บทความ: โค้ชเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย
ภาพ: iStock
หากเรามีหัวหน้าที่ไม่เก่ง
เรามีอย่างน้อย สามทางเลือก คือ…
ก. ทำเหมือนเดิม คือไม่ต้องทำอะไร
ข. ทำให้เป็นโอกาส ขยันและพัฒนาตัวเอง
ค. ทำให้เป็นวิกฤติ ต่อต้าน/ดื้อเงียบ
หัวหน้าไม่เก่ง มีลักษณะอย่างไร
a. ไม่สอนงาน
b. ไม่กรุยทาง
c. ไม่ยุติธรรม
d. Micro-Manage
e. EQ ต่ำ ใจร้อน/กดดัน
หากเราเลือกวิธี ก. คือไม่ทำอะไรเลย
อนาคตเราก็น่าจะเหมือนเดิมหรือแย่ลง หากเลือกวิธี ค. ต่อต้าน/ดื้อเงียบ
อนาคตก็น่าจะแย่ลง เพราะ เราทำตัวแย่ + ทำงานกับคนแย่ = น่าจะยิ่งแย่
หากจะเลือกวิธี ข. ทำให้เป็นโอกาส ขยันและพัฒนาตัวเอง
น่าจะเหมาะกว่า
แต่ต้องเปลี่ยน “วิธีคิด”
แล้วเราจะต้องคิดอย่างไร
เราต้องเข้าใจว่า “เราเลือกสถานการณ์ไม่ได้ แต่เราเลือกทัศนคติได้” ดังนั้น “เราเลือกหัวหน้าไม่ได้ แต่เราเลือกทัศนคติให้เป็นบวกได้”
จะเลือกคิดอย่างไร เรามาดูทีละข้อกันครับ
a. ไม่สอนงาน ผลดีคือ ทำให้เราต้องขวนขวายมากขึ้น ได้พัฒนา Learning Agility เก่งขึ้น วันหลังทำงานกับ ใครก็ได้ และเมื่อโอกาสมาถึงเราได้ทำงานกับคนสอนงานเก่งก็จะยิ่งเก่งขึ้น
b. ไม่กรุยทาง ปล่อยให้เราไป Fight กับหัวหน้าหน่วยงานอื่น ทำให้เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ และพัฒนา ภาวะผู้นำในทักษะ Influencing Skills ได้เก่งขึ้น วันหลังเราจะเติบโตได้เร็วกว่าคนที่ Influencing Skills ไม่เก่ง เท่าเรา
c. ไม่ยุติธรรม ทำให้เราทำงานด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง เพราะเขาอาจจะไม่ยุติธรรม ไม่สมเหตุสมผล ทำให้เราทำงานเก่งขึ้นกว่าปกติ
d. Micro-Manage ทำให้เราลงรายละเอียดทุกงานมากขึ้น เพราะ Micro-Manager มักจะล้วงลูกทุกเรื่อง ไม่ว่า เล็กหรือใหญ่ แน่นอนว่าเราต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ตอบสนองเขาได้ทุกรูปแบบ ในที่สุดเราจะเก่ง และใน
อนาคต เมื่อเรามีโอกาสทำงานกับนายที่มีวิสัยทัศน์ดี ๆ ที่มองแต่ภาพใหญ่ ซึ่งเขาอาจจะไม่ละเอียดหรือไม่มี เวลามาสนใจรายละเอียดปลีกย่อย เขาจะสบายใจที่จะทำงานร่วมกับเราซึ่งเก่งในการทำงานแบบละเอียด รอบคอบจากการถูกฝึกโดย Micro-Manager มาก่อน
e. EQ ต่ำ ใจร้อน/กดดัน ถือเป็นการฝึกความอดทนที่ยอดเยี่ยมมาก เป็นการฝึกการพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ และเรียนรู้ว่า “สิ่งที่ไม่ควรทำ ในฐานะหัวหน้า” คืออะไรบ้าง หากเรารับมือหัวหน้าพวกนี้ได้ สิ่งที่จะเกิดตามมา คือ Resilience Skill หรือทักษะแห่งความยืดหยุ่นและอดทน จะมีสูงขึ้น ซึ่งจำเป็นสำหรับในยุคที่ความไม่ แน่นอนมีสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
ทั้งหมดนี้ หากจะเรียกแบบรวม ๆ ก็น่าจะเรียกได้ว่า
เรามี Growth Mindset ที่พร้อมจะเติบโตและก้าวหน้าในอนาคต ครับ