนะครับ”

รุจซักต่อ “จะคิดบวกตลอดเวลาได้อย่างไร ในขณะที่ทุกอย่างดูเป็นปัญหาไปหมด ผู้จัดการขายก็ไม่ช่วยอะไรพวกเราเลย เอาแต่กดดันเรื่องตัวเลขยอดขาย ลูกค้าก็ต่อรองสุดขีดจะเอาของดีราคาถูกส่งมอบไวอีกต่างหาก ยังไม่นับคู่แข่งอีกที่จ้องจะแย่งลูกค้าทุกราย ไม่เครียดบ้างหรือไง ทำอย่างไรถึงคิดบวกตลอดเวลาได้”

เปรมพูดต่อ “การคิดเชิงบวกเป็นเรื่องของทางเลือกนะ เราเลือกสถานการณ์ไม่ได้ แต่สามารถเลือกทัศนคติได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะคิดเชิงบวก เราต้องมีเป้าหมายก่อน อย่างกรณีของผม ผมมีเป้าหมายว่าจะเป็นผู้จัดการขายที่เก่งในอนาคต ผู้จัดการขายต้องได้รับการแต่งตั้งจากพนักงานขายที่มีความสามารถ ผมเรียนรู้มาว่า พนักงานขายที่มีความสามารถต้องมีทัศนคติเชิงบวกเป็นพื้นฐาน

ผมยังเรียนรู้อีกด้วยว่าทัศนคติเชิงบวกเป็นเรื่องของการตีความหรือการให้ความหมายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราสองคนที่คุณเพิ่งบอกมา

การที่ผู้จัดการขายบริหารงานไม่เก่ง ผมก็เลือกมองว่าสำหรับผมแล้ว มันเป็นการเรียนรู้แบบหนึ่งว่าผู้จัดการขายที่ไม่ดีเป็นอย่างไร วันหนึ่งผมได้เป็นผู้จัดการขายกับเขาบ้างผมจะได้ไม่ปฏิบัติแบบนั้น แทนที่จะเลือกมองว่ามันเป็นความเครียดผมกลับมองว่ามันเป็นความรู้

สำหรับลูกค้าที่ต่อรองแบบสุด ๆ ผมก็เลือกที่จะมองว่าเป็นโอกาสที่ผมจะได้ฝึกฝนทักษะการเจรจาต่อรอง ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะต่อรองอย่างไรให้เกิด win-win ได้ทั้งคู่สำหรับบริษัทและลูกค้า

สำหรับการแข่งขันที่รุนแรง ผมต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มากขึ้น ต้องคิดนอกกรอบ และมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของเรา ผมต้องใช้ความคิดทางการตลาดมากขึ้น

มันทำให้ผมต้องฝึกฝนทักษะต่าง ๆ มากมาย หลายคนต้องลงทุนไปเรียนปริญญาโทหลายแสนบาท แต่ผมกลับได้เรียนรู้ของจริง ในขณะที่บริษัทก็จ่ายเงินเดือนให้ผมด้วย ผมช่างโชคดีนี่กระไร”

รุจถอนหายใจ “ผมคิดว่าผมคงคิดไม่ได้แบบคุณนะ”

เปรมยิ้มพร้อมพูดให้กำลังใจ “คุณทำได้รุจ มนุษย์อย่างเรามีศักยภาพที่จะใช้สมองของเราเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เราสามารถเลือกที่จะคิดได้ ตามตัวอย่างที่ผมเพิ่งยกขึ้นมา เหตุการณ์เดียวกัน แต่เราสองคนเลือกมองไม่เหมือนกัน กลยุทธ์ง่าย ๆ ก็คือ เมื่อใดเราเผชิญอุปสรรค ขอให้เตือนสติตนเองเสมอว่า เรามีทางเลือกที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อตีความกับเหตุกาณ์ว่ามันจะเป็นบวกได้อย่างไรบ้าง”

รุจกล่าวทวน “มีเป้าหมาย และใช้ความคิดสร้างสรรค์”

เปรมยํ้าและพูดต่อ “ใช่แล้ว นอกจากนี้ ผมเรียนรู้ว่าเวลาเราเครียด มันเกิดผลเสียกับตัวเรา เพราะว่าเคมีในร่างกายเราจะเกิดความไม่สมดุลย์ขึ้น”

รุจทำหน้าฉงน “หมายความว่าอย่างไร”

เปรมอธิบาย “จากหนังสือชื่อ The Cortisol Connection – Why stress makes you fat and ruins your health and what you can do about it – Shawn Talbott, PH.D.; เขาระบุว่าเมื่อสมองเราเห็นว่าเกิดเหตุการณ์ที่มีความเครียดเกิดขึ้น สมองจะสั่งงานให้ร่างกายหลั่งสารฮอร์โมนสองตัวคือ อดรีนารีล (adrenaline) และคอร์ติโซน (cortisol) อดรีนารีล ทำให้เรามีพละกำลังเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความตื่นตัว
ในขณะที่คอร์ติโซนทำหน้าที่เร่งการเผาผลาญพลังงานต่าง ๆ ในร่างกายของเรา ทั้งสองอย่างทำให้เรามีความพร้อมที่จะต่อสู้หรือหลบหนี ซึ่งเป็นวิธีการที่ธรรมชาติสร้างให้เรามีกลไกดังกล่าว

ปัญหาคือ หากเราเกิดความเครียดบ่อย ๆ ก็เหมือนเรากระตุ้นฮอร์โมนทั้งสองชนิดออกมาบ่อย ๆ หรือมากเกินไปจนเกินระดับ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ เจ้าสองสารเคมีที่ว่ามันจะเริ่มทำร้ายร่างกายเรา ในทางการแพทย์แล้ว มันอาจจะเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ อาทิเช่น โรคกระเพาะ การกัดกร่อนเนื้อเยื่อ การเผาผลาญพลังงานที่ผิดปกติ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตที่ผิดปกติ ภูมิต้านทานร่างกายลดลง ความเหนื่อยล้า นํ้าหนักขึ้นผิดปกติ

และเพราะสมองของเรามันมีความซับซ้อน มันอาจจะตอบสนองโดยไม่รู้ตัวกับความเครียดที่เกิดมาจากการจินตนาการไปเองของเรา เช่นความรู้สึกที่คิดว่ามันเลวร้ายปางตาย หรือความทุกข์ยาก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์อาจจะไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดนั้น

ดังนั้น หากเรารู้และพยายามฝึกเลือกมองให้เป็นบวก หรือเลือกมองแบบเป็นกลางโดยไม่ตัดสิน เราก็มีโอกาสที่จะไม่เครียดจากเคมีในสมองของเราได้นะ ฝึกทำบ่อย ๆ เข้า เราก็จะอึดขึ้นนะ”