เป็นแบบอย่างที่ดีหรือเป็นอุทาหรณ์

เกษมถามวินัยในระหว่างทานข้าวกลางวันด้วยกัน  “ทำไมคุณเปลี่ยนไปมากในช่วงนี้  มาเช้ากลับค่ำ  เสนอแนะความเห็นมากมายในที่ประชุม  แถมกล้าถามคำถามโง่ ๆ ด้วย  แล้วยังช่วยงานฝ่ายอื่นโดยที่เขาไม่ได้ร้องขอสักหน่อย  ปีนี้เป็นปีสุดท้ายก่อนเกษียณของเราทั้งคู่  จะหักโหมไปทำไม”

“เกษม  เราเป็นผู้บริหารระดับสูงไม่เด่นไม่แย่กลาง ๆ แบบนี้  พอเราเกษียณปีหน้า   ไม่นานคนเขาก็ลืมเรา  ผมมาเกิดแรงบันดาลใจจากสองเหตุการณ์คือ  

หนึ่ง  เมื่อปลายปีที่แล้วผมไปงานเลี้ยงเกษียณของเพื่อนชื่อสุรางค์  เธอเป็นหัวหน้างานที่ธนาคารต่างชาติแห่งหนึ่ง  มีคนมาร่วมงานราวสามสิบคน  ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารในธนาคารหลายแห่ง  ทุกคนเคยมีประสบการณ์ที่ดีในฐานะเพื่อนร่วมงานกับเธอมาก่อน

ตอนจบนายเธอกล่าวคำสรรเสริญเธอว่า

คุณสุรางค์เป็นคนขยันมาก  ทำงานหนักเสมอต้นเสมอปลาย  ไม่เคยขาดลามาสายไม่ว่ากรณีใด ๆ  ซื่อสัตย์สุจริตมาก  แถมยังเป็นคนที่มีน้ำใจบริการทุก ๆ คน  ที่พิเศษคือสองเดือนสุดท้าย  เธอจัดทำคู่มือทำงานในตำแหน่งเธอ  เพื่อว่าคนที่มาแทนเธอนั้น  จะได้มีคู่มือการทำงานได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

คุณสุรางค์เป็นแบบอย่างที่พี่อยากให้เราทุกคนยึดเป็นแนวทาง  อย่าเผลอไปเลียนแบบบางคนที่ควรจะมองเป็นอุทาหรณ์

เกษมพึมพำ  “เป็นตัวอย่าง อย่าเป็นอุทาหรณ์”

วินัยต่อ  “เรื่องที่สองก็คือ  ผมทราบข่าวจากเพื่อนสองคนว่าถูกให้ออกจากงาน  และเพื่อนอีกสองคนถูกเสนอให้เข้าโครงการเกษียณอายุแบบไม่เต็มใจ

ผมลองเปรียบเทียบดูกับองค์กรเราซึ่งได้ทั้งโบนัสและเงินเดือนขึ้น  แม้จะไม่มาก  แต่ก็ดีกว่าคนอื่นเยอะ

ผมเลยเปลี่ยนมุมมองใหม่  ถ้าอยากจะเป็นเยี่ยงอย่างให้คนรุ่นหลัง  ผมต้องเลิกความเชื่อแบบเดิม ๆ หลายข้อ  เช่น

1. ต้องเลิกคิดทำงานแบบสบาย ๆ  เพราะว่าเพื่อน ๆ ผมสี่คนนั้นคิดแบบสบาย ๆในอดีต  ผมเองก็เคยเตือนพวกเขาเหมือนกัน  แต่เขาไม่เชื่อ  ในที่สุดก็ไม่สบาย ๆ อีกต่อไป  แถมยังช้ำใจเพราะโดนให้ออกจากงานด้วย

2. เลิกคิดว่า นี่ไม่ใช่งานฉัน  หากผมจะยึดถือตัวอักษรของคำบรรยายลักษณะงาน หรือ Job Description (JD)  แล้วละก็  ผมคงมีข้ออ้างมากมายที่จะปฏิเสธงานเพราะว่ามันไม่ได้อยู่ใน JD นั้น  แต่ผมคิดว่าผมต้องเปลี่ยนความเชื่อใหม่เป็นว่า  เมื่องานมาอยู่ตรงหน้าผมแล้วจะทำมันให้เสร็จอย่างไร  จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร  แล้วลงมือทำ  อย่าสนใจว่ามันเป็นงานของใคร

3. ทัศนคติแบบ 9-5  ไม่มีใครว่าเราหรอกหากเราเข้างานและออกงานตรงเวลา  เราสองคนเป็นผู้บริหาร  แถมอายุก็มากด้วย  เขาให้เกียรติในความอาวุโสของเรา  แต่ผมว่าเขาจะยิ่งให้เกียรติเรามากขึ้นไปอีกนะ  ถ้าเราทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีโดยมาทำงานเช้า  กลับค่ำ  ทำแบบเต็มที่ไปเลย

4. รักษาหน้า  ผมเคยกลัวเสียหน้ามาก่อนนะ  ในที่ประชุมทำตัวเงียบ ๆ  เรียบร้อย  ไม่อยากเสนอความคิดทั้ง ๆที่คิดได้เยอะแยะ  กลัวเสียหน้าหากคนอื่นว่าความคิดเราไม่ดี  นายเราเขาอ่อนกว่า  เขาก็ไม่อยากทำให้เราเสียหน้า  จึงไม่ซักไซร้ไล่เรียงกับเรา  ในกรณีที่เวลาไม่รู้หรือสงสัยก็ไม่กล้าถาม  กลัวคนอื่นว่าโง่  แต่ผมคิดว่าหากทำตัวแบบเดิม ๆ  เราก็อาจจะเป็นตัวอย่างที่ผิด ๆ ให้กับผู้บริหารหนุ่มสาวรุ่นหลังได้ว่านี่ควรเป็นบรรทัดฐานที่ควรปฏิบัติ  ดังนั้น  ผมจึงเปลี่ยนความเชื่อใหม่ว่า  เราต้องกล้าแสดงความเห็น  กล้าถาม  ก่อนเข้าประชุมก็เตรียมตัวศึกษาเรื่องราวก่อนมาก ๆ  จะได้มีข้อมูล  ตอนนี้ผมเลยทำงานด้วยความสนุกผิดกับมื่อก่อนเลย

5. เลิกขอไปที  ผมเคยทำงานแบบพอใช้ได้  แบบผ่าน ๆ หรือขอไปที  งานเราเมื่อทำแบบนั้น  โดยปกติ  นายมักจะต้องเสียเวลามาทำงานเสริมเพิ่มเติมเพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพออกไป  แต่ว่าภาวะอย่างนี้  ทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว  ผมต้องทำงานทุกอย่างด้วยความตั้งใจ  มันยากหน่อยตอนแรกนะ  เพราะต้องโฟกัสและใส่ใจในรายละเอียด  แต่ว่าพอทำไปแล้วก็ภาคภูมิใจ  และรู้สึกเคารพตัวเองมากขึ้น  ที่สำคัญคงจะกลับไปทำงานแบบขอไปทีไม่ได้แล้ว  มันเป็นการดูถูกตัวเองไปหน่อย”   

ที่มา: หนังสือ Coaching By Stories 2024 – เกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย